โดยเฉพาะลวดลายการ์ตูนอาร์ตทอย อย่างลาบูบู้ Molly และการ์ตูนตัวดังต่าง ๆ หลังช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ปรากฎรายงานข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี เกี่ยวกับการแพร่ระบาดยาเสพติดช่วงสงกรานต์ที่มีผู้เสียชีวิตและมีอาการสาหัส ก่อนตรวจสอบพบความเชื่อมโยงกับการใช้สารเสพติดที่เรียกกันในกลุ่มว่า “ขนม” หรือ “ลาบูบู้” ที่เป็นสารเสพติดในรูปแบบผสม คล้ายกรณี“เคนมผง”ที่เคยแพร่ระบาดจนมีผู้เสียชีวิต
ปัจจุบันเป็นที่น่าจับตาเมื่อการจับกุมของกลางยาเสพติด พบมีรูปลักษณ์ที่หากไม่สังเกต หรือเฉลียวใจอาจคิดว่าเป็นเพียงขนมปกติ ยกตัวอย่าง วันที่ 11 พ.ค.68 มีการจับกุมหัวจ่ายในพื้นที่สน.โชคชัย กทม. พบของกลางยาเสพติดรูปการ์ตูนหลายแบบจำนวนมาก แบ่งปริมาณใส่ซองพร้อมจำหน่าย
จากการตรวจสอบยาเสพติดลายการ์ตูน ปั๊มออกมาหลายแบบหลายสีสันทั้ง ส้ม แดง เขียว ม่วง เหลือง แบบการ์ตูนที่ใช้มีทั้งโดเรมอน Molly ลูฟี่
อีกเคสเกิดขึ้นวันเดียวกันในพื้นที่ต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่ป.ป.ส. ร่วมกับกรมศุลกากรหนองคาย สนธิกำลังหน่วยงานเกี่ยวข้องจับกุมผู้ต้องหาสัญชาติลาว พร้อมของกลางยาอี Molly จำนวนมากถึง 137,385 เม็ด ซุกซ่อนมาในรถยนต์ขณะผ่านด่านพรมแดนหนองคาย สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1
ข้อมูลวิเคราะห์ยาเสพติดชื่อสแลง เรียกกันว่า ขนม ชำแหละส่วนประกอบพบยาอี ปริมาณเข้มข้นสูง ผสมกับเคตามีน และคาเฟอีน ออกฤทธิ์กระตุ้นและหลอนประสาทรุนแรง เป็นผลให้อาการหมดสติ ชักเกร็งกระตุก ตัวร้อน คลื่นไส้อาเจียน หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้นถึงเสียชีวิตได้
ย้อนข้อมูลสูตร-รูปลักษณ์ยาเสพติดแบบผสม ที่โผล่มาหลอกล่อคนเสพ หลบเลี่ยงสายตาคนจับ
ปี 65 พบการแพร่ระบาดที่เรียกกันว่า “เคนมผง” ซึ่งมาจากลักษณะผงสีขาวคล้ายนมผงเด็ก ส่วนผสมหลักมี 4 ชนิด ได้แก่ เฮโรอีน เคตามีน ไอซ์ และยานอนหลับ
ส่งตัวอย่างคัดแยก พบมีสารประกอบที่ใช้งานเกี่ยวกับการประหารชีวิตนักโทษร่วมด้วย คือ โซเดียว เพนโทธาล(Sodium Pentothai) ทำให้หมดสติ , แพนคิวโรเนียม โบรไมด์(Pencuronium bromide) คลายกล้ามเนื้อ , โพแทสเซียม คลอไรด์ (Potassium chloride) ทำให้หัวใจหยุดเต้น
ปี 66 พบ “แฮปปี้วอเตอร์” (Happy water) ยาเสพติดชนิดผสมที่มีทั้งแบบน้ำและแบบผง เป็นการผสมสูตรขึ้นเองของผู้ค้า โดยผู้เสพมักนำมาผสมกับแอลกอฮอล์เพื่อเพิ่มความสนุกสนาน
อย่างไรก็ตาม ด้วยอันตรายจากการผสมสารเสพติดหลายชนิด ประกอบกับปฏิกิริยาระหว่างตัวยาด้วยกันเองยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดอาการเสพยาเกินขนาด (Overdose) ถึงขั้นเสียชีวิต
ปี 67 พบ “ลูกอมสายตี้” มาในรูปลูกอม อมยิ้ม เป็นที่นิยมในหมู่นักเที่ยวกลางคืน ลักลอบจำหน่ายกันตามช่องทางโซเชียลและสถานบันเทิง ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทหลายรูปแบบ เนื่องจากมีส่วนผสมสารเสพติดหลายชนิด
จากการส่งตัวอย่างพิสูจน์พบมี 4 แบบ แบบที่ 1 ตรวจพบไนเมตาซีแพม และทรามาดอล แบบที่ 2 และ 3 ตรวจพบเคตามีน(ยาเค) และทรามาดอล และแบบที่ 4 พบฟลูไนตราซีแพม
และปัจจุบันปี 68 พบขนม หรือยาเสพติดลวดลายการ์ตูนแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ด้วยรูปลักษณ์ที่เพิ่มการดึงดูด ทำให้ต้องมีการออกมาย้ำไม่เพียงในกลุ่มเด็กและเยาวชน แต่รวมถึงผู้ปกครองเพื่อให้รู้เท่าทัน และช่วยกันเฝ้าระวังยาเสพติดที่มาในคราบของขนม หรือของเล่นสีสันแปลกตา.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน