เป้าหมายหลักของ ก.ม.เน้นยึดทรัพย์ตัดวงจรผู้ค้ารายใหญ่ เปลี่ยนแปลงหลักการกำหนดโทษแนวใหม่ให้ได้สัดส่วน ยึดพฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งคดี จากเดิมใช้หลักการ “สันนิษฐาน” เปลี่ยนเป็นใช้ “ดุลพินิจ”

จุดนี้เป็น “ข้อดี” เพราะทำให้เกิดความยืดหยุ่นต่อการพิจารณาคดี “โฟกัส” ไปที่ผู้ค้ารายใหญ่จริงๆ ไม่เน้นปริมาณครอบครอง โดยความผิดในข้อหาผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก มีไว้ครอบครอง หรือนำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ จะมัดรวมกันอยู่ในมาตราเดียวคือ มาตรา 90

ดังนั้น ไม่ว่าผู้ต้องหาจะครอบครองยาบ้า 1 เม็ด 10 เม็ด 100 เม็ด หรือ 1 ล้านเม็ด อัตราโทษจะอยู่ในระนาบเดียวกันตามมาตรา 145 “เว้นแต่” มีเหตุฉกรรจ์ที่ต้องรับโทษหนักขึ้น เช่น กรณีทำเพื่อการค้า ใช้อาวุธ กระทำในลักษณะแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน จำหน่ายให้บุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี ฯลฯ มี “โทษหนัก” จำคุกสูงสุด 15 ปี ปรับ 1แสน ถึง 1.5 ล้านบาท ต้องถูกตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งกระบวนการนี้แม้ศาลสั่งยกฟ้อง หรืออัยการสั่งยุติ แต่มาตรการตรวจสอบทรัพย์สินยังมีอยู่และดำเนินการต่อได้

ปัญหาอยู่ที่ข้อหา “ครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อเสพ” ซึ่งไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรง จะไม่มีกระบวนการตรวจสอบทรัพย์สิน และมีอัตราโทษเบา ผู้ปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมทั้งตำรวจ และอัยการจะต้องใช้เทคนิคสืบสวนและการดำเนินคดี เช่น การสืบหาข่าวจากแหล่งข่าว ปริมาณครอบครอง ผลตรวจปัสสาวะ ซื้อยาจากใคร ดูประวัติการประกอบอาชีพ ฐานะการเงิน ข้อมูลโทรศัพท์ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงแห่งคดี

“ปิดช่อง” ผู้ค้ารายใหญ่ใช้ “ทริค” อ้างครอบครองเพื่อเสพ เลี่ยงการถูกลงโทษหนัก-ยึดทรัพย์

ในประเด็นนี้ นายโกศลวัฒน์  อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลเเขวง โพสต์เฟซบุ๊กแสดงข้อห่วงใยการอุดช่องโหว่ของอัยการ หากเจ้าหน้าที่จับกุมคิดแสวงหาประโยชน์จากผู้ค้ารายย่อยที่ครอบครองไม่ถึง 100 เม็ด โดยเขียนสำนวนให้กลายเป็นผู้เสพ และกลุ่มผู้ค้ารายเดิมก็กลับมากระทำผิดซ้ำอีก เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า กรณีเรียกทรัพย์จากผู้กระทำความผิดเพื่อให้ข้อหาเบาลง ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีโทษสถานหนักอยู่แล้ว

ในการพิจารณาสำนวนของพนักงานอัยการนั้น ไม่ได้พิจารณาแค่ข้อหาที่พนักงานสอบสวนแจ้ง แต่จะพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนด้วยว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดในข้อหาใด หากเห็นว่าการแจ้งข้อหาไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง ก็จะให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้ถูกต้อง หากตรวจสำนวนแล้วไม่เข้าองค์ประกอบในข้อหาครอบครองเพื่อเสพ ก็จะส่งสำนวนไปที่สำนักคดียาเสพติดพิจารณาโทษหนัก

ดังนั้น ไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครใช้โหว่นี้ได้ ทั้งนี้ ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 143 และขณะเดียวกันสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีมาตรการรตรวจสอบ กวดขันการจับกุม ซึ่งเคยปรากฏมาแล้วว่าประชาชนสามารถร้องเรียนผู้บังคับบัญชาในระดับสูงให้ลงมาดูแลให้ความยุติธรรมกันมาตลอด มีปัญหาจึงควรต้องเริ่มด้วยการร้องเรียน เพื่อประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมโดยรวม สำหรับสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วมีระเบียบในการร้องขอความเป็นธรรมที่พนักงานอัยการทุกคนจะต้องปฏิบัติ การไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือกฎหมายถือเป็นความผิด แนวทางการปฏิบัติราชการจึงสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือข้อกังวลขั้นตอนจับกุม “ข้อเสีย” อย่างหนึ่งในข้อหามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องปริมาณในครอบครองจำนวนน้อยคือเท่าไหร่ เพราะยังไม่มีกฎกระทรวงสาธารณสุขประกาศออกมา หากผู้ต้องหารับสารภาพก็ต้องฟ้องด้วยวาจาภายใน 48 ชม.

สำหรับโทษในข้อหานี้ เป็นโทษเบา ก.ม.ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาโดยคำนึงถึงการสงเคราะห์ให้จำเลยเข้ารับการบำบัดหรือหากจะลงโทษก็ให้คำนึงถึงความร้ายแรงของความผิดในแต่ละคดี ผลร้ายแรงตามประเภท ปริมาณ  ข้อเท็จจริง แต่ ก.ม.ใหม่ระบุว่าการเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูให้เป็นความสมัครใจ

ปัญหาคือหากปัสสาวะ “สีม่วง” แต่จำเลยไม่ประสงค์เข้าฟื้นฟูก็ทำอะไรไม่ได้  ยิ่งไปกว่านั้นจะส่งผู้ที่สมัครใจไปที่ใด เพราะยังไม่มีประกาศกระทรวงเรื่องสถานบำบัดออกมา

“คลิกออฟ” ประมวลกฎหมายยาเสพติดแม้หน่วยงานกระบวนการยุติธรรมจะประชุมพร้อมออกแนวปฏิบัติในประเด็นใหม่ๆ รวมถึงตัวร่างฟ้อง และข้อพิจารณาต่างๆ ก่อนประกาศใช้จริง แต่ก็ยังมีคำถาม หลายเรื่องชวนคิด รวมถึงกฎกระทรวงสาธารณสุขที่ยังไม่ออกมา ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสับสน เห็นได้จากข้อถกเถียงปม “กัญชา” ซึ่งจากนี้ได้แต่หวังการเร่งผลักดัน ก.ม.ลูกออกรองรับ เพิ่มความชัดเจนสักที.  

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]