เป็นที่ทราบกันดีว่าเด็กในวันนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต เพื่อให้สังคมไทยมีความรู้ความเข้าใจกับคำว่า “เด็ก” ที่ถูกต้องตรงกัน จึงขอนำความหมายของคำว่า “เด็ก” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 ซึ่งมี 6 ความหมายดังนี้

1.คนที่มีอายุน้อย

2.ผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

3.ผู้ที่อายุยังไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์และยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส

4.บุคคลที่มีอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์แต่ยังไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์

5.บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีลงมา

6.บุคคลผู้มีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์

โดยทั่วไปแล้วคงทราบกันดีว่า​เด็ก หมายถึง ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ เพศชายมีคำนำหน้าชื่อของตนว่า เด็กชาย เพศหญิงมีคำนำหน้าชื่อของตนว่า เด็กหญิง ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงที่กล่าวถึงนี้กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาตอนต้น-ตอนปลาย และชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

วันเสาร์สัปดาห์ที่สองในเดือนแรกของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติ สำหรับปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมได้มอบคำขวัญเนื่องในวันเด็กแห่งชาติในปีนี้ว่า​ “รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม” เป็นคำขวัญซึ่งให้หลักคิดที่ดี เป็นข้อคิดเตือนใจแก่เด็กในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และยังเป็นประโยชน์แก่คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพในการทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี

วันเด็กแห่งชาติในปีนี้คงต้องนำ​ปัญหาที่มีผลกระทบต่อเด็ก​ในการดำเนินชีวิตและการศึกษาเล่าเรียนมาให้สังคมไทยได้ร่วมกันพิจารณา เพื่อให้ครอบครัวและโรงเรียนซึ่งมีความใกล้ชิดกับเด็ก ได้ให้ความสำคัญกับการเอาใจใส่ในการดูแลเด็กภายใต้สถานการณ์การ​ระบาดใหญ่​ (pandemic) ของโควิด-19 ในทั่วโลกและประเทศไทย​ ซึ่งอุบัติขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมาต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2565 ในปัจจุบัน แนวทางการยับยั้งการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในแต่ละประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน​ คือ​ ปิดประเทศ ปิดเมือง (lock down) ซึ่งมีมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคม​ โดยผู้ใหญ่ต้องทำงานอยู่ที่บ้าน​ ไปที่ทำงานไม่ได้​ ในขณะที่เด็กเรียนหนังสือทางออนไลน์อยู่ที่บ้าน​ ไปโรงเรียนไม่ได้​ ส่งผลให้ประชาชนในแต่ละประเทศไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติดังที่เคยเป็นอยู่ แต่ต้องดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (new normal)

การสะท้อนสภาพปัญหาที่เกิดกับเด็กของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (​United Nations International Children’s Emergency Fund -​ Unicef)​ เ​ป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน จะต้องรับรู้ปัญหาและร่วมกันแสวงหาทางออกกับการแก้ปัญหาที่เกิดกับเด็ก​ ความรู้ความเข้าใจในบริบทของสภาพปัญหาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด จึงขอนำข้อมูลและสภาพการณ์ที่เกิดกับเด็กมาให้ได้พิจารณาไตร่ตรองกัน​ ดังนี้​

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของเด็กวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงไปมาก เด็กจำนวนหนึ่งอาจไม่สามารถปรับตัวกับการเรียนรูปแบบใหม่ จนเกิดผลกระทบต่อการเรียนและพัฒนาการหลายด้าน ทั้งผลกระทบต่อผู้ปกครองและครอบครัวก็ทำให้การเลี้ยงดูทำได้ไม่เต็มศักยภาพ ไม่สามารถใช้เวลาที่มีคุณภาพกับเด็กได้เพียงพอ ปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวเปลี่ยนแปลงจากการเจ็บป่วย การเว้นระยะห่างทางสังคม การงดกิจกรรมนอกบ้าน และการสวมหน้ากากอนามัย ทั้งนี้ การขาดความรู้ ความตระหนักในสุขภาพจิต ปัญหาการตีตรา และขาดแคลนทรัพยากรด้านสุขภาพจิต ทำให้หลายคนพลาดโอกาสได้รับการดูแล ซึ่งในประเทศไทยมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ในหน่วยงานรัฐประมาณ 200 คน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรวัยรุ่น 15 ล้านคน

