รวมถึงผลกระทบจากการก่อตัวของการทำสงครามในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ ที่กำลังปะทุขึ้นในหลายขั้วอำนาจ แม้ว่าความไม่ลงรอยของขั้วอำนาจเดิมอย่างยูเครน-รัสเซีย ที่กำลังจะเจรจายุติสงครามในวันที่ 15 พ.ค.นี้

แต่!!สงครามระลอกใหม่ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ก็เพิ่งเริ่มถือกำเนิดขึ้น ที่ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายจะไปจบลงกี่โมง!!

ยังไม่นับรวม… การค้าโลก ที่กำลังลดน้อยถอยลง ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ประเทศไทยเองก็ต้องเตรียมแผนรับมือ แม้อาจไม่สามารถคะคานได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ก็ต้องทำให้ประชาชนคนไทยหลุดพ้นจากความยากลำบากไปให้ได้

เพราะนั้นหมายถึง…ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความหวังของคนไทยทั้งประเทศ ที่มีต่อ “รัฐบาล” กำลังเสื่อมถอยลง จนอาจเกิดเป็นวิกฤติศรัทธา ที่จะกระทบต่อคะแนนเสียงของรัฐบาล

ณ เวลานี้ เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กำลังจะหมดแรง ทั้งการส่งออก ที่กำลังจะดับสนิท จากนโยบายภาษีตอบโต้ของ “ทรัมป์”  

ทั้งการบริโภคภายในประเทศ ที่ไปไม่ไหวเพราะยังติดกับดับหนี้ก้อนมโหฬาร  ห้างร้านไม่มีคนซื้อ มีแต่คนขาย เจ้าของรายเล็กรายน้อยหน้าซีดเผือด เพราะไม่รู้จะหาเงินมาต่อเงินได้อย่างไร

แม้แต่เรื่องของการลงทุน ที่รัฐบาลการันตีว่ามีเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในไทยแน่ ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ ดาต้าเซ็นเตอร์

ไม่ได้เห็นต่าง ว่าเงินลงทุนยังไหลเข้ามาในไทย แต่เป็นเรื่องของระยะยาว ที่ต้องใช้เวลา ขณะที่ในช่วงระยะสั้น ๆ ผลลัพธ์ของการลงทุนยังไม่ได้ส่งผลให้เห็น

หรือ!! เรื่องของการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวหลักอย่าง “จีน” หายไปเกินครึ่ง เหลือแต่รัสเซีย อินเดีย ที่ยึดครองชายหาดพัทยา จนกลายเป็นเมืองที่ไม่น่าพิสมัย นักท่องเที่ยวคุณภาพที่อยู่นาน จ่ายหนัก นิสัยดี แทบไม่เหลือ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ทีมเศรษฐกิจต้องรื้อทุกแผน เร่งเพิ่มพื้นที่ทางการคลังเพื่อให้มีช่องว่างในการกู้เงินมากระชากเศรษฐกิจ แม้แต่การบี้ภาษีเพิ่มก็ต้องทำเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

ที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา คือเรื่องการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันอีกลิตรละ 1 บาท แม้ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้น้ำมันต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพราะเป็นการโยกกระเป๋าซ้ายมาใส่กระเป๋าขวา แต่ก็ทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 2,900 ล้านบาท

เช่นเดียวกับเรื่องของแนวคิดในการเก็บภาษีผู้ประกอบการที่มีรายได้มากกว่า 1.5 ล้านบาทต่อปี ที่อาจต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต)  1% ซึ่งจะช่วยเพิ่มให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกปีละ 2 แสนล้านบาท

ที่สำคัญ… การเรียกเก็บภาษีของคนกลุ่มนี้ ก็เพื่อเป็นการขยายฐานภาษี และยังช่วยส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้เติบโตมากขึ้นจากการที่จะเป็นเพียงแค่ไมโครเอสเอ็มอีเท่านั้น

แต่เดิมที่กำหนดไว้ว่าหากมีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ไม่ต้องเสียแวตโดยกรมสรรพากรได้อนุญาตให้หักรายจ่ายแบบเหมาจ่ายได้ 60% ส่วนที่เหลือจึงนำมาเสียภาษี ซึ่งในแต่ละปีจะเสียภาษีเพียงหมื่นกว่าบาทเท่านั้น

จึงไม่แปลก ที่เมื่อโยนหินถามทางกันออกมาซะขนาดนี้ เสียงสะท้อนกลับจึงกลายเป็นด้านลบ เพราะคน (ตามระบบ) ที่จะถูกผลกระทบเต็ม ๆ จะมีมากถึง 2.7 ล้านราย หรือ 85% ของเอสเอ็มอีทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 3.2 ล้านราย และเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 5 ล้านคน

ที่สำคัญ…คนกลุ่มนี้และอีกหลายกลุ่ม ต่างย้อนคำถามถึงรัฐบาลว่า แล้วภาษีคนรวยล่ะ ทำไมรัฐบาลไม่เก็บให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างภาษีมรดก ที่เก็บมาแล้ว 10 ปี รัฐจัดเก็บภาษีได้แค่ 4,000 ล้านบาทเท่านั้น

จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องหาคำตอบที่ใช่…เพราะไม่เช่นนั้นการเรียกร้องหาความเป็นธรรมในเรื่องของการเสียภาษีย่อมเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะตอกย้ำให้ความมั่นคงของรัฐบาลลดน้อยถอยลงไปอีก!!

มาถึงจุดนี้ จุดที่รัฐบาลต้องรื้อ ต้องปรับระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อนำพาให้ประเทศเดินหน้าต่อไปให้ได้ ก็ต้องชั่งน้ำหนัก ถ่วงหน้ำหนักให้ดีด้วยเช่นกัน.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่