ล่าสุดประเด็นดังกล่าวกลับมาอยู่ในจุดสนใจอีกครั้ง เมื่อการดำเนินคดีคืบหน้าหลายส่วน

เริ่มจาก วันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนครสวรรค์อ่านผลชันสูตรคำร้องขอไต่สวนการตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150  ของ นายจิระพงศ์ หรือ มาวิน ธนะพัฒน์ อายุ 24 ปี ผู้ต้องหาที่เสียชีวิต ได้ข้อสรุปว่า 

ผู้ต้องหาเสียชีวิตในวันที่ 6 ส.ค.64  เวลา 13.20 น. ที่ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ เหตุและพฤติการณ์ที่เสียชีวิตคือ “ขาดอากาศหายใจ” เนื่องจากถูก พ.ต.อ.ธิติสรรค์ กับพวก ร่วมกันใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะเป็นเวลานานมากกว่า “6 นาที” ในขณะที่ทำการสืบสวนขยายผลความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ อันเป็นการเสียชีวิตในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่

สำหรับคดีดังกล่าวมีผู้ต้องหารวม 7 คน ประกอบด้วย 1.พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล 2.พ.ต.ต.รวีโรจน์ ดิษทอง 3.ร.ต.อ.ทรงยศ คล้ายนาค 4.ร.ต.ท.ธรณินทร์ มาศวรรณา 5.ด.ต.วิสุทธิ์ บุญเขียว 6.ด.ต.ศุภากร นิ่มชื่น และ 7.ส.ต.ต.ปวีณ์กร  คำมาเร็ว

28 ต.ค. คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง มีมติชี้มูลความผิด “วินัยร้ายแรง” ก่อนเสนอ ผบ.ตร.สั่งการ โดยโทษวินัยร้ายแรงถึงขั้น ปลดออก หรือ ไล่ออก จากราชการ  

2 พ.ย. ตำรวจส่งมอบสำนวนเห็นควรสั่งฟ้อง พ.ต.อ.ธิติสรรค์ กับพวก รวม 7 คน ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ต่ออัยการ สำนวนคดีประกอบด้วย การสอบพยานบุคคล 35 ปาก พยานเอกสาร 14 รายการ วัตถุพยาน 7 รายการ มีรายละเอียด 7 แฟ้ม รวม 2,540  แผ่น ข้อหาที่สั่งฟ้อง ได้แก่  

-เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่ง หรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่ง หรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

-เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

ร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย

-ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้น หรือผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้นไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมสิ่งนั้น

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 157, 309 วรรคสอง, 289 (5) พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 เหตุเกิดระหว่างวันที่ 5-6 ส.ค. 64 ที่ห้องทำงานชุดปราบปรามยาเสพติด สภ.เมืองนครสวรรค์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์

ทางวินัยถูกชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ทางอาญาในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทารุณกรรมมีโทษหนักถึงขั้น “ประหารชีวิต”  ยังไม่รวมขยายผลพฤติกรรมกระทำผิดอื่นที่ทยอยสอบสวนอยู่ โดยเฉพาะเส้นทางนำเข้ารถหรูผิดปกติจำนวนมากของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์

เป็นตัวอย่างคดีที่อาจเรียกได้ว่าชัดเจน ไร้ข้อสงสัย จากหลักฐานวินาทีทารุณด้วยถุงดำหลายชั้นนานกว่า 6 นาที ทำให้เหตุการณ์ซ้อม ทรมาน บังคับสูญหาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐยิ่งถูก “จับตา” โดยเฉพาะอีกด้านที่กำลังผลักดันกันอย่างหนักกับ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ซึ่งถูกคาดหวังให้ผ่านขั้นตอนประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยนี้

เมื่อความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม…

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ขณะนี้การมีกฎหมายเฉพาะ “จำเป็น” ไม่เพียงปรามพฤติกรรมนอกรีต แต่หัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือเปิดโอกาสให้ญาติได้มีช่องทางเข้าถึงสิทธิเรียกร้องขอความเป็นธรรมเพื่อคนที่รักได้มากขึ้น.

ทีมข่าวอาชญากรรมรายงาน

[email protected]