ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ รวมไปถึงการใช้ชีวิตของประชาชน และได้ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 64 ที่ผ่านมาต้องเจอกับความยากลำบากแทบจะทั้งปี จนทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในปี 64 อาจเติบโตเพียง 1% เท่านั้น

ซึ่งเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันได้พึ่งพาอาศัยปัจจัยต่างประเทศค่อนข้างมาก ทั้งการท่องเที่ยว และการส่งออก ซึ่งเมื่อได้รับผลกระทบจากนอกประเทศอย่างรุนแรง ทำให้คนไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก จนกระทบกับรายได้จากการท่องเที่ยวโดยตรง แม้ภาคส่งออกเหมือนจะเริ่มดูดีขึ้น แต่ไม่อาจวางใจเพราะต้องขึ้นตรงกับสภาพเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก

สิ่งแรกที่สำนักวิจัยทั้งที่เป็นภาครัฐและฝั่งเอกชน พูดเป็นเสียงเดียวกันคือ ประเทศไทยควรปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ลดการพึ่งพาเครื่องยนต์จากปัจจัยภายนอก และหันมาใช้แรงขับเคลื่อนจากภายในประเทศเป็นหลัก แม้จะมีแรงส่งไม่มากเท่า แต่ยั่งยืนกว่าในอนาคต ประกอบกับควรสนับสนุนเทคโนโลยีให้เข้ามาเป็นแรงส่ง เหมือนเป็นน้ำมันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้ไกลในโลกแห่งอนาคต

หนุนใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน

มาฟังเสียงของภาคธุรกิจกันบ้างว่าจะมีความคิดเห็นหรือมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 65 ไว้ว่าอย่างไรบ้าง เริ่มจากธุรกิจที่ตอนนี้มาแรงเอามาก ๆ “ปรมินทร์ อินโสม” ผู้ก่อตั้งเหรียญฟิโร่ และสตางค์ คอร์ปอเรชั่น แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญคริปโตเคอเรนซี และโทเคนดิจิทัล และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งกูรูด้านคริปโต ของไทย

มีมุมมองน่าสนใจว่า เศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวมานาน ทำให้ที่ผ่านมาคิดว่าการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศและทำให้อยู่รอด และการที่พยายามตั้งโซนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่สนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนผ่านการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ นั้น มองว่าหลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป ตอนนี้สามารถทำธุรกิจที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ให้มาลงทุน เพียงแค่มีเทคโนโลยี

ดังนั้น ความจำเป็นของสถานที่ตั้ง อาจมีความสำคัญน้อยลงและไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ทำให้ภาครัฐควรเปลี่ยนแนวคิดใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยให้ประเทศไทยก้าวหน้าไปได้ ซึ่งเข้าใจว่าทุกอย่างต้องใช้เวลา แต่มีวิธีดึงดูด และกระตุ้นได้ โดยผ่านการให้สิทธิพิเศษจูงใจแก่นักลงทุนทั่วโลกเข้ามาในไทย ให้มีความรู้ธุรกิจและใช้เทคโนโลยีเป็นพื้นฐาน มองว่าเป็นทางที่จะไปในอนาคตได้

เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต เหมือนกับสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เรียกว่าคริปโต ซึ่งไม่ได้มองแค่คริปโต เป็นเคอเรนซี หรือแค่เครื่องมือในการใช้ชำระเงินเท่านั้น แต่คริปโตจะเชื่อมโลกธุรกิจเข้าไว้ด้วยกัน เห็นจากต่างประเทศภาคธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มเข้าลงเล่นตลาดนี้แล้วมีแต่เมต้าเวิร์ส โลกเสมือนจริง, เอ็นเอฟที, ดีฟาย การเงินที่ไม่มีตัวกลาง ล้วนอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชนแทบทั้งสิ้น แต่ฝั่งไทยอาจยังไม่เห็นจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเร็ววัน ยังมีปัจจัยของตัวกลาง โครงสร้างทางการเงินไทยแข็งแกร่ง สถาบันการเงินมีความน่าเชื่อถือ และสกุลเงินบาทมีความเชื่อมั่นอยู่แล้ว

เมต้าเวิร์ส จะเข้ามาสร้างธุรกิจใหม่ เช่น นายหน้าขายที่ดินบนโลกเสมือนจริง และใช้จ่ายเงินด้วยคริปโต ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นเงินจริงที่นำมาหมุนเวียนใช้จ่ายบนโลกจริง เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย ประชาชนบางส่วนถูกกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 ได้รวมตัวคนในหมู่บ้านเล่นเกมฟาย นำไอเทมแลกเปลี่ยนเป็นเงิน สามารถเล่นเกมหาเงินได้แล้ว ไม่ใช่แค่เล่นเกมอย่างเดียว ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเข้ากับคริปโตหลังจากนี้ เพราะไม่อาจเสียโอกาสการแข่งขันในการทำธุรกิจไปได้

