แต่…ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายที่ควรช่ำชองการแยกแยะได้มากกว่าคนทั่วไป การทำผิดพลาดง่ายๆ เช่นนี้ ก็ทำชาวบ้านตาดำๆ ผิดหวังเหลือเกิน

เป็นอีกเรื่องฉาวโฉ่วงการสัปดาห์ที่ผ่านมากรณีมีพี่สาวของผู้เสียหายรายหนึ่ง ออกมาถ่ายทอดเหตุการณ์ “เหลือเชื่อ” ที่ไม่ได้แปลว่า “ปาฏิหาริย์” บอกเล่าเรื่องราวกลางดึกวันที่ 7 ม.ค.65 อ้างว่าน้องชายถูกขอตรวจค้นขณะขับรถผ่านด่านบริเวณถนนสุขุมวิทก่อนถึงทางเข้าซอยแบริ่ง พื้นที่สำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ

ขณะตรวจค้นเจ้าหน้าที่พบ “เกล็ดสีขาว” บรรจุซองใส เข้าใจว่าเป็นยาเค เมื่อนำไปชั่งน้ำหนักมีปริมาณ 4.31 กรัม จึงใส่กุญแจมือควบคุมตัว

ต่อมาผู้เสียหายติดต่อทางบ้าน จนพิสูจน์ได้ว่ายาเสพติดที่เข้าใจกันนั้น “ผิด” แท้จริงเกล็ดสีขาวบรรจุซองเป็นเกล็ดการบูร เรื่องราวยังไม่จบ เมื่อผู้เสียหายต้องการลงบันทึกประจำวัน กลับถูกข่มขู่

เหตุการณ์นี้ไม่เพียงความเสียหายส่วนบุคคล เพราะข้อเท็จจริงที่เผยออกมายังทำให้เกิดข้อกังวลและคำถาม ถึงมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของกำลังพล ไม่ว่าจะมีหน้าที่โดยตรง หรือเป็นอาสาสมัครตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ช่วยงาน

เมื่อต้องเป็นด่านหน้าสกัด “สิ่งผิดกฎหมาย” ก็ควรมี “องค์ความรู้” พื้นฐานมากพอ หรือต้องมากกว่า เพราะการหย่อนยานหรือคาดการณ์ผิดๆ สามารถกำหนดชีวิตผู้อื่นได้

ภายหลังเหตุการณ์ พ.ต.อ.อาทิตย์ ซิ้มเจริญ ผกก.สภ.สำโรงเหนือ เซ็นยกเลิกคำสั่งการปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัคร ขณะที่พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ ออกคำสั่งให้ตำรวจ 4 นาย ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ย้ายไปประจำการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธร จ.สมุทรปราการ พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิดขึ้น 

ขณะที่คำถามใหญ่คือจะทำอย่างไรไม่ให้ผิดพลาดซ้ำๆ พบว่าเห็น “จุดอ่อน” ตรงกันคือ “องค์ความรู้” ต้องทบทวนให้มากขึ้น เป็นไปได้ก็ควรจัดชุดทดสอบผู้ปฏิบัติ เพื่อวัดประสิทธิภาพทั้งองค์ความรู้พื้นฐาน และองค์ความรู้ใหม่ ๆ

เพราะหากย้อนกลับไปช่วงปลายปี 63 เคยเกิดเหตุการณ์ “หน้าแตก” แทบแทรกแผ่นดินหนีมาแล้วครั้งหนึ่ง ที่น่าตกใจคือเกิดขึ้นกับปฏิบัติการจับกุมที่เรียกกันว่า “ลอตมโหฬาร”

ครั้งนั้นมี สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นำทีม รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ปรากฏภาพตรวจยึดของกลางในโกดังขนาดใหญ่พื้นที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ถูกระบุว่าเป็นสารเสพติด เคตามีน หรือ ยาเค รวมน้ำหนักกว่า 11 ตัน ถือเป็นการตรวจยึดลอตใหญ่เป็นประวัติการณ์

ก่อนต่อมาคดีพลิก ชนิดที่สร้างประวัติศาสตร์เช่นกัน เมื่อปรากฏผลตรวจของกลางที่บรรจุในกระสอบเหล่านั้นเป็น “สารไตรโซเดียมฟอสเฟต” ซึ่งมีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง ไม่ใช่สารเสพติดประเภท “ยาเค”

เป็นเรื่องราวโอละพ่อ ที่ รมว.ยุติธรรม ผู้รับผิดชอบ ป.ป.ส.หน่วยงานในสังกัด ต้องออกมายอมรับความผิดพลาดทางวิชาการในภาคสนาม ระบุเป็น “สารตัวใหม่” ที่ ป.ป.ส.ยังไม่เคยเจอว่าจะให้ “สารสีม่วง” เช่นเดียวกัน เนื่องจากชุดทดสอบเบื้องต้นพบว่าให้สารสีม่วงที่มีลักษณะบ่งชี้องค์ประกอบของเคตามีน แต่เมื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์พบว่าเป็นสารไตรโซเดียมฟอสเฟต

“เนื่องจากผลการตรวจเบื้องต้นพบว่ามีสีม่วง เป็นสิ่งที่ ป.ป.ส.ไม่เคยพบมาก่อนว่าไตรโซเดียมฟอสเฟตให้ผลการตรวจเป็นสีม่วง ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับเคตามีน” รมว.ยุติธรรม ยอมรับในขณะนั้น

ความผิดพลาดที่ชี้ให้เห็นจุดอ่อนด้านองค์ความรู้ของผู้เกี่ยวข้องซ้ำ ๆ กันอย่างนี้ ตอกย้ำว่าท่ามกลางปัญหายาเสพติดที่มีอยู่เกลื่อนกลาดในสังคม ไม่ใช่การปราบปรามที่ต้องปรับกลยุทธ์อยู่ตลอด ศักยภาพของผู้ปฏิบัติก็ควรปรับไม่ให้ตกมาตรฐานด้วย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]