การหลอมรวมพลังของคนหนุ่มสาวที่กำลังศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบปลายภาคการเรียนที่ 1 ในช่วง ต้นเดือนตุลาคม 2516 ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองโดยการนำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งมี นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นเลขาธิการ เพื่อให้ผู้มีอำนาจรัฐปล่อยตัวนิสิต นักศึกษาที่ถูกจับกุมขณะที่รณรงค์แจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญกลางใจเมืองหลวง ประการสำคัญมีจุดมุ่งหมายให้ รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีการบริหารประเทศมาตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2515 ให้ยกเลิกธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2515 และ ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาเพื่อนำประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

กาลเวลาได้ล่วงผ่านมาแล้วครบ 4 รอบหรือ 48 ปี ในวันนี้ในเหตุการณ์ วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งแรกเริ่มเป็นการชุมนุมทางการเมืองของนิสิต นักศึกษา ต่อมามีนักเรียนเข้าร่วมการชุมนุมด้วย และมีประชาชนให้การสนับสนุน นับเป็นพลวัตทางสังคมครั้งใหญ่ในประเทศไทยที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเรือนล้าน เหตุการณ์ 14 ตุลา นำมาซึ่งความเศร้าสลดใจแก่คนไทยทั้งประเทศ เนื่องจาก มีผู้เข้าร่วมชุมนุมต้องเสียเลือดเนื้อทั้งบาดเจ็บและล้มตายลงไปจำนวนมาก นับเป็นต้นทุนทางสังคมที่คนไทยต้องมาสังเวยชีวิตจาการเผชิญหน้าระหว่างผู้เข้าร่วมชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่อาจประเมินค่าได้ กับการได้มาซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไปเป็นรัฐบาลที่ประชาชนให้การยอมรับ เป็นรัฐบาลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพันธกิจและภารกิจในการบริหารประเทศชั่วคราว และดำเนินการให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติร่างขึ้นมานั้น กล่าวได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดนับตั้งแต่หลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบซึ่งเป็นฉบับแรกของประเทศไทย ส่งผลให้สังคมไทยในขณะนั้นเกิดอาการสำลักประชาธิปไตยกันใหญ่ จะเห็นได้จากมีการเดินขบวน ชุมนุมประท้วงกันเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพต่างๆ ไม่เว้นแต่ละวัน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะสังคมไทยถูกกดทับมานาน ไม่ว่าจะเป็นการขาดโอกาสจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม การถูกเอารัดเอาเปรียบ การถูกกดขี่ข่มเหง ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ไม่รู้ว่าทุกภาคส่วนของสังคมได้เรียนรู้อะไรกับประชาธิปไตยกันบ้าง มีการถอดบทเรียนที่ตรงตามความเป็นจริงโดยมีการพิจารณาไตร่ตรองอย่างไม่มีอคติหรือไม่ หากมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีหลักคิดที่ถูกต้องและไม่บกพร่องในจิตสำนึก ก็จะพอมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์กันบ้าง

เมื่อพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยกันแล้ว มักมีการอ้างถึงสุนทรพจน์ของอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 16 มีใจความตอนหนึ่งว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยมาจากรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน (democracy is a government of the people, by the people, and for the people)”

ถ้าจะทำความเข้าใจกับคำว่า “ประชาชน” ในที่นี้ “ประชาชน” หมายถึง ผู้ที่มีการศึกษา (Well-educated person) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูง หากแต่เป็นผู้ที่มีหลักคิดที่ถูกต้องและไม่บกพร่องในจิตสำนึก ประชาธิปไตยจึงจะดำเนินไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน

อีกกรณีหนึ่งที่น่าจะหยิบยกมากล่าวถึง ซึ่งไม่ค่อยได้กล่าวถึงกันเลย คือ สุนทรพจน์ของจอห์น เอฟ.เคนเนดี ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 35 มีใจความตอนหนึ่งว่า “อย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรแก่ท่าน จงถามว่าท่านจะกระทำอะไรให้กับประเทศชาติของท่าน (Ask not what your country can do for you, ask what you can do for your country)”

หากพลเมืองของประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบอื่นใดก็แล้วแต่ มีทัศนคติในการเป็นพลเมืองที่ถูกต้องในการทำหน้าที่ด้วยความความรับผิดชอบ มองเห็นประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ย่อมจะนำพาประเทศไปสู่ความสันติสุข

ที่จริงแล้วคนในชาติส่วนใหญ่มีการนับถือพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องจากไม่เห็นคุณค่าและคุณประโยชน์ของการฟังธรรมตามกาลที่ตรงตามพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก จึงมีแต่ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เป็นคนงมงาย เชื่อง่าย ไม่มีเหตุผล เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่ละอายชั่ว ไม่กลัวบาป ประพฤติปฏิบัติทุจริตทั้งทางกายและวาจาโดยไม่เชื่อกฎแห่งกรรม สิ่งที่กล่าวถึงนี้ล้วนเป็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนากระบวนการทางประชาธิปไตยทั้งสิ้น ตราบใดที่ชาวพุทธไม่มีการศึกษาพระธรรมโดยการฟังธรรมตามกาล การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะยังคงติดกับดักและตกอยู่ในหลุมดำเช่นนี้ตลอดไป

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
ภาพจาก : วิกิพีเดีย