ผมเห็นกิจกรรมที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยและสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันจัดขึ้นให้ช่างภาพมืออาชีพ ช่างภาพมือสมัครเล่น ประชาชนทั่วไปร่วมบันทึกภาพแห่งความทรงจำของสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ในสิ่งที่เล่าอย่างสร้างสรรค์ในกิจกรรมประกวดภาพถ่าย “หัวลำโพง In Your Eyes”

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “Photo Walk @ Hua Lamphong (หัวลำโพง)” โดยการเดินถ่ายภาพภายในบริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) พร้อมค้นหาความหมายของรายละเอียดต่าง ๆ กว่า 10 จุด พร้อมฟังเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ของสถานีตลอดจนระบบรางและขบวนรถไฟ

10 จุดสำคัญของสถานีหัวลำโพงได้แก่

  1. อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง เป็นจุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีตรึงหมุดรางทอง รางเงิน ติดกับไม้หมอนมะริดคาดเงินและเปิดการเดินรถไฟหลวงในราชอาณาจักรสายแรก เส้นทางสถานีกรุงเทพ-อยุธยา
  2. สะพานลำเลียงจดหมาย เชื่อมต่ออาคารไปรษณีย์ตั้งอยู่ปลายชานชาลาที่ 4 ของสถานีกรุงเทพ
  3. ลานน้ำพุหัวช้าง ซึ่งเคยเป็นหลุมหลบภัยทางอากาศ
  1. 4. ป้ายด้านหน้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตรงด้านหน้าของสถานีจะมีตัวอักษรปูนปั้นว่า สถานีกรุงเทพ ติดอยู่ที่ด้านบนโถงระเบียงทางเข้าด้านหน้าอาคารสถานีจุดเริ่มต้นการเดินทาง
  2. 5. สถาปัตยกรรมภายนอกสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตัวอาคารเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรเนสซองส์ ระเบียงด้านหน้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) สวยงามด้วยกระจกสีที่ช่องระบายอากาศทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่เท่า ๆ กับตัวอาคารสถานีที่เน้นลักษณะภายนอกของมนุษย์และธรรมชาติ
  3. 6. โถงกลางสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) บรรยากาศร่วมสมัยแบบสไตล์ตะวันตก งดงามด้วยการตกแต่งภายในสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานศิลปะแบบคลาสสิก (Classicism) ด้วยการใช้เสาคู่ลอยตัว ระเบียงไอโอนิก (Ionic) การตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น และศิลปะแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau)
  1. 7. โรงแรมราชธานี อดีตโรงแรมหรูที่เคยอยู่คู่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)
  2. 8. เก้าอี้วงรี สัญลักษณ์ประจำสถานีรถไฟ เก้าอี้รูปทรงคล้ายหมวกปีกถูกทับจนแบนยาว ส่วนปีกหมวกเป็นที่นั่ง ตัวหมวกเป็นพนักพิง
  3. 9. รถจักรไอน้ำแปซิฟิก รุ่นเลขที่ 824, 850 เป็นรถจักรไอน้ำที่ถูกใช้การหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รถจักรไอน้ำทั้ง 2 คันนี้นำมาใช้งานในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2492 โดยใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงต่อมาได้ดัดแปลงให้ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงแทนในปี พ.ศ.2514 ปัจจุบันการรถไฟฯ ใช้ทำเป็นหัวขบวนนำเที่ยวในโอกาสพิเศษที่สำคัญ ๆ ปีละ 6 ครั้ง
  4. 10. ขบวนรถพิเศษ Prestige ที่จัดขบวนมาให้เยี่ยมชมอย่างใกล้ชิด

สำหรับผลงานภาพถ่ายทั้งหมดที่สร้างสรรค์ขึ้น ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยจะคัดเลือกเพื่อนำมาเผยแพร่สู่สาธารณชนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ และช่องทางอื่น ๆ ที่เหมาะสมต่อไป และจัดแสดงผลงานที่ได้รับการคัดเลือก ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2564-15 มกราคม 2565 ณ บริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ช่วงหยุดปีใหม่นี้ ลองไปชมกันได้นะครับ

*ขอบคุณภาพถ่ายเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของการรถไฟแห่งประเทศไทยและสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

………………………………………..
คอลัมน์ : ก้อนเมฆเล่าเรื่อง
โดย “น้าเมฆ”
https://facebook.com/cloudbookfanpage