ช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา  ศูนย์ปราบปราบการแข่งรถในทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปข.ตร.) แถลงภาพรวมตัวเลขปราบปรามความผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทางสาธารณะและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง พบมีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาไปแล้ว มากกว่า 1,000,000 ราย 

จับกุมข้อหาแข่งรถและขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยกว่า 3,000 ราย ข้อหาสนับสนุนให้มีการแข่งรถในทาง หรือพฤติกรรมเป็นกองเชียร์ กว่า 800 ราย, ดำเนินคดีกับผู้ปกครอง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และทำทัณฑ์กว่า 40,000 ราย, ดำเนินคดีร้านดัดแปลง-แต่งซิ่ง กว่า 1,000 ราย และความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก กว่า 1,200,000 ราย ส่วนรถ จยย.ของกลางตรวจยึดได้กว่า 320,000 คัน

นอกจากนี้ ในกระบวนการบันทึกประวัติบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงลงระบบ crime พบมีจำนวนกว่า 150,000 ราย!!!

ถัดมา 1 เดือน เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ตำรวจแจงผลระดมปราบปรามอีกครั้งเฉพาะห้วงเวลา 10 วัน (11-20 พ.ย.64) มีการดำเนินคดีเพิ่มเติมกับผู้แข่งรถในทาง ขับรถไม่คํานึงถึงความปลอดภัย และสนับสนุนให้มีการแข่งรถ รวม 922 ราย, ยึดของกลางรถยนต์และรถ จยย. รวม 19,164 คัน, จัดทำประวัติผู้กระทำความผิด และผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง รวม 9,411 ราย, ผู้ที่กระทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก และ พ.ร.บ.รถยนต์ รวม 50,136 ราย, ดำเนินคดีแอดมินเพจ 13 ราย, ดำเนินคดีกับพ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง 1 ราย ทำทัณฑ์บน รวม 2,575 ราย, ตรวจค้นร้านจำหน่ายอุปกรณ์ดัดแปลงรถยนต์และรถจยย.เข้าข่ายกระทำผิดรวม 26,852 ราย ยึดของกลางท่อไอเสียไม่ได้มาตรฐาน รวม 3,382 ราย

ต้องยอมรับว่าปัญหาแข่งรถในทางเป็นปัญหาสังคมที่แก้ไขไม่ง่าย ด้วยลักษณะ “หน้าเก่าไป หน้าใหม่มา” เป็นวงจรแบบนี้ตลอด ลำพังปราบปรามด้วยการจับกุมดำเนินคดีก็แค่ปลายทาง แต่หากทำจริงจังต่อเนื่องก็หวังว่าจะคุมกำเนิดได้บ้าง โดยเฉพาะมาตรการที่เริ่มเห็นความเข้มงวดชัดเจนอย่างการบังคับใช้กฎหมายเอาผิด “ยกแผง”

“เช็กบิล” เบ็ดเสร็จครบวงจร

ไล่ตั้งแต่ “คนขับ” มีความผิดตามมาตรา 43 พ.ร.บ.จราจรทางบก ฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย มีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับสูงสุด 10,000 บาท, คุมประพฤติ, ทำงานบริการสังคม

“คนซ้อน” มีความผิดตาม มาตรา 86 ประมวลกฎหมายอาญา ฐานสนับสนุน รับโทษ 2 ใน 3 ของคนขับ, คุมประพฤติ, ทำงานบริการสังคม

“ผู้ปกครอง” มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ มาตรา 26(3) ฐานบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติ เสี่ยงต่อการกระทำผิด โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับสูงสุด 30,000 บาท

“ยึดรถ” ตามคำสั่ง คสช.ที่ 22/2558 ข้อ 1 ห้ามมิให้ผู้ใดรวมกลุ่ม หรือมั่วสุมหรือจัดให้มีการรวมกลุ่ม หรือมั่วสุมในลักษณะหรือโดยพฤติการณ์ที่น่าจะไปสู่การแข่งรถในทางอันเป็นความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ยึดรถมาเก็บรักษาไว้ได้

ขณะที่ในอนาคตยังต้องลุ้น “ร่างแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่..) พ.ศ. ….” เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนจำนวนตัวเลข “การรวมตัว” ที่มีแนวโน้มแข่งรถในทางสาธารณะ ซึ่งล่าสุดปรับเปลี่ยนเหลือ “2 คัน” เพื่อให้การแก้ปัญหารวมตัวได้เร็วขึ้น 

นอกจากปราบแว้น อีกด้านตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.64 ตร.ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องดีเดย์ กวาดล้างพฤติกรรม “ผิดกฎจราจร” ที่มักพบเห็นได้บ่อย 4 ข้อหา ได้แก่ 1.ขับย้อนศร 2.ขับฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 3.ขับบนทางเท้า 4.ขับโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว

หลังเริ่มมาตรการไป 10 วัน (15-24 พ.ย.64) จับกุมดำเนินคดีได้รวม 32,889 ราย แบ่งเป็น รถจยย.ทั่วไป 26,865 ราย, รถ จยย.ดิลิเวอรี่ 4,455 ราย และรถ จยย.สาธารณะ 1,596 ราย แยกเป็น 1.ขับย้อนศร 20,671 ราย 2.ขับฝ่าฝืนสัญญาณไฟ 8,748 ราย 3.ขับบนทางเท้า 2,870 ราย 4.ขับประมาทหรือน่าหวาดเสียว 600 ราย

ทั้งกรณีแว้นและพฤติกรรมผิดกฎจราจร ปัจจุบันหน่วยงานรัฐ และเครือข่ายดึงดูดภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแจ้งเบาะแส  หรือส่งหลักฐานรับรางวัลนำจับ อย่างโครงการล่าสุดอาสาตาจราจร นำร่องมอบรางวัลผู้บันทึกภาพการทำผิดกฎจราจรไปแล้ว 

จะกวาดล้างขาซิ่ง ขาซ่า ลำพังมีมาตรการไม่พอ สำคัญคือต้องบังคับ ก.ม.ให้ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ทุกคนเคารพกฎเหมือนกันด้วย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]