@@@@ ชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักเป็นเวลากว่าสัปดาห์ ขณะที่ชุมชนต่างๆ เริ่มสำรวจซากปรักหักพังของน้ำท่วมฉับพลันที่คร่าชีวิตผู้คน ซึ่งทำให้เมืองต่างๆ ดูเหมือนอยู่ในเขตสงคราม ชายฝั่งทางเหนือของนิวเซาธ์เวลส์และควีนส์แลนด์ตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้าย “หนึ่งใน 1,000 ปี” ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 17 คน ผู้คนกว่าครึ่งล้านอาจต้องเจอคำสั่งอพยพในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เนื่องจากมีฝนตกเพิ่มเข้ามาในพื้นที่ที่กำลังประสบภัยจากน้ำท่วม ความพยายามในการช่วยเหลือยังคงดำเนินต่อไปในออสเตรเลียตะวันออกหลังจากฝนตกหนักหลายวันทั่วทั้งรัฐนิวเซาท์เวลส์และควีนส์แลนด์ ซึ่งทำให้ที่อยู่อาศัยหลายพันแห่งและย่านใกล้เคียงทั้งหมดอยู่ใต้น้ำ เจ้าหน้าที่พยากรณ์อากาศของ AccuWeather กล่าวว่ามีฝนตกมากขึ้นเรื่อย ๆ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเตือนว่าผู้คนกว่าครึ่งล้านอาจต้องเผชิญกับคำสั่งอพยพในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา น้ำที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 17 รายและหลายพันคนอยู่ภายใต้คำสั่งอพยพ นาย Dominic Perrottet มุขมนตรีนิวเซาท์เวลส์กล่าวผ่าน Reuters “เราเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ จะแย่ลงก่อนที่จะดีขึ้นในรัฐ” แผนกฉุกเฉินได้ส่งเรือไปช่วยเหลือชาวบ้านจากน้ำท่วมที่เพิ่มขึ้น และเฮลิคอปเตอร์ช่วยส่งคนที่ติดอยู่บนหลังคา ……………. นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย นายสกอตต์ มอร์ริสัน ซึ่งเพิ่งประกาศว่าเขามีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกเมื่อวันอังคาร กล่าวว่ารัฐบาลจะยังคงให้ความสำคัญกับการตอบสนองฉุกเฉินต่อเหตุการณ์น้ำท่วมในรัฐนิวเซาท์เวลส์และควีนส์แลนด์ เมืองที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดเมืองหนึ่งคือ ลิสมอร์ Lismore เมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ห่างจากบริสเบนทางใต้ประมาณ 125 ไมล์ (200 กม.) ในตัวเมืองลิสมอร์ ถนนสายต่างๆ กลายเป็นแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกรากไปแล้ว ระดับน้ำเข้าใกล้ชั้นสองที่สองของอาคารย่านธุรกิจในท้องถิ่น ระดับน้ำในแม่น้ำริชมอนด์ ในเมืองวูดเบิร์น Woodburn ซึ่งอยู่ใกล้เคียง เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในวันจันทร์ ส่งผลให้มีรถยนต์หลายสิบคันติดอยู่บนสะพาน เมื่อปลายสะพานทั้งสองข้างอยู่ใต้น้ำ นักเดินทางต้องร้องขอความช่วยเหลือ คน 50 รายที่ติดอยู่บนสะพานได้รับการช่วยชีวิตจากเจ้าหน้าที่เมื่อต้นวันอังคารที่ผ่านมา ……………… แอชลีย์ สแลป ผู้บัญชาการหน่วยบริการฉุกเฉินของวูดเบิร์น เผยว่า “เราไม่มีความสามารถที่จะช่วยพวกเขาออกมาในความมืด ดังนั้นเราต้องทำให้มั่นใจว่าพวกเขาจะปลอดภัย และเราก็ไปในเช้าวันนี้เพื่อเอาพวกเขาออกมาให้หมด” ในขณะเดียวกัน ซิดนีย์รายงานว่ามีฝนตกมากกว่า 9 นิ้ว (ประมาณ 230 มม.) ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเกือบสามเท่าของปริมาณฝนปกติที่เมืองได้รับตลอดทั้งเดือน

……………. ฝนตกหนักถล่มเมืองหลวงบริสเบนและพื้นที่ล้อมรอบจนถึงวันจันทร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย และสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและธุรกิจมากกว่า 17,000 หลัง ปริมาณน้ำฝน 739 มม. ตกลงมาในเวลาเพียงสี่วัน เกือบ 75% ของค่าเฉลี่ยรายปี เมื่อวันศุกร์ โรงเรียนทุกแห่งในรัฐควีนส์แลนด์ตะวันออกเฉียงใต้ปิดทำการ นาง Annastacia Palaszczuk มุขมนตรีแห่งรัฐควีนส์แลนด์ได้เตือนชาวควีนส์แลนด์กำลังใช้ชีวิตผ่าน “ช่วงเวลาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” “โดยพื้นฐานแล้วฉันอาศัยอยู่ในบริสเบนมาทั้งชีวิต และฉันไม่เคยเจอพายุและน้ำท่วมแบบนี้ที่พัดมาที่เราพร้อมกันในคราวเดียว” เธอกล่าว