กรมสุขภาพจิตได้ประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยอายุต่ำว่า 20 ปีกว่า 1.8 แสนราย ผ่านแอพพลิเคชั่น Mental Health Check-in ตั้งแต่ 1 ม.ค.63-30 ก.ย. 64 พบว่าวัยรุ่นมีความเครียดสูง ร้อยละ 28 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 32 เสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 22 ชี้วัยรุ่นเครียดสูง เข้าสังคมลดลง ติดจอและเกมออนไลน์มากขึ้น ยังพบบางรายทะเลาะกันในครอบครัวนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

ก่อนโควิดเด็กและเยาวชน ต่างแบกภาระทางสุขภาพจิตที่แทบไม่เคยถูกกล่าวถึงอยู่แล้ว ซึ่งจากการประเมินพบว่า เด็กอายุ 10-19 ปี กว่า 1 ใน 7 คนทั่วโลกมีความป่วยทางจิตที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ และวัยรุ่นเกือบ 46,000 คนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็น 1 ใน 5

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สาเหตุหลักของการเสียชีวิตในวัยรุ่นในประเทศไทย ระบุว่า เด็กและเยาวชนอายุ 10-29 ปี ราว 800 คนฆ่าตัวตายสำเร็จใน พ.ศ. 2562 ในขณะที่ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า เด็กวัยรุ่นอายุ 10-19 ปีกว่า 10,000 คน ได้โทรฯเข้าสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อขอรับคำปรึกษา ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ความเครียดและความวิตกกังวล ปัญหาความรัก และภาวะซึมเศร้า

องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ได้เผยแพร่รายงาน The State of the World’s Children 2021; On My Mind: promoting, protecting and caring for children’s mental health ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเด็กอย่างน้อย 1 ใน 7 คนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง ในขณะที่เด็กอีกมากกว่า 1,600 ล้านคนต้องเผชิญกับการเรียนรู้ที่หยุดชะงักลง และอาจจะต้องเผชิญกับผลกระทบด้านสุขภาพจิตต่อไปอีกหลายปี

ที่จริงแล้ว สภาพปัญหาที่เกิดกับเด็กในปัจจุบันยังมีอีกมากมายในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการศึกษา อาทิ ไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้อย่างถูกต้องตามหลักภาษาไทยและไม่เข้าใจความหมายของข้อความที่อ่าน ไม่มีสมรรถนะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self learning) ไม่มีอุปนิสัยรักการอ่าน ปัญหาด้านโภชนาการ อาทิ ไม่ได้รับประทานอาหารมื้อเช้าก่อนไปโรงเรียน รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ปัญหาด้านสุขภาพ อาทิ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non Communicable Diseases-NCDs) ทั้งโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคในช่องปาก เจ็บป่วยจากการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ปัญหายาเสพติด ปัญหาการดื่มสุรา ปัญหาการพนัน ปัญหาการใช้ความรุนแรง ฯลฯ

น่าเสียดายว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศนับถือพระพุทธศาสนาแต่ไม่ได้รับประโยชน์จากการนับถือพระพุทธศาสนาเลย เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีแต่ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ)  จึงกล้าประพฤติปฏิบัติทุจริตทั้งทางกาย วาจา ใจ ด้วยความไม่ละอายชั่ว ไม่กลัวบาป สังคมไทยจึงไม่มีความสงบสุขสมกับคำว่า “เมืองพุทธ”

อย่างไรก็ตามในโอกาสที่ยังอยู่ในห้วงเวลาต้นปีพุทธศักราช 2565 ขอเชิญฟังการสนทนาธรรม เรื่อง “รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2565 เวลา 09.00 – 10.00 น. ทางสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คลื่น เอ.เอ็ม. 1107 กิโลเฮิรตซ์ ทางเว็บไซต์ ผิดพลาด! การอ้างอิงการเชื่อมโยงหลายมิติไม่ถูกต้อง และเว็บไซต์ www.dhammahome.com เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในปีใหม่นี้และตลอดไป

ฟังธรรมเรื่อง “รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ
: สาระจากพระธรรม