สังคมในยุค 5 จี การสื่อสารที่ไร้พรมแดน ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมเมืองหรือชนบท อินเทอร์เน็ตเข้ามามีอิทธิพลต่อการสื่อสารมากขึ้นด้วยปัจจัยสำคัญคือความเร็ว สามารถโต้ตอบ และสามารถแชร์เนื้อหาข้อมูลข่าวสารได้ง่าย ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ที่สามารถดูได้จากโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็น ไลน์, เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, ยูทูบ ฯลฯ ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก มีการสร้าง ข่าวปลอมหรือข่าวลวงที่เริ่มติดปากด้วยคำว่า เฟคนิวส์ขึ้นมาเพื่อหวังผลประโยชน์ได้สารพัดรูปแบบ ทั้งหวังผลโจมตีขั้วตรงข้ามทางการเมือง หรือในแง่ของสุขภาพ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง มากระตุ้นในโลกโซเชียลสารพัดรูปแบบ หลอกขายสินค้านานาชนิด ทั้งของอุปโภคบริโภค ฯลฯ

ยิ่งสถานการณ์ล่าสุด ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. เป็นต้นมา ยอดติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพุ่งสูงแบบน่าใจหาย เสาร์ 10 ก.ค. ผู้ติดเชื้อรายใหม่  9,326 ราย เสียชีวิต 91 ราย (ยอดติดเชื้อสะสม 326,832 ราย ยอดผู้เสียชีวิต 2,625 ราย) ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ตัดสินใจ ยกระดับมาตรการคุมเข้มพื้นที่สถานการณ์ในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร เริ่มใช้ 12 ก.ค. 64 เพื่อจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด 14 วัน โดยมีทั้ง มาตรการล็อกดาวน์ 6 จังหวัด กรุงเทพมหานคร, สมุทรสาคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และนครปฐม ถ้าไม่จำเป็นห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 21.00-04.00 น. สำหรับ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ยังคงเป็นกรุงเทพฯ-ปริมณฑล (สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม) และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)

รับมือเฟคนิวส์ข่าวลวงช่วงโควิดฯ

ช่วงนี้ทำให้ประชาชนต่างเกาะติดตามข้อมูลข่าวสารกันอย่างใกล้ชิด ปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โคแฟค (Collaborative Fact Checking : Cofact) แพลตฟอร์มออนไลน์ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  และภาคีเครือข่าย ร่วมมือกันจัดทำเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในกลไกช่วย ตรวจสอบข่าวปลอม(เฟคนิวส์) ได้สำรวจเรื่อง ทำไมต้องค้นหาความจริงร่วม  ในกลุ่มนิสิตนักศึกษา ภาคีเครือข่าย และประชาชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทุกภูมิภาค ช่วงเดือน มิ.ย. 2564 พบว่า แพลตฟอร์มที่ได้รับข่าวที่น่าสงสัยว่าเป็นข่าวลวงและเฟคนิวส์มากที่สุดคือ 1.เฟซบุ๊ก 2.ไลน์ และ 3. จากเพื่อนหรือคนรู้จัก จึงได้นำปัญหาขึ้นมาจัดเสวนาออนไลน์ นักคิดดิจิทัลครั้งที่ 17 ผ่านทางระบบซูม และเพจเฟซบุ๊กโคแฟค ประเด็น “ฮาวทูรับมือปัญหาข้อมูลสับสน-ข่าวสารลวงหลอก บทเรียนไทยและเทศ” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั้งแวดวงสื่อมวลชน การศึกษา นักวิชาการ และผู้ดูแลด้านกฎหมาย มาร่วมกันมองปัญหาสถานการณ์ข่าวลวง พร้อมเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาให้กับสังคมไทย

นายเทพชัย หย่อง ที่ปรึกษาไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อมวลชน มีมุมมองว่า ไม่แปลกใจที่สถานการณ์ข่าวลวง 3 อันดับแรกจะเป็น เรื่องสุขภาพทั้งหมด เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ และคนส่วนใหญ่ใช้เวลากับโลกออนไลน์ จึงเป็นช่องทางในการที่จะปล่อยข่าวลวงได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว สถานการณ์ข่าวลวงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่กำลังเกิดขึ้นกับทุกประเทศในอาเซียน อย่างไรก็ตาม แม้ข่าวลวงเรื่องสุขภาพจะเป็นเรื่องสำคัญเพราะเกี่ยวพันกับชีวิต แต่ข่าวลวงอีกประเภทหนึ่ง คือข่าวลวงที่มุ่งสร้างกระแสความเกลียดชังในสังคม ก็เป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญและใส่ใจในระยะยาว เพราะเป็นข่าวที่ไม่สามารถหักล้างในข้อเท็จจริงได้

“การรับมือเฉพาะหน้านั้นเห็นว่าสื่อมวลชนหรือแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างโคแฟค จะต้องเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการยับยั้งข่าวลวง ให้ข้อเท็จจริง แต่ในระยะยาว สิ่งสำคัญคือการสร้างคนรุ่นใหม่ไม่ให้หลงเชื่อข่าวลวง มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่เป็นต้นตอในการปล่อยข่าวลวง” 

