สัปดาห์ที่ผ่านมามีการออกมาเปิดเผยยอดผู้ต้องขังที่เข้าหลักเกณฑ์กฎหมาย “เป็นคุณ” มีสิทธิยื่นคำขอกำหนดโทษใหม่ รวม 38,556 คน โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ระบุ เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่บังคับใช้จะมีการปรับโทษใหม่ให้เหมาะสม กฎหมายที่เป็นคุณจะส่งผลย้อนหลังทำให้ผู้ต้องขังเดิมมีสิทธิยื่นขอปรับอัตราโทษได้ ในจำนวนผู้ต้องขังที่มีสิทธิแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มนักโทษตามคำพิพากษาเดิม เกินกว่าอัตราโทษสูงสุดของประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ แต่จำคุกยังไม่ถึงอัตราโทษสูงสุดของกฎหมายใหม่ จำนวน 38,032 คน

กลุ่มนักโทษตามคำพิพากษาเดิม เกินกว่าอัตราโทษสูงสุดและจำคุกมาแล้วเกินกว่าอัตราโทษสูงสุด 524 คน

สรุปได้ว่ากลุ่มเข้าหลักเกณฑ์ หากยื่นคำขอและผ่านการพิจารณาอาจมีผลลัพธ์ทั้งในส่วนที่ถูกลดโทษ อีกส่วนที่จำคุกเกินก็พ้นโทษปล่อยตัว 

สำหรับผู้ต้องขังคดียาเสพติด จากข้อมูล ณ วันที่ 1 ธ.ค.64 กรมราชทัณฑ์ มีผู้ต้องขังทั่วประเทศ จำนวน 282,620 คน ร้อยละ 81.86 เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด จำนวน 231,362 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็น

นักโทษเด็ดขาด จำนวน 187,462 คน ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณา จำนวน 43,359 คน (อุทธรณ์-ฎีกา 17,571 คน, ไต่สวน-พิจารณา 11,983 คน, สอบสวน 13,805 คน) เยาวชนที่ฝากขัง จำนวน 9 คน ผู้ถูกกักกัน จำนวน 1 คน ผู้ต้องกักขัง จำนวน 531 คน

ทั้งนี้ หากแยก ประเภทยาเสพติด เฉพาะนักโทษเด็ดขาด ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 เป็นยาบ้า 140,396 คน รองมาคือยาไอซ์ 24,518 คน ไม่ระบุตัวยา 17,302 คน กัญชา 1,999 คน หากแยก ประเภทคดี มีรวมประเภทเสพ จำนวน 16,758 คน รวมประเภทจำหน่าย จำนวน 176,920 คน 

ขณะที่ช่วงอายุส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน อายุระหว่าง 21-45 ปี โดยอายุ 25-35 ปี มีจำมากสุด 37,348 คน รองมาอายุ 30-35 ปี มี 37,178 คน, อายุ 35-40 มี 35,999 คน, อายุ 40-45 มี 23,729 คน และอายุ 21-25 มี 20,724 คน

หากแยกตามจำนวนครั้งที่ต้องโทษ พบว่านักโทษเด็ดขาดคดียาเสพติดส่วนใหญ่ ต้องโทษครั้งแรก จำนวน127,580 คน ต้องโทษครั้งที่ 2 จำนวน 67,654 คน ต้องโทษครั้งที่ 3 จำนวน 19,369 คน ต้องโทษครั้งที่ 4 จำนวน 5,087 คน และต้องโทษ 5 ครั้งขึ้นไป  2,402 คน

ตามกฎหมายใหม่ผู้ต้องขังในข่ายได้ประโยชน์ คือ กลุ่มผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ประเภทที่ 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง, ประเภทที่ 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป, ประเภทที่ 4 สารเคมีที่ใช้ผลิตยาเสพติด, ประเภทที่ 5 ยาเสพติดให้โทษที่ไม่อยู่ในประเภทที่ 1-4  และกลุ่มผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์และสารระเหย               

ผู้มีสิทธิยื่นคำขอกำหนดโทษใหม่ ได้แก่ พนักงานอัยการ ผู้ต้องขัง (มอบอำนาจได้) ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้อนุบาล  ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณา ศาลมีอำนาจนำกฎหมายฉบับเก่าและฉบับใหม่ที่เป็นคุณมาใช้พิจารณาได้

กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่เป็นการปรับเปลี่ยนที่สอดรับทิศทางยาเสพติดโลกตามผลประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก (UNGASS 2016) เน้นผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ขณะที่การลงโทษศาลสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาลงโทษที่เหมาะสม หรือใช้มาตรการทางเลือกอื่นตามระดับ “ความร้ายแรง” ของการกระทำผิด

ถือเป็นอีกปรากฏการณ์กฎหมายที่ต้องจับตา ท่ามกลางปัญยาเสพติดที่ยังมีหน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวัน.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]