ภาครัฐเองก็ควรจะเปลี่ยนแนวคิดก่อน ไม่ได้ลงมาแล้วทำแข่ง กำกับให้เท่าเทียม ให้ตลาดแข่งขันกันเอง ภาครัฐต้องเปลี่ยนตัวเอง จับให้น้อย ปล่อยให้ภาคเอกชนทำ และออกกฎให้ทุกคนแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม สุดท้ายภาครัฐจะเคลื่อนไหวเร็ว สามารถปรับตัวให้ทันสมัยตลอดเวลา ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศทำธุรกิจในไทยได้ง่ายขึ้นด้วย”

หานิวเอส-เคิร์ฟใหม่

ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ” นักลงทุนรุ่นใหม่ไฟแรง และอินฟลูเอนเซอร์ด้านการลงทุน เจ้าของเพจดัง Kim Property Live ทางเฟซบุ๊ก และยูทูบ ได้มีมุมมองเศรษฐกิจไทยในปี 65 ท่ามกลางเงินเฟ้อพุ่งแรง และแนวโน้มดอกเบี้ยทั่วโลกขยับขึ้น หลังโควิดเริ่มคลี่คลาย อาจมีแรงกดดันด้านค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้ แต่ไทยมีความเข้มแข็งด้านการเงินอยู่แล้ว อาจไม่ได้กระทบมากเท่ากับการท่องเที่ยวไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่ง มองว่าประเทศไทยอาจต้องหานิวเอสเคิร์ฟใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย คริปโตอาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะจะเกิดธุรกิจใหม่ทั้ง เมต้าเวิร์ส, ดีฟาย ที่หลายประเทศเริ่มต้นขึ้นแล้ว

การใช้เทคโนโลยีคริปโต เป็นเทคโนโลยีลดขั้นตอน ลดตัวกลาง ลดต้นทุนบนโลกดั้งเดิม เหมือนกับการเกิดอินเทอร์เน็ตสมัยก่อน ทำให้เกิดคอมพิวเตอร์ เกิดแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นอีกมากมาย และเชื่อว่าธุรกิจคริปโตในปี 65 จะเติบโตขึ้นมาก โดยเทคโนโลยีไทยไม่ได้ตามหลัง ซึ่งอยู่อันดับต้น ๆ ด้วยซ้ำ ถ้าภาครัฐสนับสนุนให้สร้างเอสเคิร์ฟใหม่ ๆ ได้ ก็ควรเปิดกว้างความรู้มากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจการเงิน ธนาคารต่าง ๆ พยายามสร้างเอสเคิร์ฟใหม่ให้กับธุรกิจต่อยอดจากฟินเทค เพราะการที่ธนาคารตื่นตัวเข้ามาคริปโต ก็ไม่อยากถูกดิสรัป

ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านชำระเงินใหม่ อย่างโครงการซีบีดีซี เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคาร กลาง จะเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนเชื่อมโยงการเงินใหม่ อาจให้ชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินวอลเล็ต ให้เงินหมุนเวียน แต่ก็ยังมีข้อกังวลเรื่องความ เป็นส่วนตัว เพราะนั่นเท่ากับว่าเป็นการรวมศูนย์ข้อมูลหรือไม่ แต่ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคริปโต เมต้าเวิร์ส เกมฟาย หรือดีฟาย ล้วนแต่มีเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่เบื้องหลัง เชื่อมโยงกันหมดโดยมีคริปโตอยู่เบื้องหลังการชำระเงิน ในอนาคตจะเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย เพราะจะมีธุรกิจที่สร้างเงินให้มาก มาย

อยากให้ภาครัฐสนับสนุนธุรกิจคริปโต, ดีฟาย หรือเกมฟาย เพราะในไทยมีคนเก่งเยอะ แต่กังวลเรื่องการกำกับ ทำให้อีโคซิสเต็มเทคโนโลยีในไทยไม่ได้เกิดสร้างสรรค์ ดังนั้น อยากให้ภาครัฐเสริมตรงนี้ หมดยุคกินบุญเก่า เราต้องหาอุตสาหกรรมใหม่เป็นหัวหอก ถ้ายังไม่ปรับอาจจะเสียโอกาส

