ทรัมป์เคยกล่าวว่า “อัตราภาษี” คือ “คำศัพท์ซึ่งดงามที่สุดในพจนานุกรม” และเจ้าตัวกล่าวตั้งแต่ช่วงหาเสียง ว่าสินค้านำเข้าทั้งหมดที่อเมริกาต้อใช้เงินทุนในการนำเข้ามากกว่าปีละ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 103 ล้านล้านบาท ) “ต้องเผชิญกับอัตราภาษีอย่างไม่มีเงื่อนไข”

ทั้งนี้ ทรัมป์เคยใช้มาตรการกำแพงภาษีมาแล้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยแรก ระหว่างปี 2560-2564 อย่างไรก็ดี ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบนโลก ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการกลับมาของทรัมป์ในครั้งนี้อย่างไรบ้าง

ทรัมป์ให้คำมั่นขึ้นภาษีในอัตราอย่างน้อย 10% กับสินค้าทุกประเภทที่จะมีการส่งออกมายังสหรัฐ ยกเว้นสินค้าของจีนซึ่งจะเผชิญกับอัตราภาษีในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 60% โดยทรัมป์ให้เหตุผลว่า เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ

ขณะเดียวกัน ทรัมป์กล่าวว่า จะขึ้นภาษียานยนต์ที่ส่งออกจากเม็กซิโก ในอัตราที่สูงถึง 200% หรือมากกว่านั้น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐ นอกจากนี้ ทรัมป์ประกาศว่า จีนและเม็กซิโกจะเผชิญกับอัตราภาษีเพิ่มเติมอีก หากไม่ช่วยเหลือสหรัฐ ในการยับยั้งเฟนทานิลไม่ให้หลั่งไหลเข้าสู่สหรัฐด้วย

อนึ่ง เมื่อรัฐบาลวอชิงตันกำหนดหรือเพิ่มกำแพงภาษี ผู้ประกอบการของสหรัฐคือผู้ที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเหล่านั้นให้กับรัฐบาลกลาง เนื่องจากเป็นผู้นำเข้าสินค้า และการที่ระบบตุลาการ “ลังเล” ที่จะตรวจสอบอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐในเรื่องนี้ ซึ่งสามารถประกาศได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรอสภาคองเกรส ทำให้หลายฝ่ายกังวลและตั้งคำถาม ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งในทางเศรษฐกิจและความมั่นคง

มีการวิเคราะห์ในเบื้องต้นโดยสมาคมการค้าปลีกแห่งชาติของสหรัฐ ว่าหากรัฐบาลทรัมป์สมัยที่สองใช้มาตรการขึ้นภาษี ในอัตราตามที่หาเสียงไว้จริง ผู้บริโภคในอเมริกาเสี่ยงที่จะสูญเสียอำนาจในการใช้จ่าย ปีละระหว่าง 46,000-78,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1.57-2.67 ล้านล้านบาท ) เนื่องจากต้องซื้อของในราคาแพงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งจะตัดสินใจลดการใช้จ่าย เพื่อออมเงิน

ขณะเดียวกัน การตั้งกำแพงภาษีหรือขึ้นอัตราภาษีให้สูงกว่าเดิมอีก เสี่ยงที่จะทำให้ผู้ประกอบการของสหรัฐเผชิญกับมาตรการตอบโต้ ซึ่งก็จะเป็นการเกิดสงครามการค้ารอบใหม่ ดังเช่นที่สหภาพยุโรป ( อียู ) เคยตั้งกำแพงภาษีตอบโต้การที่รัฐบาลทรัมป์ในเวลานั้น ขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมของยุโรป

แม้หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายเจรจาประนีประนอมร่วมกันได้ แต่หากเป็นกรณีของสหรัฐกับจีน จนถึงตอนนี้ต่างฝ่ายต่างยังคงใช้กำแพงภาษีตอบโต้กันอยู่ ซึ่งภาคเกษตรกรรมของสหรัฐได้รับผลกระทบอย่างหนัก และท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลทรัมป์สมัยแรก ต้องอัดฉีดงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศสูงถึง 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 960,400 ล้านบาท )

