การที่ได้เกิดมาเป็นคนซึ่งเป็นสุคติภูมิในชาตินี้ เป็นเพราะผลของกรรมดี (กุศลวิบาก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ ได้เกิดมาในแผ่นดินธรรมซึ่งเป็นดินแดนที่มีพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงตรงตามพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ นับเป็นความโชคดียิ่งของชาวพุทธ การที่ได้เกิดมาในแผ่นดินทองซึ่งเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและมีภูมิประเทศที่สวยงาม ตลอดจนไม่มีภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงเช่นเดียวกับประเทศอื่นก็เป็นความโชคดีเช่นกัน ผู้ที่ได้เกิดมาในแผ่นดินธรรมและแผ่นดินทองซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของคนไทยทุกคน จึงควรตระหนักรู้ถึงคุณของแผ่นดินและควรคิดทดแทนคุณของแผ่นดิน ซึ่งจะต้องช่วยกันหวงแหนและปกปักรักษาแผ่นดินถิ่นเกิดให้เป็นที่น่าอยู่น่าอาศัยสืบต่อไปแก่ลูกหลานไทยในอนาคตตราบนานเท่านาน

การรู้จักรากเหง้าความเป็นมาของประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดในการก่อให้เกิดจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์แก่คนไทยทุกเพศทุกวัย เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว วัยกลางคนและวัยชรา ซึ่งเป็นเหตุให้นำไปสู่การเป็นพลเมืองดีมีความรักชาติ รักแผ่นดิน เป็นผลดีต่อประเทศชาติมีความเจริญมั่นคงและประชาชนมีความเจริญผาสุก

ประวัติศาสตร์ชาติไทยมีความเป็นมายาวนานมากว่า 700 ปี เริ่ม ตั้งแต่สมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงปกครองแผ่นดินในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ระหว่าง พ.ศ.1792-1893 รวมระยะเวลา 102 ปี ต่อมากษัตริย์ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุวรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททอง และราชวงศ์บ้านพลูหลวง ปกครองแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ระหว่าง พ.ศ.1893-2310 รวมระยะเวลา 418 ปี กษัตริย์ราชวงศ์ธนบุรีปกครองแผ่นดินในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ระหว่าง พ.ศ. 2310-2325 รวมระยะเวลา 16 ปี และกษัตริย์ราชวงศ์จักรีปกครองแผ่นดินในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ระหว่าง พ.ศ. 2325-ปัจจุบัน รวมระยะเวลา 240 ปี

สมัยสมเด็จพระนารายณ์ทรงปกครองแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ระหว่าง พ.ศ. 2199-2231 ในเวลานั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งราชสำนักฝรั่งเศสส่งราชทูตมา เจริญสัมพันธไมตรีกับไทย โดยมีพระราชสาส์นมาทูลเชิญสมเด็จพระนารายณ์ เข้ารับการนับถือคริสต์ศาสนา พร้อมทั้งมีบาทหลวงมาถวายศีลด้วย แต่สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงใช้พระปรีชาญาณตอบปฏิเสธด้วยความถนอมไมตรีอย่างนุ่มนวล เพื่อไม่ให้กระทบพระหฤทัยของพระเจ้าหลุยส์ ซึ่งต่อมาภายหลังพระนารายณ์ทรงส่งราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศสเป็นการตอบแทนไมตรีที่มีต่อกัน

เหตุการณ์ที่ ไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าถึงสองครั้ง เป็นเรื่องที่คนไทยในยุคปัจจุบันควรจะศึกษาและทำความเข้าใจให้ดีว่า การเสียกรุงศรีอยุธยาทั้งสองครั้งเกิดจากการแตกแยก แตกสามัคคีของคนไทยในการแย่งชิงอำนาจกัน โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง ความเลวร้ายในจิตใจคนมีนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการเสี้ยมให้ผู้คนเกิดการแตกแยกความสามัคคี การยุแยงตะแคงรั่ว การทำตัวเป็นหนอนบ่อนไส้ การชักนำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความพังพินาศแก่กรุงศรีอยุธยา ดังที่ปรากฏให้เห็นบางส่วนในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นที่น่าสังเวชและสลดใจแก่คนไทยในยุคปัจจุบัน