จับตาเทรนด์ดิจิทัลปี 65

คุณไตรเตชะ ตั้งมติธรรม (1) - มิติหุ้น | ชี้ชัดทุกการลงทุน

ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย บอกว่า ในปี 65 เชื่อว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แม้ขณะนี้มีโควิดสายพันธุ์ใหม่แต่เชื่อว่าสถานการณ์ในประเทศโดยรวมดีขึ้น จากอัตราการติดเชื้อลดลง มีวัคซีนทั่วถึง และคนเริ่มปรับตัวได้และเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลบวกต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย มีลูกค้าหลายรายที่มีความต้องการซื้อ มีเงินในกระเป๋าพร้อมซื้อสดและมีกำลังผ่อน แต่ยังกังวลเรื่องเศรษฐกิจและชะลอการซื้อเพื่อรอดูสถานการณ์โควิด

ขณะที่การท่องเที่ยว คาดว่าจะค่อย ๆ กลับมาดีขึ้นแต่ยังไม่เหมือนเดิม ซึ่งการที่ประเทศไทยพึ่งพาท่องเที่ยวเป็นหลักจึงได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น ๆ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องหาช่องทางในธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาเสริม โดยเฉพาะเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว และโควิดเข้ามาช่วยเร่งให้เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น จึงทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีการปรับตัวอย่างมาก เช่น ศุภาลัย ปรับโดยการเปิดช่องทางขายออนไลน์มากขึ้น แบ่งรอบการเปิดขายโครงการใหม่ เพื่อไม่ให้ลูกค้ากระจุกตัวมากเกินไป ส่วนด้านการออกแบบโครงการจะมีพื้นที่ส่วนตัว แม้โควิดจะหมดไปแต่มองว่าสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นนิวนอร์มัลในที่สุด

ขณะเดียวกันสินทรัพย์ดิจิทัลยังเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ต้องจับตาว่าจะหักหัวไปทางไหน หากสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง อยู่ได้ในระยะยาว และมีความสำคัญมากขึ้นคาดว่าจะเป็นตัวช่วยหนุนตลาดต่าง ๆ เติบโต รวมถึงเพิ่มกำลังซื้อของลูกค้าด้วยเช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นในด้านมูลค่าอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาและช่วยให้นักลงทุนหลายกลุ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากส่วนนี้ และหลายคนนำส่วนต่างมาซื้อทรัพย์สินที่จับต้องได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์

ในปี 65 จะเป็นปีที่เห็นได้ชัดว่าสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นแค่ลูกเล่นที่เข้ามาใช้ในการทำตลาดของแต่ละบริษัทหรือสามารถไปต่อและนักพัฒนาทำอย่างจริงจังปัจจุบันศุภาลัยอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ลูกค้าสามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาแลกที่อยู่อาศัยเช่นกัน ซึ่งจะช่วยขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

เทคโนโลยีท้าทายธุรกิจไทย

สุธิดา มงคลสุธี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) ผู้ประกอบการด้านไอทีรายใหญ่ของไทย สะท้อนมุมมองปี 65 ว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้นประมาณไตรมาส 3 ในปี 65 หลังจากปี 64 เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก พอจะเปิดประเทศ เปิดได้ไม่เต็มที่ เพราะมีโควิดสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมา เพราะเศรษฐกิจประเทศไทย ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ ขณะนี้หลายอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัวแล้ว ยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัว อย่างธุรกิจที่เกี่ยวกับ “หนี้”กลับกลายเป็นโตขึ้น สะท้อนว่า ประเทศเราเป็นหนี้ทั้งในระบบ และนอกระบบอยู่มาก กำลังซื้อของรากหญ้ายังไม่ฟื้น แต่กำลังซื้อระดับบน ยังมีมาก ยังเป็นความเหลื่อมล้ำ

ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส สิ่งหนึ่งให้นำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารธุรกิจ เพื่อช่วยประหยัดต้นทุน ทำให้การบริหารจัดการดีขึ้น ช่วยให้การบริหารหลังบ้าน ทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญต้องมาดูว่า เราจะรักษาลูกค้าต่อไปได้หรือไม่ สิ่งนี้ถือเป็นการจัดการหลังบ้านให้ดี ถ้าเราทำตรงนี้ได้ดี จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ และการทำธุรกิจทุกคนต้องวิน ถ้าเราวินคนเดียว ลูกค้าก็จะไม่รักเรา ธุรกิจก็ไปไม่รอด เพราะฉะนั้นต้องเดินไปด้วยกันให้ได้”

