จากตอนที่แล้วที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สะท้อนต่อข้อมูล กรณี “ชีวิตของพนักงานเก็บขยะมูลฝอย“ ซึ่งเป็นข้อมูลจากงานศึกษาวิจัยโดย นงนภัส ธรรมบรรเทิง ในฐานะนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ได้ฉายภาพเรื่องนี้ไว้ในหัวข้อ “การศึกษาคุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานเก็บขยะมูลฝอย” โดยเป็นการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 110 คนที่ทำอาชีพนี้ ซึ่งเป็นพนักงานในสังกัดของเขตพื้นที่หนึ่งในกรุงเทพฯ โดยในรายงานนั้นก็ได้ เสนอแนะให้ ’ปรับปรุงคุณภาพชีวิตการทำงาน“ ด้านต่าง ๆ ให้กับคนกลุ่มนี้ นับตั้งแต่ ’ด้านรายได้-ค่าตอบแทน“…
และก็ “รวมถึงด้านความปลอดภัย”
จาก “สิ่งที่อาจคุกคามสุขภาพ-ชีวิต”
โดย “กรณีสิ่งคุกคามชีวิตนี่ก็น่าคิด!!”
ทั้งนี้ วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะสะท้อนต่อข้อมูลกรณี “สิ่งคุกคามพนักงานเก็บขยะ” โดยเป็นข้อมูลจากบทความวิชาการเรื่อง “สิ่งคุกคามสุขภาพในพนักงานเก็บขนมูลฝอยและแนวทางการป้องกัน” ที่จัดทำไว้โดย ศราวุฒิ แสงคำ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และ จำลอง อรุณเลิศอารีย์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้มีการศึกษาและสะท้อนเรื่องนี้ไว้ว่า ’พนักงานเก็บขยะมูลฝอย“ เป็นอาชีพที่ ’มีความเสี่ยงต่อการได้รับสัมผัสสิ่งคุกคามทางสุขภาพ“ ทั้งจากปัจจัยเสี่ยงด้านกายภาพ-ชีวภาพ รวมถึงการบาดเจ็บ และสุขภาพจิต เพราะ…
ทำงานในสภาพแวดล้อมหลากหลาย
และจากการที่สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ก็ส่งผลทำให้ “ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น” และ “มีขยะหลากหลายขึ้น” ซึ่งทำให้พนักงานเก็บขยะ ’มีความเสี่ยง-มีอันตราย“ กว่าเดิม!! จากการที่ “ต้องเพิ่มระยะเวลาในการทำงาน” อันเนื่องมาจากปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้องสัมผัสขยะนานขึ้น จึง ’เพิ่มความเสี่ยง“ ต่อการบาดเจ็บจากเศษวัสดุสิ่งมีคม สารเคมี สารพิษ และเชื้อก่อโรคต่าง ๆ โดย “อันตราย” ที่พนักงานเก็บขยะเหล่านี้ต้องเจอ หรือต้องเผชิญในการทำงานนั้น คือ…
ปัญหาที่เรียกว่า “สิ่งคุกคามสุขภาพ”
ที่ “ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตคนเก็บขยะ”
ในบทความวิชาการดังกล่าวอธิบายคำว่า ’สิ่งคุกคามสุขภาพ“ ไว้ว่า…คือ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานได้ ทั้งที่ไม่มีชีวิต และมีชีวิต เช่น เครื่องจักรกล เครื่องยนต์ เสียง แสง การสั่นสะเทือน ความร้อน รังสี ก๊าซ ฝุ่นละออง เชื้อรา แบคทีเรีย และสัตว์พาหะนำโรคต่าง ๆ รวมถึงลักษณะการทำงาน ค่าตอบแทน และชั่วโมงทำงานด้วย โดยปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อคนทำงานได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่ง “สิ่งคุกคามทางสุขภาพ” แบ่งได้เป็น 4 ด้าน ดังนี้…
’สิ่งคุกคามด้านกายภาพ“ จะเป็นปัจจัยที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของการทำงาน หรือการปฏิบัติงาน เช่น อุณหภูมิ ความร้อนเสียง การสั่นสะเทือน ซึ่งสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ หากได้รับหรือสัมผัสเกินค่ามาตรฐาน หรือต้องได้รับหรือสัมผัสอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ โดยสิ่งคุกคามด้านกายภาพที่พนักงานเก็บขยะต้องเผชิญนั้น ก็จะมีอาทิ… เสียงเครื่องยนต์ จากการบีบอัดขยะของรถเก็บขยะ เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ทำให้ มีโอกาสสูญเสียการได้ยินแบบประสาทหูเสื่อม หรือจาก ภาวะความร้อน ที่ทำให้ ผิวหนังไหม้ เกิดภาวะขาดน้ำ
’สิ่งคุกคามด้านเคมี“ นี่เป็นอีกสิ่งคุกคามที่พนักงานเก็บขยะมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางสุขภาพ เช่น การสัมผัสฝุ่นละอองในขณะเคลื่อนย้ายถังขยะ ที่ อนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก จากมูลฝอยจะเกิดการฟุ้งกระจาย โดยมีผลศึกษาพบว่า… พนักงานเก็บขยะร้อยละ 40 จะ มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ และร้อยละ 31.9 มีสมรรถภาพปอดที่ผิดปกติ โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานที่มีอายุการทำงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ และนอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการ สัมผัสขยะอันตราย ที่มักจะถูกทิ้งรวมกันกับขยะทั่วไป จนทำให้ “พนักงานเก็บขยะ” นั้น…
เสี่ยงเกิดการสะสมสารพิษในร่างกาย
’สิ่งคุกคามด้านชีวภาพ“ เป็นสิ่งคุกคามทางสุขภาพที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในกลุ่มอาชีพพนักงานเก็บขยะเช่นกัน อาทิ… จากการ สัมผัสจุลินทรีย์ก่อโรค เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส และ สัมผัสสัตว์พาหะนำโรคต่าง ๆ รวมถึงจาก ขยะติดเชื้อ เนื่องจากพบว่า… บางพื้นที่นั้นไม่มีการคัดแยกขยะทั่วไปกับขยะติดเชื้อออกจากกันเฉพาะ ทำให้พนักงานเก็บขยะจึงมีโอกาสสูงที่จะสัมผัสขยะติดเชื้อเหล่านี้ ซึ่ง การสูดดมละอองชีวภาพเข้าไปจะทำให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจ
’สิ่งคุกคามด้านชีวกลศาสตร์“ ด้านนี้เป็น อันตรายที่เกิดจากลักษณะสภาพแวดล้อมการทำงาน ที่ก่อให้เกิดความเครียดหรือเกิดความกดดันสูง จนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น จากความรู้สึกเบื่อหน่ายในการทำงาน จากสถานที่ทำงานที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม จากระยะเวลาการทำงานที่ไม่ปกติ ซึ่งสามารถ ส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพจิต โครงสร้างร่างกายและกล้ามเนื้อ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดอุบัติเหตุได้ อีกด้วย …ต่าง ๆ เหล่านี้เป็น ’สิ่งคุกคามสุขภาพ“
’คุกคามชีวิต“ ของ ’พนักงานเก็บขยะ“
ที่ถือว่า ’มีความสำคัญ“ ต่อคนทั่วไป
’ควรได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต“.