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช เมื่อ พ.ศ.2112 ซึ่งต่อมาภายหลังอีก 15 ปี สมเด็จพระนเรศวรทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาเมื่อ พ.ศ. 2127

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ เมื่อ พ.ศ.2310 ต่อมาพระเจ้าตากสินทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาในปีเดียวกัน

เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2336 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ ไทยเสียเมืองมะริด เมืองทวาย และเมืองตะนาวศรี ให้แก่พม่า หลังจากที่อังกฤษและไทย ได้ทำสนธิสัญญากำหนดเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า ส่งผลให้ไทยต้องสูญเสียพื้นที่ไปประมาณ 55,000 ตารางกิโลเมตรไป รวมถึงคนไทยประมาณ 30,000 คนในขณะนั้นกลายเป็นบุคคลที่สูญเสียสัญชาติไป ซึ่งพม่าไม่ยอมรับว่าคนเหล่านี้เป็นคนพม่า คนไทยเหล่านี้จึงถูกกดขี่ข่มแหง ถูกละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงไม่ต่างจากชนกลุ่มน้อยอื่นๆ

เมื่อ พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ผลจากวิกฤติการณ์ในครั้งนั้น ไทยจำต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ลาวในปัจจุบัน) ให้แก่ฝรั่งเศส นับเป็นการขยายอิทธิพลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของฝรั่งเศสในภูมิภาคอินโดจีน และนำไปสู่การสูญเสียดินแดนประเทศราชของไทยในเขมรและลาวที่เหลืออยู่ในเวลาต่อมาอีกด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 เรือปืนแองกงสตอง (Inconstant) และเรือโกแมต (Comete) ของฝรั่งเศสแล่นเรือเข้ามาสู่ปากน้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ เกิดการปะทะต่อสู้กันระหว่างทหารฝรั่งเศสและไทย ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทร ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับความเสียหายกันทั้งคู่ แต่เรือรบฝรั่งเศสก็สามารถแล่นเรือฝ่ากระสุนเข้ามาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสและยื่นคำขาดให้ฝ่ายไทยปฏิบัติในหลายประการ ได้แก่ ไทยต้องเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆ ตั้งแต่ภาคเหนือของลาวจนถึงพรมแดนเขมร ให้ไทยรื้อถอนด่านทั้งหมดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้เสร็จภายใน 1 เดือน ให้ไทยจัดการปัญหาทุ่งเชียงคำ เมืองคำพวน และความเสียหายที่เรือรบฝรั่งเศสและชาวฝรั่งเศสได้รับจากการปะทะกัน ให้ไทยลงโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่รับผิดชอบในการยิงปืนที่ปากน้ำ ให้ไทยชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวฝรั่งเศสเป็นเงิน 2 ล้านฟรังก์

