สวัสดีจ้า “Campus Life” สัปดาห์นี้ มีบรรยากาศกิจกรรมปลุกพลัง Gen Z โครงการ “มิตรสู้มิจ – ภาคีมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนสังคม เสริมภูมิคุ้มกันภัยมิจฉาชีพออนไลน์” มาฝากกันจ้า
โดยโครงการดังกล่าว สภาผู้บริโภคได้ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย 10 สถาบันการศึกษา จัดขึ้น เพื่อส่งเสริมเยาวชนให้ร่วมผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่สะท้อนปัญหาภัยกลโกงออนไลน์ สร้างความรู้และภูมิคุ้มกันให้แก่เยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเรียนรู้เทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว และยังสามารถถ่ายทอดความต่อไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่อาจตกเป็นเหยื่อของกลโกงออนไลน์ได้อีกด้วย
สำหรับเครือข่ายสถาบันการศึกษา10 สถาบัน ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 2.มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก 3.มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น 4.มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา 5.มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพมหานคร 6.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร 7.มหาวิทยาลัยรังสิต จ.ปทุมธานี 8.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี 9.มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จ.นครปฐม และ 10.มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา
“พรทิพย์ รอดอินทร์” ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร บอกว่า ปัจจุบันภัยออนไลน์มีเยอะมาก และมิจฉาชีพก็มีกลยุทธ์การหลอกลวงที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคถูกหลอก โดนโกงจำนวนมาก การที่มีโอกาสได้เป็นตัวแทนของนักศึกษามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้ได้รู้จักสภาผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้แทนผู้บริโภคที่จะคอยช่วยเหลือผู้บริโภคตั้งแต่รับเรื่องร้องเรียน เจรจาไกล่เกลี่ย ไปจนถึงเป็นตัวแทนฟ้องร้องคดี จะนำข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมไปสร้างสรรค์สื่อเพื่อเป็นประโยชน์ และเป็นการเตือนภัยให้แก่ผู้บริโภครู้เท่าทันภัยออนไลน์ต่อไป
ด้าน “ภานุวัฒน์ ยอดหล้า” ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ บอกว่า การร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้รู้ว่าประเด็นปัญหาภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสร้างความเสียหายมาก แต่ยังมีสภาผู้บริโภคที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้บริโภค ขอเพียงแค่อย่าปล่อยปละละเลย หากเราตกเป็นผู้เสียหาย ให้ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง ซึ่งสภาผู้บริโภคพร้อมจะช่วยในทุกด้าน ทั้งนี้ จะนำความรู้ที่ได้รับจากกิจกรรมนี้ไปต่อยอดเป็นโครงการรู้เท่าทันภัยมิจฉาชีพออนไลน์ที่มหาวิทยาลัยเพื่อให้กลุ่มเพื่อนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้รู้จักสภาผู้บริโภคและรู้เท่าทันภัยออนไลน์
ปิดท้ายที่ “กัญญาณัฐ ศรีคำ” ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า การถูกหลอก โดนโกงจากมิจฉาชีพบางครั้งก็มาจากความเชื่อใจ ใช้ความกลัวของเรามาหลอกเรา และมีรูปแบบในการหลอกลวงที่หลากหลาย จนบางครั้งเราตามกลโกงนั้นไม่ทัน ทำให้ตกเป็นผู้เสียหายได้ง่าย ซึ่งการมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับการทำสื่อ เทคนิคการเล่าเรื่อง การทำคอนเทนต์เกี่ยวกับภัยออนไลน์ต่างๆ เพื่อนำไปต่อยอดในการทำสื่อเตือนภัยผู้บริโภค และแนะนำช่องทางการติดต่อของสภาผู้บริโภคในการช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป
ทีมงาน “Campus Life” ขอบอกเลยว่า ในปัจจุบันคงยากที่จะปฏิเสธแล้วว่า กลโกงออนไลน์มาในหลากหลายรูปแบบจริงๆ การจัดกิจกรรมนี้ของสภาผู้บริโภค นอกจากจะช่วยชี้แนะช่องทางให้ผู้ที่ประสบภัยออนไลน์รู้ว่าจะต้องแจ้งขอความช่วยเหลือไปที่ใดแล้ว ยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชน เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อยังบุคคลในครอบครัวเพื่อป้องกัน “มิจฯ” ที่ไม่เป็น “มิตร” ได้อีกด้วย