ส่วนความท้าทายปี 65 มี 2 ประเด็น ประเด็นแรก เรื่องการเมืองในประเทศ ถ้าไม่ชัดเจนจะส่งผลต่อนโยบาย ซึ่งประเทศไทยขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนค่อนข้างเยอะ อีกประเด็นคือเรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นเรื่องที่เราไม่รู้ว่าจะกลายพันธุ์ไปอย่างไร ถ้าไม่ได้พัฒนาไปไกล เริ่มนิ่งได้ มีวัคซีน เหมือนเป็นไข้หวัด ก็จบ

สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐแก้ปัญหา อยากให้มองว่าธุรกิจอะไรที่ขับเคลื่อนองค์รวมของประเทศ วันนี้เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น รัฐบาลควรเข้ามาส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ สิ่งที่เป็นแบ็คโบนสำคัญ เรายังต้องพึ่งพาการเกษตรอยู่ ถ้าภาครัฐเห็นว่าการเกษตรสำคัญ รัฐบาลควรลงทุนช่วยเหลือเกษตรกรส่วนหนึ่ง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผล เป็นองค์รวมของประเทศ

ธุรกิจ-แรงงาน เร่งปรับตัว

ธนาตรัยฉัตร ภูโชคอนันต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด อีกหนึ่งธุรกิจที่ปรับตัวเข้ากับยุคออนไลน์ มองว่า เศรษฐกิจปี 65 จะดีขึ้นแต่ไม่มาก เพราะยังมีความเสี่ยงจากโควิดโอมิครอน แม้คนไทยจะเริ่มคุ้นชิน มีประสบการณ์ แต่อาจกระทบกับรายได้ กระทบเงินหมุนเวียนใช้สอยในประเทศ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล

โดยภาคธุรกิจในปี 65 จะต้องปรับตัวมากขึ้นเปลี่ยนจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ หากไม่ปรับตัวและเกิดผลกระทบรุนแรงต่อภาคธุรกิจ อาจเกิดการว่างงานขึ้นมาก และมองว่าไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการที่ต้องเปลี่ยนแปลง แต่ทรัพยากรมนุษย์หรือแรงงานต้องปรับตัวเองขึ้นอย่างเร่งรีบ ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

ในเรื่องของเทคโนโลยีมาแน่นอนในการเข้ามาทำธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงข้างหน้า แต่ยังมีบางรุ่นอายุ หรือมีเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ที่อาจมีข้อจำกัดเรื่องกระบวนการเรียนรู้เทคโนโลยี บางคนเป็นรุ่นดั้งเดิม เป็นคนสูงวัย ทำให้ผู้ประกอบการต้องอ่านให้ขาด

ดังนั้นมองว่าสิ่งที่ภาครัฐจะช่วยธุรกิจได้ คือ เรื่องพื้นฐานที่เป็นปัจจัย 5 สนับสนุนให้ออกเป็นนโยบายมีอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ มีอินเทอร์เน็ต และที่สำคัญคือเรื่องความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล โดยทยอยปรับนโยบาย 3-5 ปีก่อนก็ได้ มองว่าเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันยังมีเอสเอ็มเอสที่เป็นสแปม เป็นอุปสรรคของการทำธุรกิจซื้อขาย บางคนปิดกั้นเพราะเจอหลอกลวงมากขึ้น จึงอยากฝากภาครัฐในเรื่องนี้

ไม่ใช่แค่เรื่องผู้ประกอบการ เป็นที่คนทำงานต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงถ้าปรับเปลี่ยนองค์กร ผู้ใช้งานต้องเปลี่ยนแปลงเอง ผู้ประกอบการผ่านจุดดิสรัปชั่นมาแล้ว ถ้าเปลี่ยนเป็นออนไลน์ไม่ได้ ก็ถ้าไม่ปรับตัว ปี 65 อันตราย มีคนว่างงานมากขึ้นถ้าไม่ปรับตัว”

ส่วนการปรับตัวเข้าสู่คริปโตรับชำระเงินในระบบเศรษฐกิจต้องติดตามแนวโน้มก่อน และเป็นเรื่องของภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควบคุมอย่างไรให้ราคาไม่ให้ผันผวน ถ้าเมื่อรับคริปโตแล้วราคาลงไป ผู้ประกอบการจะต้องทำอย่างไร กลัวอาจเหมือนปี 40 วิกฤติการเงิน ทำให้ยังระมัดระวังดูก่อน

ท้ายที่สุดแล้วต้องติดตามว่าภาคธุรกิจจะสามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปได้อย่างไร โดยจากมุมมองของคนรุ่นใหม่เป็นเสียงสะท้อนว่า โลกหลังโควิดต้องอยู่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับเศรษฐกิจไทยข้างหน้า ดังนั้นภาครัฐก็ควรจะสนับสนุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกอนาคตได้อย่างยั่งยืน.