ฝ่ายไทยจำต้องยอมรับทุกข้อตามที่ฝรั่งเศสยื่นคำขาดมา พราะไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์และขีดความสามารถในการสู้รบกับฝรั่งเศสได้ แต่ก็ได้ขอยกเว้นเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆ ตั้งแต่ภาคเหนือของลาวจนถึงพรมแดนเขมร สร้างความไม่พอใจให้กับฝรั่งเศสจึงถอนคณะทูตออกจากไทย ซึ่งเรือรบฝรั่งเศสได้แล่นเรือไปยังเกาะสีชังทำการปฏิบัติการปิดอ่าวไทย จึงเป็นเหตุให้ไทยจำต้องยอมรับเงื่อนไขตามที่ฝรั่งเศสยื่นคำขาดโดยไม่มีการต่อรองประการใดกับฝรั่งเศสอีกเพื่อให้ฝรั่งเศสยุติการปิดอ่าว แต่ฝรั่งเศสกลับยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติมที่รุนแรงขึ้น คือ เรียกร้องจะเข้ายึดครองแม่น้ำและท่าเรือเมืองจันทบุรี โดยไทยต้องไม่มีกำลังทหารอยู่ที่เมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ และบริเวณรัศมี 25 กิโลเมตรบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ไทยจึงยอมรับเงื่อนไขที่เพิ่มเติมมาแต่โดยดี หลังจากนั้นฝรั่งเศสได้ส่งผู้แทนมาเจรจาขอ ทำสนธิสัญญาเพื่อยุติกรณีพิพาท ร.ศ. 112 ในร่างสัญญาดังกล่าว ไทยมีข้อเสียเปรียบหลายประการโดยเฉพาะเมืองจันทบุรี มีสาระสำคัญดังนี้ ไทยสละสิทธิทั้งหมดในดินแดนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆ ในแม่น้ำนั้น ห้ามไทยส่งเรือรบเข้าไปในทะเลสาบ ในแม่น้ำโขง และลำน้ำที่แยกมา ห้ามไทยสร้างด่านหรือค่ายทหารในเมืองพระตะบอง และเมืองเสียมราฐ ฝรั่งเศสสงวนสิทธิ์จะตั้งกงสุล ณ ที่ใดก็ได้ โดยเฉพาะที่น่านและนครราชสีมา โดยฝรั่งเศสจะยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันจนกว่าไทยจะปฏิบัติตามสัญญาจนครบ จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนครั้งสำคัญ คือ ลาวเกือบทั้งหมด รวมทั้งสิบสองจุไทยต้องตกอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 143,800 ตารางกิโลเมตร…

การเผชิญหน้าระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในเหตุการณ์ ร.ศ.112 ขอให้คนไทยได้ร่วมกันจดจำพฤติการณ์อันหยาบช้าของฝรั่งเศสที่ถือว่ามีกำลังรบเหนือกว่า ได้กระทำการรุกรานไทยอย่างไม่มีเหตุผล กดขี่ข่มเหงไทยเปรียบประดุจ “หมาป่ากับลูกแกะ” อ้างสารพัดเรื่องเพื่อจะครอบครองแผ่นดินไทยให้ได้ ด้วยความเป็นนักเลงโตของฝรั่งเศส ไม่ยึดถือตามหลักสากลใดๆ การแบ่งเขตดินแดนทางบกในบริเวณที่เป็นภูเขา ไม่ยึดถือตามแนวสันปันน้ำ การแบ่งเขตดินแดนทางน้ำในบริเวณแม่น้ำโขงไม่ ยึดถือตามแนวร่องน้ำลึก ลากเส้นในแผนที่แบ่งเขตดินแดนตามความพอใจเป็น เหตุสำคัญประการหนึ่งที่ไทยมีความระหองระแหงกับประเทศเพื่อนบ้านเพราะเกิดความสับสนที่เข้าใจไม่ตรงกันของทั้งสองฝ่าย

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีตที่ผ่านมานั้น ตั้งแต่ห้วงเวลาตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงตอนกลางกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นยุคของการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจยุโรปตะวันตก ไทยต้องสูญเสียดินแดนให้กับอังกฤษและฝรั่งเศสไปราว 200,000 ตารางกิโลเมตร แผ่นดินไทยในปัจจุบันมีหลงเหลืออยู่ราว 500,000 ตารางกิโลเมตร การมีแผ่นดินไทยเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นเพราะกุศโลบายของกษัตริย์ไทยที่มีแนวพระราชดำริ “สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต” ไม่เช่นนั้นแล้วไทยคงตกเป็นเมืองขึ้นและเป็นขี้ข้าของศัตรูผู้รุกรานเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ คนไทยจึงควรเรียนรู้เรื่องราวและเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้น การแตกแยกความสามัคคีของคนในชาติจะเป็นหายนภัยอันใหญ่หลวง มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อคนไทยในปัจจุบันและจะมีผลกระทบอย่างร้ายแรงยิ่งกว่าต่อลูกหลานไทยในอนาคต การมีหลักคิดที่ถูกต้องและไม่บกพร่องในจิตสำนึกของคนไทย จะเป็นเหตุให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอดปลอดภัย โดยประเทศชาติมีความเจริญมั่นคงและประชาชนมีความเจริญผาสุก

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
ภาพจาก : เดลินิวส์ และ Pixabay
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ :
สาระจากพระธรรม