สานต่อการแสดงผลงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 17 สำหรับนิทรรศการ “ศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม ปี 2568” โดยรวบรวมผลงานศิลปะของนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทชั้นปีสุดท้ายจากสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนด้านศิลปะมาจัดแสดงร่วมกันโดยปีนี้จัดแสดงถึง 3 สิงหาคม ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

“ศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม ปี 2568” โดยหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถจัดขึ้นด้วยเจตนารมณ์ส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่ผลงานของศิลปินรุ่นใหม่สู่สาธารณชน ทั้งเป็นขวัญกำลังใจให้แก่นิสิต นักศึกษา ตลอดจนคณาจารย์ในการพัฒนาศิลปะไทย ทั้งนี้ปีนี้มีสถาบันอุดมศึกษาตอบรับและสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น โดยคณาจารย์ของแต่ละสถาบันได้คัดเลือกผลงานเข้าร่วมแสดงรวม ประกอบด้วย ผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม งานจัดวาง และงานมัลติมีเดีย

ส่วนหนึ่งพาส่องผลงานศิลป์ พาชมแนวคิดผลงาน อาทิ ประเพณีการลอยจองพาราบูชาไหว้พระอุปคุต โดย พระมหาจตุรงค์ จตุวโร (ร้อยกา) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ “จากผลงานศึกษาประวัติ คติความเชื่อความสำคัญของพระอุปคุตและประเพณี เพื่ออนุรักษ์และรักษาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น เป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนรุ่นใหม่ ฯลฯ”

ขณะที่ ไกลบ้าน2 โดย อัซมาวีย์ การี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร “ศึกษาพื้นที่ชุมชนในกรุงเทพฯ เพื่อสะท้อนความรู้สึกคิดถึงบ้านเกิด หยิบยกวิถีชีวิตชุมชนมุสลิมในเมืองหลวง ที่อยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมสะท้อนถึงความรัก ความอบอุ่น และความสงบสุข ซึ่งเยียวยาความ รู้สึกทางใจของตนเอง ใช้ข้าวของเครื่องใช้และรูปทรงสถาปัตยกรรม ผนวกกับบรรยากาศที่สงบ และจิตรกรรมฝาผนังเป็นแบบในการสร้างสรรค์”

ส่วน “สีสันของเมือง” โดย วิษณุ แสนย่าง มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ผลงานนี้เป็นศิลปะที่ใช้จุดสีหลากหลายมาสร้างภาพบรรยากาศของเมืองปัจจุบัน รูปทรงของตึกและอาคารที่ดูเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยพลังงานและมุมมองเชิงบวกในลักษณะอุดมคติ ที่สะท้อนถึงควาก้าวหน้า ความหวัง ความอบอุ่น สดชื่น เต็มไปด้วยโอกาส เพื่อสร้างความรู้สึกดี ๆ ต่อเมืองและสังคม ความแตกต่างและความหลากหลายสามารถอยู่ ร่วมกันได้อย่างสวยงาม

“พื้นที่ความอุดมสมบูรณ์” อีกผลงานสีอะคริลิค โดย อัคคณัฐ อ่วมเนตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี บอกเล่า”จากวิถีชีวิตของผู้คนในชนบทที่คลุกคลีผูกพันกับธรรมชาติมาอย่างยาวนานทำให้รับรู้ถึงความสำคัญของธรรมชาติเป็นอย่างมาก แต่คงเห็นเป็นภาพชินตา ธรรมชาติล้วนสวยงามและมีคุณค่า จึงสื่อสารผ่านมุมมองที่มีต่อความธรรมดาในธรรมชาติรอบตัวเป็นความสงบ เรียบง่ายและความสุขในใจ”

และอีกผลงาน “เสียงบรรพชน” โดย ปฏิภาณ เจริญสุข คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ วันนี้เกิดจากเมื่อวานเพราะมีสิ่งนั้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นเปรียบดั่งความเจริญรุ่งเรืองทางด้านร่างกาย และจิตใจของผู้คนในปัจจุบัน ล้วนเกิดจากคุณูปการของผู้ที่อยู่มาก่อนเรา จึงสมควรที่จะระลึกถึงพระคุณของบรรพชนอยู่เป็นนิจ.