ทั้งนี้ องค์การการค้าโลก ( ดับเบิลยูทีโอ ) คือหน่วยงานกลางระหว่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่คลี่คลายและแก้ไขข้อพิพาททางการค้า อย่างไรก็ตาม ด้วยอิทธิพลของสหรัฐ นานาประเทศย่อมเลือกที่จะเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลวอชิงตันมากกว่า

อนึ่ง นโยบายต่างประเทศภายใต้การบริหารของรัฐบาลสหรัฐ ที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก 4 ปี ระหว่างปี 2560-2564 มีความชัดเจนในตัวเองว่า ให้ความสำคัญกับภูมิภาคตะวันออกกลาง ดังนั้น อีก 4 ปีที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งทรัมป์จะกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง ตั้งแต่ปลายเดือนม.ค. 2568 สถานการณ์ในตะวันออกกลางจะยังคงเป็น “จุดร้อนด้านภูมิรัฐศาสตร์” ที่ทรัมป์ให้ความสนใจในระดับสูง

ในช่วง 4 ปีนั้น ทรัมป์สร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการเลือกซาอุดีอาระเบียเป็นจุดหมายแห่งแรก ของภารกิจเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้นำสหรัฐ ทรัมป์พยายามผลักดัน “ข้อตกลงแห่งศตวรรษ” ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ยกระดับความสนับสนุนอิสราเอล ด้วยการรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวง ซึ่งจุดชนวนการประท้วงครั้งใหญ่ในตะวันออกกลาง และเดินหน้ามาตรการกดดันอิหร่านในแทบทุกมิติ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในตะวันออกกลางเปลี่ยนแปลงไปมาก หลังทรัมป์หมดวาระการดำรงตำแหน่งสมัยแรก การกลับมาของทรัมป์จึงเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิด จากทุกประเทศ และทุกกลุ่มการเมืองในภูมิภาคแห่งนี้

นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล ยกย่องชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “คือการคัมแบ็กครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” ซึ่งนอกจากจะเป็น “การเริ่มต้นใหม่” สำหรับอเมริกา และเป็นการฟื้นคืนความมุ่งมั่น ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิสราเอล การเป็นพันธมิตรที่เยี่ยมยอดระหว่างสหรัฐกับอิสราเอล “คือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่!”

นอกจากรัฐบาลวอชิงตันในยุคทรัมป์ประกาศรับรองนครเยรูซาเลม “คือเมืองหลวง” ของอิสราเอลแล้ว ยังเป็นประเทศแรก ที่ย้ายสถานเอกอัครราชทูตออกจากกรุงเทลอาวีฟ ให้ไปประจำที่นครเยรูซาเลม จนถึงปัจจุบัน และยอมรับอธิปไตยของอิสราเอลบนที่ราบสูงโกลัน ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทกับซีเรีย

ทั้งนี้ ทรัมป์ไม่น่าต้องการให้สงครามในฉนวนกาซา ซึ่งตอนนี้ขยายวงกว้างลุกลามไปเป็นปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล ทั้งในเลบานอนและซีเรีย “ยังคงลุกเป็นไฟ” เมื่อเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 20 ม.ค. 2568 ทรัมป์น่าจะพยายามโน้มน้าว หรืออาจถึงขั้นกดดดัน ให้เนทันยาฮูเร่งบรรลุข้อตกลงกับคู่กรณีทุกฝ่าย และให้อิสราเอล “เป็นฝ่ายประกาศชัยชนะ”

แม้ทรัมป์ยังไม่เคยพูดอย่างชัดเจน ว่ารัฐบาลสหรัฐในอนาคตจะทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางยุติอย่างไรและเมื่อใด หรือมีแนวคิดที่แตกต่างจากรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบันอย่างไร แต่ทรัมป์กล่าวเป็นนัยมาตลอดว่า “อิสราเอลต้องยุติสิ่งที่ตัวเองเป็นฝ่ายเริ่ม” และต้องดำเนินการ “ให้เร็วที่สุด”