ข่าวสารบิดเบือนสะท้อนสังคมผิดปกติ

สำหรับแวดวงการศึกษา ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Arkki โรงเรียนหลักสูตรการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ชั้นนำระดับโลกจากกระทรวงศึกษา​ของประเทศฟินแลนด์  ประจำประเทศไทย ได้ยกตัวอย่างประเทศฟินแลนด์ว่า เป็นประเทศที่ได้มีการวัดระดับความรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ของ ประชาชนในประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 โดยประเทศฟินแลนด์ มีการใส่เรื่องการรู้เท่าทันสื่อเข้ามาในความวิชาภาคบังคับของโรงเรียน  เนื่องจากมองเห็นว่าการศึกษาที่ดีมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการต้านข่าวลวง จึงต้องสอนให้คนรุ่นใหม่ มีทักษะคิด วิเคราะห์ แยกแยะเพราะไม่ว่าจะออกกฎหมายหรือใช้เทคโนโลยีใดๆมาช่วยก็ตาม สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ การศึกษาของพลเมือง

ขณะที่ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอมุมมองของนักวิชาการว่า วันนี้เราต้องเน้นไปที่คำว่า Disinformation (บิดเบือนข้อมูล) เนื้อหาที่ปั้นแต่งขึ้นหรือจงใจดัดแปลง  และการจงใจปล่อยทฤษฎีสมคบคิดหรือข่าวลือ การศึกษาของยูเนสโก พบประเด็นสำคัญที่เกิดจากการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีทั้งข้อมูลสถิติต่าง ๆ การส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสุขภาพ รวมไปถึงการสร้างความเสื่อมเสียและไม่น่าเชื่อถือให้กับนักข่าวและสำนักข่าวที่มีชื่อเสียง

ยูเนสโกเองก็ได้สรุปแนวทางในการรับมือไว้เป็น 4 แนวทาง ด้วยกัน คือ 1. การชี้ให้เห็นว่าอะไรคือจริง อะไรคือเท็จ 2. การเน้นไปที่กลุ่มผู้ผลิตหรือผู้ที่แพร่กระจายข่าวสารในเรื่องการตรวจสอบข้อมูล 3. การเน้นไปที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ ในการช่วยคัดกรองข้อมูล และ 4. การเสริมศักยภาพให้ผู้รับสารในการรับมือกับข่าวสารที่บิดเบือน สถานการณ์ตอนนี้ไม่สามารถมองแยกส่วนได้  ดังนั้นทุกฝ่ายที่เป็นหลักในเรื่องนี้ ต้องร่วมกันทำหน้าที่ของตัวเองให้เข้มข้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น องค์กรวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ ผู้ตัดสินใจทางนโยบาย หรือผู้ที่มีอำนาจทางนิติบัญญัติ เพราะสถานการณ์ข่าวสารที่บิดเบือนคือส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงว่ามีความผิดปกติของสังคม  (Social Disorder) ด้วยเช่นกัน

การจัดการข่าวปลอม จึงเป็นวาระสำคัญระดับโลก เรามองข้ามไม่ได้เพื่อขับเคลื่อนสังคมที่เดินหน้าไปด้วยข้อเท็จจริง

กลไกตรวจสอบข่าวปลอม

โคแฟค (Collaborative Fact Checking : Cofact) ได้สำรวจเรื่อง “ทำไมต้องค้นหาความจริงร่วม : Why Cofact matter  ข้อค้นพบ ที่น่าสนใจคือ 97% ของผู้ตอบแบบสำรวจเคยได้รับข่าวที่สงสัยว่าเป็นข่าวปลอม ส่วนใหญ่รับข้อมูลมาจาก 2 แหล่งใหญ่คือ แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ และกลุ่มผู้รู้จักใกล้ชิด โดย 1 ปีที่ผ่านมา 3 อันดับแรกที่พบอยู่ในแวดวงสุขภาพ อันดับที่ 1.สรรพคุณเกินจริงของถั่งเช่าและอาหารเสริมอื่น ๆ  2.เรื่องฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิด-19 ได้ และ 3.ข่าวลวงเรื่องมะนาวโซดารักษามะเร็งและโควิด

สำหรับประเด็นที่มักจะพบการปล่อยข่าวลวง-ข่าวปลอมในเนื้อหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิดนั้น อาทิ 1.ต้นกำเนิดและการแพร่กระจายของเชื้อโควิด 2.ข้อมูลเท็จและสถิติที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ที่เชื่อมโยงกับรายงานอุบัติการณ์ของโลกและการเสียชีวิต 3.ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และผลกระทบทางสุขภาพ 4. การสร้างความเชื่อถือและไม่น่าเชื่อถือให้กับนักข่าวหรือสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือมาแต่เดิม 5.วิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับอาการของโรค การวินิจฉัยและการรักษา 6.ผลกระทบของโรคต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 7.การเมือง เช่น ข้อมูลเพียงด้านเดียว มีการวางกรอบข้อมูลเชิงบวกที่ถูกนำเสนอเพื่อลบล้างความสำคัญของข้อเท็จจริงที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของผู้มีอำนาจบางคน และข้อมูลอื่น ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อทำให้เข้าใจผิดเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง 8.การขับเคลื่อนโดยผลประโยชน์ทางการเงินที่ฉ้อฉล และ9.ข้อมูลที่เน้นบุคคลที่มีชื่อเสียง รวมถึงเรื่องเท็จเกี่ยวกับนักแสดงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด 

กลุ่มตัวอย่างมองว่า ทางแก้ปัญหาคือ 1.สื่อมวลชนควรเป็นหลักในการช่วยตรวจสอบอย่างทันท่วงที ไม่ผลิตซ้ำข่าวลวง 2. แพลตฟอร์มออนไลน์ควรเพิ่มฟังก์ชัน “เตือนข่าวลวง”  3.การเพิ่มทักษะพลเมืองดิจิทัลในหลักสูตรการเรียนรู้ทุกระดับ หรือเรียกว่าเป็นหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อ และควรมีแพลตฟอร์มเฉพาะเพื่อเป็นศูนย์กลางในการตรวจสอบข่าวลวง เช่น โคแฟค.