“ข้าวราคาถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป” กลายเป็น “วาทกรรม” ที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะไม่โด่งดังเท่ากับ…ปลูกผักชีในพื้นที่ทหาร ก็ตาม

แต่!! วาทกรรมนี้ ก็ทำให้บรรดาชาวนา กระดูกสันหลังของชาติ ต้อง “น้ำตาตกใน” เพราะเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ให้ชีวิตความเป็นอยู่ต้องแย่ลง ากราคาข้าวตกต่ำอย่างหนัก

สาเหตุ…ก็เป็นที่รู้ดีกันอยู่แล้วว่ามาจากสารพัดปัจจัย แต่ที่หนักหน่วงที่สุด คงเป็นเหตุจากภัยน้ำท่วม ที่ทำให้ชาวนาต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าว ท่ามกลางสถานที่ตากเพื่อไล่ความชื้นให้ไม่เกิน 15% ก็ไม่มี

ด้วยเหตุนี้ชาวนาต้องกล้ำกลืนขาย “ข้าวสด” ที่มีความชื้นมาก ให้กับบรรดาโรงสี ในราคาต่ำ กก.ละไม่ถึง 5 บาท จึงกลายเป็นที่มาของ “วาทกรรม” อันโด่งดัง

ต่อให้…รัฐบาลประกาศนโยบายประกันรายได้ให้ชาวนาก็ตาม แต่!! ในเมื่อความชื้นไม่ได้ตามที่กำหนด ราคาส่วนต่างที่จะได้รับตันละ 1,934.62 บาท สำหรับข้าวเปลือกเจ้า ก็เป็นไปไม่ได้

จึงทำให้ชาวนาต้องน้ำตาตก เพราะไหนจะโดนพิษภัยของน้ำท่วมแล้ว “รายได้” จากการปลูกข้าวก็ต้องลดน้อยถอยลงไป เผลอ ๆ บางครอบครัวต้องประสบภาวะ “ขาดทุน” เข้าไปอีก

ไม่ใช่แค่ชาวนาเท่านั้น!! ที่ต้องน้ำตาตกใน “รัฐบาล” ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง ก็น้ำตาตกในไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะกว่าจะเคลียร์ขั้นตอน กว่าจะประกาศวันจ่ายเงินค่าประกันข้าวให้ชาวนาได้ ก็ต้องปรับแผนแล้วปรับแผนอีก

ด้วย “เงิน” ที่ต้องนำมาจ่ายให้ชาวนานั้น ต้องให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. แอดวานซ์จ่ายให้ไปก่อน แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็ทำเช่นนี้มาโดยตลอดนั่นแหล่ะ

ปัญหาใหญ่!! อยู่ตรงที่ว่า “แขนขา” ของรัฐบาลที่ต้องรับหน้าเสื่อ “แจกเงิน ให้ทั้งชาวนา ชาวบ้านน่ะ มันใกล้ เต็มเพดานวินัยการเงินการคลัง ตามมาตรา 28 จนทำให้ ครม.ต้องตัดสินใจแบ่งจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในปีนี้เป็นงวด ๆ ไปก่อน โดยงวดแรกให้จ่ายไปก่อน 13,604 ล้านบาท สำหรับข้าวที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ต.ค.64

ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 ได้กำหนดให้รัฐบาลต้องมียอดหนี้คงค้างรวมกันไม่เกิน 30% ชองงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือไม่เกิน 9.3 แสนล้านบาทสำหรับปีงบประมาณ 65

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกนโยบายต่าง ๆ มากมายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ แม้ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มาจากงบประมาณ โดยหนี้ส่วนใหญ่จะสะสมผูกอยู่กับการให้ “แขนขา” หรือบรรดาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ออกหน้าไปก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้สะสมจากโครงการอุดหนุนสินค้าเกษตรกว่า 6-7 แสนล้านบาท หรือหนี้ที่ดูแลประชาชน ดูแลชาวบ้านอีกกว่า 30,000 ล้านบาท รวมทั้งยังมีภาระที่ต้องดูแลเอสเอ็มอี เข้าให้อีก แถมหนี้สะสมเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมารวมเป็นหนี้สาธารณะ อีกต่างหาก

อย่าลืมว่า!! เงินในงวดแรกที่จ่ายให้ชาวนาในโครงการประกันรายได้ จะใช้ได้จนถึงเดือน พ.ย.นี้เท่านั้น เพราะมีชาวนาเข้าร่วมโครงการมาก ขณะที่ราคาข้าวก็ตกต่ำมาก ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินเพื่อชดเชยส่วนต่างจำนวนมาก อย่างข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ที่มีส่วนต่างกว่าตันละ 4,000 บาททีเดียว

ทั้งนี้ในโครงการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในปีการผลิต 64/65 ครั้งนี้ มีการเสนอขอวงเงินงบประมาณจากรัฐบาล รวมแล้ว 89,306 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในโครงการคู่ขนาน ทั้งการจ้างโรงสีเก็บข้าว การชดเชยดอกเบี้ยให้ทั้งโรงสี สหกรณ์ ผู้ค้าข้าว

ขณะที่เศรษฐกิจก็ยังโงหัวไม่ขึ้น รัฐบาลต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลมานานนับ 10 ปี การหาเงินหาทอง หารายได้เข้าประเทศก็ต้องจำกัดจำเขี่ย

ปัญหาใหญ่ไม่ใช่ว่า “แขนขา” ของรัฐ จะไม่มีเงินจ่ายให้กับชาวนา เพราะมีสภาพคล่องเพียงพออยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่…เงื่อนไขตามมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดสัดส่วนหนี้คงค้างไม่เกิน 30% นั่นแหละ

จึงต้องจับตาดูว่า จากนี้ไปรัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร จะขยายสัดส่วน เหมือนหนี้สาธารณะที่ได้ขยายเพิ่มเป็นไม่เกิน 70% ไปแล้ว เพื่อให้ “แขนขา” ทำงานได้ แต่ก็ต้องแลกกับความน่าเชื่อถือ

หรือ!! รัฐบาลอาจต้องหาแหล่งงบประมาณจากส่วนอื่นมาดำเนินการแทน จะเป็นงบกลางเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็น หรือจะเป็นเกลี่ยงบจากส่วนอื่นมาแทน อันนี้ต้องรอดูกันชัด ๆ

ไม่เพียงเท่านี้… ต้องรอดูจำนวนชาวนาที่จะเข้าร่วมโครงการด้วยว่าจะมีจำนวนมากน้อยอย่างไร เพราะปัญหาเรื่องของน้ำท่วมก็ทำนาข้าวเสียหายไปแล้ว 2.44 ล้านไร่

ที่สำคัญ!! เวลานี้เป็นช่วงเวลาของการ “ทำคะแนน” การรักษาฐานเสียง จึงเป็นเรื่องใหญ่ จนทำให้ฝ่ายที่ “ใช้เงิน” ไม่ได้ใส่ใจกับปัญาที่เกิดขึ้นสักเท่าไหร่ ฝ่ายหาเงินก็ตั้งหน้าตั้งตาหาเงินกันไป ฝ่ายใช้เงินก็ได้แต่ “ไล่บี้” เพื่อเรียกคะแนนเสียง!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”