ประชาชนสัญจรบนถนนสายหนึ่งในกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ซึ่งมีแผ่นป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ เป็นข้อความสนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม มีความวิตกกังวลเช่นกัน ว่าทรัมป์อาจเอาใจหรือประนีประนอมกับอิสราเอล ด้วยการปล่อยให้อีกฝ่ายอนุมัติแผนการขยายอาณาเขตนิคมที่อยู่อาศัยในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งจะยิ่งเป็นการ “คุกคามและสั่นคลอน” แนวทางสองรัฐ ที่ทุกฝ่ายยังคงยืนกราน ว่าเป็นหนทางสำคัญและเหมาะสมที่สุดในเวลานี้ เพื่อให้อิสราเอลและปาเลสไตน์บรรลุสันติภาพร่วมกันได้

ขณะเดียวกัน การกลับคืนสู่ทำเนียบขาวของทรัมป์ ยังจะเป็นบททดสอบสำคัญอีกครั้งของอิหร่าน ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องเผชิญกับ “มาตรการกดดันขั้นสูงสุด” จากรัฐบาลวอชิงตัน ซึ่งโดดเดี่ยวอิหร่านในทางเศรษฐกิจอย่างมาก นับตั้งแต่ทรัมป์นำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ เมื่อปี 2561 แล้วกลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวต่ออิหร่าน ที่รัฐบาลไบเดนยังคงสานต่อจนถึงปัจจุบัน

แม้นางฟาเตเมห์ โมฮาเจรานี โฆษกรัฐบาลอิหร่าน กล่าวถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐว่า “ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอิหร่านเป็นพิเศษ” และเน้นว่า นโยบายหลักของทั้งสองประเทศ “เป็นสิ่งตายตัว” จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างง่ายดาย จากการเปลี่ยนแปลงผู้นำเพียงคนเดียว

อย่างไรก็ตาม โมฮาเจรานีกล่าวว่า รัฐบาลเตหะราน “เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว” สำหรับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในสหรัฐ แต่ยังไม่มีการขยายความ ซึ่งมีการวิเคราะห์อีกว่า การกลับมาของทรัมป์ ในช่วงที่ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี เป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ที่คอยบัญชาการ ท่ามกลางทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

ส่วนสงครามยูเครนแม้ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก แต่ทรัมป์กล่าวอย่างหนักแน่นตั้งแต่ช่วงของการหาเสียง ว่าสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน “ซึ่งเซเลนสกี” หมายถึงประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน “ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นแต่แรก” ดังนั้น “จะต้องยุติอย่างรวดเร็ว” แต่ยังไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจน ว่าจะจัดการอย่างไร

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน พบกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่นครนิวยอร์กของสหรัฐ 27 ก.ย. 2567

ขณะที่นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่าในสายตาของรัฐบาลมอสโก สหรัฐ “คือประเทศไม่เป็นมิตร ที่มีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการทำสงครามกับรัสเซีย” ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลมอสโกจะพิจารณาอย่างจริงจัง ทั้งจากคำพูดและการกระทำของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ในอนาคต และกล่าวด้วยว่า รัฐบาลวอชิงตันชุดใหม่ไม่น่าทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย “เลวร้ายไปมากกว่าที่เป็นอยู่” เนื่องจากสถานการณ์ในเวลานี้ “ตกต่ำที่สุดอยู่แล้ว”

อเมริกาต้องมาก่อน เป็นการสื่อสารที่ครอบคลุมแนวคิดและนโยบายทั้งหมดของทรัมป์แล้ว ว่าไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะการรักษาความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วน ในระดับเดียวกับการรักษาผลประโยชน์และอิทธิพลของสหรัฐ ตราบใดที่ประเทศแห่งนี้ยังคงเป็นอภิมหาอำนาจของโลก หากไม่อยู่ในสถานะที่จะต่อกรได้ไหว การหาทางประนีประนอมและรับมืออย่างมีชั้นเชิง จะสามารถช่วยให้ยืนหยัดและฝ่าฟันภาวะการณ์นี้ได้.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES