นาทีนี้ “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” ส่งท้ายปี คงหนีไม่พ้นเรื่องราวของกระแสข่าวการรวมตัวกันของค่ายยักษ์มือถือ อย่าง “ทรู” และ “ดีแทค” เพื่อก้าวเข้าสู่เป็นเบอร์ 1 ของวงการโทรคมนาคมไทย ทั้งในด้านของจำนวนลูกค้า และรายได้

ขณะที่ยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่งอย่าง เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ครองตลาดอุตสาหกรรมมือถือในไทย มานานกว่า 30 ปี อาจมีอันต้องตกชั้น


ปัจจุบันเอไอเอส มีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านรายได้ ประมาณ 46.4% มีฐานลูกค้า 19.3 ล้านเลขหมาย ส่วนค่ายทรู มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 31.4% มีฐานลูกค้าภายใต้ ทรูมูฟ เอช 32 ล้านเลขหมาย ด้านดีแทค มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 22.2% มีฐานลูกค้า 19.3 ล้านเลขหมาย

อย่างไรก็ตามแต่ถ้าดูในแง่ ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ตแคป ล่าสุด จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลท. “เอไอเอส” ยังคงมาเป็นที่ 1 ด้วยมูลค่า 587,350.34 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านี้ อย่าลืมว่า เอไอเอส มี คือ บริษัท อินทัช โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 40% มีสิงเทล จากสิงคโปร์ถือหุ้นอยู่อีก 23% และในยามนี้ยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมมน์ จำกัด (มหาชน) ยังเข้าไปถือหุ้นในอินทัชอยู่ถึง 31.40% ทีเดียว

นั่น… แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง แข็งแรงของ เอไอเอส!!

แต่ใช่ว่าค่าย “ทรู” จะไม่ยิ่งใหญ่ เพราะปัจจุบันมี มาร์เก็ตแคป อยู่ที่ 146,152.70 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก็คือ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ที่ถือหุ้นอยู่ 17.84% ตามมาด้วย ไชน่า โมบาย อินเตอร์เนชั่นแนล ถือหุ้น 13.47%

ส่วนค่าย “ดีแทค” มี มาร์เก็ตแคปที่ 97,080.25 ล้านบาท คือยักษ์ใหญ่ เทเลนอร์ จากนอร์เวย์ ที่ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 45.87% ส่วนผู้ถือหุ้นอื่นที่น่าสนใจ ก็ยังมี บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 5.69% แถมมี สำนักงานประกันสังคม ถือหุ้น 3.78%

ถ้าการรวมกันของทรูและดีแทค เกิดขึ้นจริง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมี “มาร์เก็ตแคป” นำหน้า เอไอเอส

การรวมตัวกันของทรูและดีแทค จะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดแซงหน้า เอไอเอส หรือไม่นั้น คงไม่ได้เรียกความสนใจจากชาวบ้านชาวช่องสักเท่าใดนัก

สิ่งที่ “สนใจ” คงเป็นคำถามตามมาในเรื่อง ค่าบริการต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร?มากกว่า เพราะการรวมตัวเช่นนี้ ธุรกิจแข็งแกร่ง ธุรกิจได้ประโยชน์แน่ แต่ชาวบ้านผู้บริโภคจะได้รับอะไร? โดยเฉพาะการเดินทางเข้าสู่ยุค 5 จี

ไม่มีใครเถียงเรื่องการให้บริการดีขึ้นแน่ แข็งแกร่งขึ้นแน่ หลากหลาย หรืออาจครบวงจรมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นกรณีการควบรวมกันของ ทีโอที และกสท โทรคมนาคม แล้วกลายเป็น “เอ็นที” หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

แต่!!! การรวมตัวกันแล้วตามมาด้วยค่าบริการที่สูงลิ่ว สูงเกินไป คงไม่ “โดนใจ” ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวครั้งนี้ ทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมลดน้อยถอยลงไป

นั่นหมายความว่า…“ทางเลือก” ของประชาชน อาจลดน้อยถอยลงตามไปด้วยเช่นกัน อย่างลืมว่าขึ้นชื่อว่าคน หรือมนุษย์ ย่อมไม่ต้องการให้ใครบังคับ หรือเอาเปรียบ

ขณะเดียวกัน เวลานี้ ทุกอย่างยังไม่มีความชัดเจน เพราะไม่ว่าจะเป็น ทรู หรือเป็น ดีแทค ก็ยังไม่มีใครออกมาให้ความชัดเจนว่า “บิ๊กดีล” นี้เป็นอย่างไร การตีโพยตีพายไปก่อน ก็ไม่ใช่เรื่อง!!

เพราะอย่าลืมว่า “ธุรกิจโทรคมนาคม” อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่ต้องดูแลให้การบริการของธุรกิจ มีความเป็นธรรมกับผู้บริโภค

“ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” กรรมการ กสทช. ระบุว่า กสทช.ยังไม่ได้รับการติดต่อหรือรายงานใด ๆ แต่จากประกาศของกสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงการถือหุ้น แม้จำนวน 10% ต้องขออนุญาตหรือรายงานต่อกสทช.ก่อน

ที่สำคัญหากมีการควบรวมกันจริงผู้บริโภคจะเสียผลประโยชน์ เนื่องจากการแข่งขันในตลาดลดน้อยลง ทำให้การลดค่าบริการเป็นไปได้ยากหรือน้อยกว่าที่มีการแข่งขันหลายบริษัท

ทั้งหมด จึงต้องเกาะติดกันต่อไป ว่า “บิ๊กดีล” นี้ จะเป็นการ “ครอบครอง” หรือ “ยึด” ตลาดหรือไม่?

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”