โลก “ออนไลน์” มีคนพร้อมให้เราไปขอ “เพิ่มเพื่อน” หรือมาขอเพิ่มเพื่อนกับเรามากมาย ไร้พรมแดน!!!

ในมุมหนึ่งดีแต่อีกมุมก็ต้องระวัง เมื่อหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ถูกมิจฉาชีพแฝงตัวเป็น “บัญชีอวตาร” ใช้วิธีส่งคำขอเป็นเพื่อน เพื่อทำเรื่องร้าย ๆ ในภายหลัง

สัปดาห์แรกหลังล็อกดาวน์เข้มข้นรอบใหม่ เชื่อว่าหลายคนคงใช้เวลาอยู่หน้าจอ ท่องโลกออนไลน์มากกว่าปกติ เรื่องดังกล่าวจึงถูกหยิบยกมาเตือนภัยโดย พ.ต.อ.ศิริวัฒน์  ดีพอ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เผยสถิติการรับแจ้งความของ ปอท.เฉพาะ 6 เดือนแรกของปีนี้ ปรากฏว่ามีสื่อสังคมออนไลน์ถูกมิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางประทุษร้ายมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เฟซบุ๊ก ไลน์ ไอจี

การกดรับเพื่อนจากคำขอที่ส่งเข้ามา โดยคนไม่รู้จัก  และไม่คัดกรองบัญชี ถือเป็นเรื่องอันตรายเมื่อมีบุคคลไม่หวังดีบางส่วนใช้บัญชีอวตาร ที่มีลักษณะเป็นบัญชีไร้ตัวตน ใช้รูป ใช้ชื่อคนอื่น บ้างมาเป็นคำกลอน หรือใช้รูปทิวทัศน์ สิ่งของ การ์ตูน การกดรับคนไม่รู้จักโดยไม่ตรวจสอบ จึงเหมือนเปิดประตูให้คนร้ายเข้าบ้าน

สิ่งที่อาจต้องเจอมีตั้งแต่การถูกสอดส่อง ติดตามพฤติกรรม สถานที่ไป บ้านพัก สมาชิกในครอบครัว ไปจนกิจวัตรประจำวัน ซึ่งเหล่านี้สามารถนำไปสู่การใช้เป็นข้อมูลประทุษร้ายทั้งในโลกออนไลน์และโลกความจริง เช่น ถูกแฮกข้อมูล, การแชร์ข่าวหรือข้อมูลปลอม, การนำภาพหรือชื่อไปข่มขู่ คุกคาม หรือกระทั่งการหลอกลวงฉ้อโกงหลากรูปแบบ

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ แนะวิธีสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้บัญชีอวตารว่า ให้ดูธรรมชาติของผู้ใช้โซเชียลก่อนว่าสมัครแบบไหน ปกติจะเห็นว่าไม่ต้องมีการยืนยันตัวตน ใช้แค่อีเมล ทุกแฟลตฟอร์มก็จะให้บัญชีมาใช้งานโดยผู้ใช้สามารถเลือกรูปภาพและชื่ออะไรก็ได้ จึงมีบุคคลประเภทที่ใช้ “ช่องว่าง” ที่ไม่สามารถแยกแยะตัวเจ้าของบัญชีได้มาทำบัญชีอวตาร หรือบัญชีไร้ตัวตน บัญชีนิรนาม   

หากถามว่าทำไปเพื่ออะไร ก็ตอบได้ว่าเพื่อไปทำผิดในโลกออนไลน์ เช่น สมัครขอเป็นเพื่อนและก็ฝังตัวเพื่อดูพฤติกรรมของอีกฝ่ายว่าทำอะไร วันเดือนปีเกิดอะไร ก่อนแฮกข้อมูล หรืออาจหลอกลวงขายสินค้า เข้ามาฝังตัวอยู่ในเพจขายของ โดยใช้บัญชีอวตารโพสต์ขายของ หรือพวกโรแมนซ์สแกม ซึ่งจะมีจำนวนมากหน่อยที่ใช้รูปชาวต่างชาติทั้งชายและหญิงใส่ชุดดูดี นำรูปมาจากที่เปิดสาธารณะไว้มาลง เพื่อขอเพิ่มเพื่อนไปจีบก่อนลวงเงิน หรืออีเมลสแกมก็จะสามารถส่งมาหา บุคคลกลุ่มนี้สามารถไปก่ออาชญากรรมในโลกออนไลน์ได้

“ฝากเตือนว่าหากเห็นบัญชีพวกนี้ ไม่ใช่ว่าคุณจะกดรับเพื่อนไม่อั้น ควรระมัดระวังและตรวจสอบการรับเพื่อน ให้ดูพฤติกรรมการโพสต์ ว่ามีการโพสต์เป็นธรรมชาติหรือไม่ มีเพื่อนหรือคนในครอบครัวเข้ามาคอมเมนต์หรือเปล่าด้วย”

ทั้งนี้ แนะวิธีป้องกันบัญชีอวตารส่งคำเป็นเพื่อนว่า 1.ไม่ควรรับคนที่ไม่รู้จักเป็นเพื่อน  2.หากต้องการรับทั้งที่ไม่รู้จัก ให้ตรวจสอบจนแน่ใจว่ามีตัวตนอยู่จริง เช่น การโพสต์ แชร์เรื่องราวต่าง ๆ 3.ไม่ควรรับบัญชีที่ใช้ภาพวิว หรือไม่ใช้ชื่อ นามสกุล 4.หากเป็นคำขอเป็นเพื่อนจากคนไม่รู้จัก และบัญชีใช้รูปโปรไฟล์ดูดี มีฐานะ อ้างเป็นชาวต่างชาติ ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเป็นไปได้สูงที่เข้ามาเพื่อแสวงหาประโยชน์

5.ตรวจสอบประวัติการโพสต์ รูปภาพ จุดเช็กอิน ยันวันที่สร้างบัญชี หากเป็นบุคคลจริงมักโพสต์เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัว หรือแสดงความคิดเห็นในโพสต์คนใกล้ตัว และ 6.ไม่ควรตั้งค่าสาธารณะ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป เช่น ทรัพย์สินมีค่า พิกัดบ้านพัก จำนวนสมาชิก ช่วงเวลาที่อยู่บ้านคนเดียว หรือไม่มีคนอยู่.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]