ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เชื่อ และใช้กับสัตว์เลี้ยงของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์กลับไม่ยืนยันความปลอดภัยในทุกกรณี

ทั้งนี้มีผลวิจัยจากหลากหลายประเทศ แม้แต่ในภูมิภาคที่นิยมใช้สมุนไพรดั้งเดิมอย่างแพร่หลาย ก็ยังพบอันตรายจากการใช้โดยไม่มีการควบคุมหรือความเข้าใจที่ถูกต้อง ตัวอย่าง เช่น ในวารสารสหวิทยาการที่เน้นไปที่ยาพื้นเมือง (Journal of Ethnopharmacology) ปี ค.ศ.2021 มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งประเทศจีน (Agricultural University) รายงานว่าสารบางชนิดในสมุนไพรจีน เช่น “เถาเลื้อยสายฟ้า” ที่นิยมใช้รักษาโรคผิวหนังในคน สามารถทำให้เกิดพิษต่อตับและระบบประสาทของสุนัขและแมวได้ แม้ในปริมาณที่ต่ำกว่ามาตรฐานของมนุษย์

รวมถึงงานศึกษาจากมหาวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์บอมเบย์ พบว่า การใช้ขมิ้นชัน (Curcuma longa) และสะเดา (Azadirachta indica) ในสัตว์ป่วยผิวหนังมีประสิทธิภาพเพียงบางรายเท่านั้น และยังพบผลข้างเคียง เช่น การระคายเคืองหรืออาการแพ้ในสัตว์บางตัว โดยเฉพาะแมวที่มีผิวหนังไวเป็นพิเศษ

และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียวศึกษาการใช้ชาเขียวและสารสกัดจากพืชเพื่อควบคุมกลิ่นในสัตว์ พบว่าแมวและสุนัขบางตัวแสดงอาการแพ้เมื่อได้รับสารโพลีฟีนอลจากชาในปริมาณสูง โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์สเปรย์สมุนไพรสำหรับสัตว์

มีกรณีศึกษาในประเทศไทย ที่มีเจ้าของแมวเปอร์เซียวัย 6 ปี เคยใช้ยาหม่องสมุนไพรนวดแมวของเธอเวลาปวดขา เพราะคิดว่าสมุนไพรไม่อันตรายเพราะความคิดว่า “คนใช้ได้ แมวก็ต้องใช้ได้สิ” แต่ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา แมวของเธอกลับแสดงอาการซึม อาเจียน และต้องถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสัตว์ทันที

ซึ่ง สพญ.ดร.กรรณิการ์ ศิริไพศาล จากโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ อธิบายว่า สมุนไพรหลายชนิดที่ปลอดภัยสำหรับมนุษย์ อาจมีพิษต่อสุนัขและแมว เช่น ทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil), กระเทียม, หัวหอม, และว่านหางจระเข้ อย่างไรก็ตาม “สมุนไพรไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ต้องใช้ด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่แค่ความเชื่อ” สพญ.ดร.กรรณิการ์ ระบุ

ด้วยผลวิจัยและกรณีศึกษาที่กล่าวมา ธรรมชาติไม่ใช่คำตอบที่ปลอดภัยเสมอไป รายงานจากสมาคมอเมริกันเพื่อการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ASPCA ระบุว่า ในแต่ละปีมีสัตว์เลี้ยงนับหมื่นตัวในสหรัฐได้รับสารพิษจากพืชและสมุนไพรธรรมชาติที่เจ้าของเข้าใจผิดว่าไม่เป็นอันตราย ตัวอย่างที่พบบ่อย ได้แก่ ลิลลี่ซึ่งเป็นพิษต่อแมว หรือมะกรูดและเลมอนที่อาจทำให้เกิดภาวะตับล้มเหลวในสุนัข

ในประเทศไทย งานวิจัยโดย คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า การใช้สมุนไพรบางชนิดโดยไม่มีการควบคุมสัดส่วน เช่น ฟ้าทะลายโจรหรือขมิ้นชัน อาจส่งผลกระทบต่อตับและไตของสัตว์ในระยะยาว โดยเฉพาะหากใช้ต่อเนื่องโดยไม่มีคำแนะนำจากสัตวแพทย์

ดังนั้นคนรักสัตว์ควรระมัดระวัง อย่าคิดว่าสิ่งที่ปลอดภัยสำหรับคนจะปลอดภัยสำหรับสัตว์ เนื่องจากระบบย่อยอาหารและการทำงานของอวัยวะสัตว์เลี้ยงต่างจากมนุษย์ ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หรือการอนุมัติจากสัตวแพทย์ รวมทั้งอ่านฉลากและศึกษางานวิจัยประกอบเสมอ สมุนไพรบางชนิดยังไม่มีการศึกษาทางพิษวิทยาสำหรับสัตว์เลี้ยง ที่สำคัญหากสงสัยว่าสัตว์ได้รับพิษ ควรรีบนำส่งสัตวแพทย์ทันที อย่าพยายามรักษาเองด้วยสมุนไพร

แม้ทางการแพทย์แผนไทยจะมีข้อดีหลายอย่าง แต่สำหรับสัตว์เลี้ยงการใช้สมุนไพรต้องตั้งอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ การดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของความรัก แต่เป็นเรื่องของ “ความรู้” ด้วย คนรักสัตว์ควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่ควรปล่อยให้ความเชื่อผิด ๆ นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เจ็บปวดสำหรับเพื่อนตัวน้อยที่แสนสำคัญของเรา.

เครนาย