ยืดเยื้อมานาน ล่าสุดแพลมๆ ออกมาว่ากลางปี 2565 แน่นอนสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ส่วนวันที่แน่นอนรอกกต. กำหนด อย่างช่วงนี้หลายพรรคการเมืองดาหน้าเปิดตัวผู้สมัคร และหาเริ่มหาเสียงกันคึกคัก “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงมาสนทนากับ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มาวิเคราะห์ศึกเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างไร

โดย “รศ.ดร.ยุทธพร” เปิดฉากกล่าวว่า สนามเลือกตั้งผู้ว่ากทม. เป็นสนามที่ดูแล้วคึกคัก คนสนใจเยอะ ทั้งแง่ของตัวผู้สมัครที่เป็นคนมีชื่อเสียง มีความรู้ ความสามารถ เข้าร่วมเยอะ อีกทั้งยังเป็นสนามที่จะชี้วัดการเมืองภาพใหญ่ ที่บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ต่างหมายปองเปิดตัวผู้สมัครอย่างเป็นทางการ และแอบสนับสนุนอยู่ข้างหลังก็มี

อย่าง พรรครัฐบาล คือ “พรรคพลังประชารัฐ” (พปชร.) จะเห็นว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562 แม้เป็นพรรคตั้งใหม่ แต่ประสบความสำเร็จในเวทีกทม.มาก ได้ส.ส.มาเป็นกอบเป็นกำ ทำให้เกิดการสร้างฐานเสียงในกทม.ไปไม่น้อย

ขณะที่ “พรรคประชาธิปัตย์” (ปชป.) ในฐานะแชมป์เก่ากลับมีปัญหาฐานเสียง ไม่ได้ที่นั่งส.ส. ในกทม.เลยแม้แต่ที่นั่งเดียว ครั้งนี้จึงเป็นภารกิจสำคัญของปชป.ในการฟื้นฟูความเชื่อมั่น เชื่อถือศรัทธาของพรรคกลับคืนมา โดยเปิดตัว “ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” ลงสมัครในนามพรรคอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ฐานเดิมของปชป. อยู่ที่สมาชิกสภาเขต (สข.) ในการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ มีการแก้ไขพ.ร.บ.จัดตั้งกทม.ปี 2562 ใหม่ ซึ่งไม่มี สข.แล้ว เพราฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ต้องดูว่า พรรคปชป.จะสามารถปรับตัวได้ทันหรือไม่ ส่วนฐานเดิม สข.นั้น อย่าลืมว่าเราไม่มีการเลือกตั้งมาเป็นระยะเวลาร่วม 7-8 ปี แล้ว ดังนั้นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของปชป.จากคนกรุงจึงไม่ใช่งานง่าย

พอมาดูที่ฝ่ายค้าน  อย่าง “พรรคเพื่อไทย” (พท.) เจ้าของพื้นที่กทม.รอบนอก ที่ต้องการพื้นที่นี้เช่นกัน คงมีการสนับสนุนผู้สมัคร แต่ไม่เป็นทางการ เช่น การสนับสนุน “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” แต่ปัญหาของ พท. คือ พท.เองที่เป็นอุปสรรคของนายชัชชาติ หากถูกหยิบโยงเกี่ยวข้องกับกระแสการเมืองระดับชาติ ดังนั้น พท.ต้องถอดบทเรียนในอดีต เช่นกรณีส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย และนายประภัตร จงสงวน ในนามของพรรคพลังประชาชน ที่มีคะแนนเสียงด้วยดีมาตลอด จนกระทั่งโค้งสุดท้ายมีกระแสการเมืองระดับชาติเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เกิดการพลิกผันในชั่วข้ามคืน

ส่วน “พรรคก้าวไกล” ที่ต้องการฐานตรงนี้ เพราะในการเลือกตั้งส.ส. ปี 2562 “ก้าวไกล” ในตอนนั้นคือ “พรรคอนาคตใหม่” แม้จะเป็นพรรคตั้งใหม่ แต่ได้ป๊อบปูล่าโหวตในกทม. อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถเอามาเทียบกับการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ได้ทั้งหมด เพราะเป็นการเลือกตั้งคนละระบบกัน อีกทั้งตอนนั้นมีปัจจัยการเมืองระดับชาติภายใต้ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งสรรปันส่วนผสม จึงไม่สามารถชี้ไปได้ว่าเจตจำนงของประชาชนที่ใช้สิทธิ์ ต้องการเลือกอะไร ระหว่างแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี, ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ เลือกส.ส.ในเขตเลือกตั้ง เป็นต้น ต่างกับการเลือกผู้ว่ากทม. ที่มีบัตร 2 ใบ ใบหนึ่งเลือกผู้ว่าฯ อีกใบเลือกสก. ดังนั้นก้าวไกลเองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะฉะนั้นบรรยากาศจะค่อยๆ คึกคักมากขึ้นเรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับผู้กำหนดเกณฑ์ คือ รัฐบาลว่าจะเคาะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.เมื่อไหร่

@ ผลการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.รอบนี้จะสะท้อนการเมืองระดับชาติมากแค่ไหน  

ผลการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.จะสะท้อนการเมืองภาพใหญ่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะเป็นการเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งส.ส.ที่รออยู่ข้างหน้าไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อน หรือจะเกิดขึ้นเมื่อครบวาระ ในปี 2566 ก็ตาม จริงอยู่กทม. เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้มีกระจายอำนาจที่สมบูรณ์ แต่จะเห็นว่ามีคำกล่าว่า กทม.ไม่ใช่ประเทศไทย แต่ประเทศไทย คือ กทม. ดังนั้นการเลือกตั้งกทม.จะสะท้อนการเมืองระดับชาติแน่นอน ดังนั้นการเลือกตั้งนี้จึงเป็นอีกเวทีหนึ่งที่คนมีการติดตามมาก

อย่างไรก็ตามจากการรวบรวมสถิติ คนกทม.จะชอบลงคะแนนเสียงในทิศทางที่เป็นคู่ตรงข้ามกับรัฐบาลกลางเสมอ นี่ก็เป็นที่น่าสนใจว่าเป็นภาพสะท้อนการทำงานของรัฐบาล สะท้อนกระแสความนิยมการเมืองในระดับประเทศ

@ คิดว่าสิ่งที่คนกทม.ต้องการจากการเลือกตั้งครั้งนี้คืออะไร  

การพัฒนาก็ส่วนหนึ่ง แต่การพัฒนาต้องการเรื่องความเป็นธรรมของเมือง ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณะ การศึกษา สาธารณูปโภค การขนส่งมวลชน การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณสุข และการใช้ชีวิตที่ต้องประสบความลำบากในแต่ละวัน เช่น น้ำท่วม สภาพทางเดินเท้าที่ไม่ได้มาตรฐาน นี่เป็นเรื่องที่อยู่ในวิถีชีวิตของประชาชนที่ต้องได้รับการแก้ไขให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะนำพากทม.ที่เป็นเมืองใหญ่ไปสู่ระดับโลก

@ มองนโยบายการหาเสียงของผู้สมัครเป็นอย่างไร

ยังไม่มีใครเน้นนโยบายที่เป็นแก่น หรือหัวใจหลักของคำว่า เมืองน่าอยู่ เพราะสุดท้ายการหาเสียงในกทม.เท่าที่เห็นจากที่มีการเปิดตัว ส่วนใหญ่พูดถึงการพัฒนาเมือง การสร้างความเจริญทางวัตถุ สอดคล้องกับผลสำรวจต่างๆ ที่พบว่า กทม.เป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก เป็นเมืองที่คนอยากมามากที่สุด แต่ที่สำคัญเมืองน่าเที่ยวกับเมืองน่าอยู่นั้นต่างกัน เมืองน่าเที่ยวเป็นเพียงฉากถ่ายรูปให้นักท่องเที่ยวที่มาไม่นานก็จากไป แต่เมืองน่าอยู่นั้นเป็นคนละเรื่องเลย เมืองน่าอยู่ไม่ใช่แค่ความเจริญทางวัตถุ แต่คือเรื่องของความเป็นธรรม

“วันนี้เรายังไม่เห็นนโยบายเรื่องของความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเลย มีแต่นโยบายสร้างทางรถไฟ ขุดอุโมงค์ใต้ดิน ลอยฟ้าต่างๆ แต่จะมีไปทำไมถ้าสุดท้ายแล้วรถไฟฟ้าเหล่านี้แพงจนกระทั่งคนไม่สามารถนั่งได้ ค่าโดยสารไม่ได้เกิดความเป็นธรรมเลย นี่คือสิ่งที่ยังไม่ได้เห็น”

อย่างไรก็ตาม วันนี้เพิ่งมีการเปิดตัวกัน คงยังต้องรอดูไปก่อนว่าสุดท้ายจะมีการออกนโยบายเหล่านี้หรือไม่

@ อยากจะฝากอะไรถึงประชาชนต่อการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไรบ้าง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้หลายคนมองว่าน่า จะมีการเลือกตั้ง แต่ท้ายที่สุดกลายเป็นการเมืองระดับชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้กทม. กลับมาเลือกตั้งเป็นอันดับเกือบท้ายสุด คนกทม. แทนที่จะได้มีส่วนร่วม ก็ถูกยืดเยื้อมา ดังนั้นจะต้องทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการสานประโยชน์ของคนในสังคมร่วมกัน ไม่ใช่ใช้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นเทคนิคทางการเมืองหรือการช่วงชิงการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ซึ่งไม่เกิดประโยชน์จากการเลือกตั้งเลย และหัวใจหลักหรือความสำเร็จของการเมือง และของการบริหารนครทั่วโลก ไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้ง แต่อยู่ที่การปรับโครงสร้างของเมืองและมหานครที่สอดรับกับความต้องการของประชาชน.