น้ำท่วมจากฝนตกหนักตั้งแต่ปลายสัปดาห์หลายวันติดกันส่งผลให้ชายฝั่งทางเหนือของนิวเซาธ์เวลส์และควีนส์แลนด์ตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้าย “หนึ่งใน 1,000 ปี” ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 17 คน จมอีกหลายเมืองในรัฐทั้งสอง

@@@@ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ขอรายงานเหตุการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนส์แลนด์ (QLD) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา ดังนี้ 1. พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีชุมชนพำนักอาศัยเป็นจำนวนมากและติดริมแม่น้ำ ได้แก่ นครบริสเบน พื้นที่ในบริเวณ Fraser Coast, Gympie, Ipswich, Lockyer Valley, Logan, Moreton Bay, Noosa, North Burnett, Somerset และ Sunshine Coast 2. ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบโดยหลายครัวเรือนต้องอพยพออกจากพื้นที่พักอาศัย การสัญจรไม่สามารถดำเนินไปได้ หน่วยงานท้องถิ่นได้รีบเร่งให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย 3. ต่อมา สถานการณ์น้ำท่วมได้ขยายพื้นที่ครอบคลุมทางตอนเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลส์ (NSW) โดยเฉพาะในบริเวณเมือง Lismore (ห่างจากนครซิดนีย์ประมาณ 750 กิโลเมตร) และบริเวณโดยรอบ 4. รายงานข่าวปรากฏว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วมทั้งใน QLD และ NSW แล้วมากกว่า 10 ราย และคาดว่าอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมถึงประชาชนไร้ที่พักอาศัย และประชาชนหลายหมื่นคนใน QLD ไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียพยากรณ์ว่า จะยังคงมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คลี่คลายในเร็ววัน 5. โดยที่มีคนไทยพำนักอาศัยอยู่ใน QLD และ NSW เป็นจำนวนมาก สอท. ณ กรุงแคนเบอร์ราและ สกญ. ณ นครซิดนีย์ จึงมีความห่วงใยและได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนประชาสัมพันธ์พร้อมแจ้งเตือนคนไทยให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากรัฐและทางการท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด 6. ในชั้นนี้ ยังไม่มีรายงานว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ ทั้งนี้ สอท./สกญ. ได้แจ้งคนไทยให้ สามารถติดต่อ สอท. ได้ที่โทร. ฉุกเฉิน + 61 (0)402 735 642 และ + 61 (0)429 597 191 หรืออีเมลที่ [email protected] และ สกญ. ที่โทร. ฉุกเฉิน + 61 (0)411 424 303

@@@@ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา พร้อมด้วยนายศิระ สว่างศิลป์ อัครราชทูต และนายสมิท ธรรมเชื้อ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ได้พบหารือกับ Professor Andrew Campbell ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิจัยด้านการเกษตรนานาชาติของออสเตรเลีย (Australian Centre for International Agricultural Research : ACIAR) ที่สำนักงานใหญ่ของศูนย์ฯ กรุงแคนเบอร์รา Professor Andrew Campbell และคณะผู้บริหารศูนย์ฯ ได้แก่ Dr. Peter Horne ผู้จัดการทั่วไปด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ (Country Partnerships) Dr. Julianne Biddle ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือพหุภาคี และ Ms. Irene Kernot ผู้จัดการโครงการด้านพืชสวน ได้บรรยายสรุปให้คณะฯ รับทราบเกี่ยวกับภารกิจของศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ภายใต้การกับดูแลของกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย มีหน้าที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมการวิจัยด้านเกษตร ประมง ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศกับประเทศผู้รับความช่วยเหลือจำนวน 34 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ แปซิฟิกใต้ และแอฟริกาตะวันออก ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทย ACIAR ได้ร่วมดำเนินการวิจัยกับหน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการของไทยมาตั้งแต่การเริ่มก่อตั้งศูนย์ฯ ระหว่าง พ.ศ. 2525 จนถึงปี 2562 ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือไทยโดยตรงได้ลดน้อยลงเนื่องจากประเทศไทยได้ปรับบทบาทจากผู้รับเป็นผู้ให้ แต่ยังคงรับความช่วยเหลือทางวิชาการและมีความร่วมมือกับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ในโอกาสดังกล่าว เอกอัครราชทูตฯ และคณะได้หารือกับผู้บริหารศูนย์ฯ เรื่องแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างไทยและออสเตรเลียในสาขาที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือและการค้นคว้าวิจัยที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกันและความเป็นไปได้ในการต่อยอดโครงการ การพัฒนาด้านเกษตรในประเทศที่สามต่อไปด้วย อนึ่ง เมื่อเดือนธันวาคม 2564 Senator the Hon Marise Payne รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียได้แต่งตั้ง ดร. เสริมสุข สลักเพชร อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นที่ปรึกษาในคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายเกี่ยวกับการค้นคว้าวิจัยการเกษตรระหว่างประเทศของ ACIAR ด้วย

เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์ราพบหารือกับ Professor Andrew Campbell ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิจัยด้านการเกษตรระหว่างประเทศของออสเตรเลีย (ACIAR) ที่สำนักงานใหญ่ของศูนย์ฯ กรุงแคนเบอร์รา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565

@@@@ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์ ฝากเตือนคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยและคนไทยในออสเตรเลียที่มีญาติพี่น้องในประเทศไทยที่ต้องการเดินทางมาทำงานในประเทศออสเตรเลียว่า ระวังถูกหลอกให้เดินทางไปทำงานที่ออสเตรเลียโดยโครงการวีซ่าเกษตร มิจฉาชีพจะหลอกลวงว่าจะพาไปทำงานภาคเกษตรกรรม เก็บผลไม้หรือทำงานฟาร์มที่ออสเตรเลีย มีรายได้ดี สวัสดิการดี และขอเรียกเก็บเงินล่วงหน้าจำนวนมาก เป็นค่าวีซ่าและค่าดำเนินการ ความจริงก็คือ โครงการวีซ่าเกษตรยังไม่เริ่มดำเนินการ ปัจจุบันโครงการวีซ่าเกษตรยังอยู่ในขั้นตอนเจรจาหารือกับฝ่ายออสเตรเลียในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดและเงื่อนไขการดำเนินโครงการเมื่อฝ่ายไทยและออสเตรเลียได้จัดทำข้อตกลงโครงการวิชาเกษตรแล้วจะมีการประกาศให้ทราบต่อไป …………… คำเตือน ข้อแรก โปรดอย่าหลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อบุคคลที่ชักชวนหรือหลอกลวงว่าสามารถทำวีซ่าเกษตรให้ท่านเดินทางไปทำงานที่ออสเตรเลียได้ ข้อสอง โปรดศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานในออสเตรเลียให้ถูกต้องตามกฏหมายและการขอวีซ่าให้ถูกประเภทกับวัตถุประสงค์ของการเดินทาง ข้อสาม โปรดตรวจสอบข้อมูลนายจ้างหรือผู้ที่ชักชวนไปทำงานรวมทั้งสัญญาจ้างงานอย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจเดินทางไปทำงาน ข้อสุดท้าย ออสเตรเลียมีกฎหมายที่กำหนดโทษรุนแรงเกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศหรือการทำงานโดยผิดกฎหมาย

@@@@ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนางมาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับออสเตรเลีย โดยฝ่ายออสเตรเลียเน้นย้ำการสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 และนางเพย์นแสดงความสนใจที่จะเดินทางเยือนไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ทั้งนี้ การหารือดังกล่าวมีขึ้นในช่วงระหว่างการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก (Ministerial Forum for Cooperation in the Indo-Pacific) ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียในระหว่างการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

@@@@ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นางหัทยา คูสกุล กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ และนายชาลี กาญจนกุญชร รองกงสุลใหญ่ฯ ได้เข้าร่วมงาน Breakfast with a Cop 2022 จัดโดย Fairfield City Police Area Command เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจ และหัวหน้าชุมชนต่าง ๆ ในเขต Fairfield นาย Brett McFadden Detective Superintendent Commander ผู้บังคับการตำรวจ เขต Fairfield ประธานจัดงาน ได้กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ร่วมมือกับตำรวจในการช่วยกันดูแลให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของชุมชนในพื้นที่เขต Fairfield ซึ่งเป็นชุมชนที่มีประชากรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาศัยอยู่ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ซึ่งตำรวจและผู้ประสานงานด้านพหุวัฒนธรรมได้ทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนอย่างใกล้ชิด และได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการมีเครือข่ายผู้นำชุมชน และผู้ประสานงานด้านพหุวัฒนธรรมที่สามารถรับฟังและเข้าช่วยเหลือดูแล จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ชุมชนได้ ในโอกาสนี้ กสญ. ได้พบหารือกับผู้ประสานงานพหุวัฒนธรรมของชุมชนไทยในพื้นที่ และหารือแนวทางการประสานงานในการให้คำปรึกษา ให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือชุมชนไทยในพื้นที่ต่อไป

กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ได้เข้าร่วมงาน Breakfast with a Cop 2022 จัดโดย Fairfield City Police Area Command เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจ และหัวหน้าชุมชนต่าง ๆ ในเขต Fairfield เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565

@@@@ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 มีข่าวที่น่ายินดีของสาวไทยในเมืองโอเบอร์รี่ Albury สาวจากอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ น้องเจน มนัสชญา มาลี ได้กลายเป็นเจ้าสาวป้ายแดง โดยหนุ่มใหญ่ชาวออสเตรเลียน เจ้าของธุรกิจโรงรับจำนำ จอห์น กลิสต์ John Gyoles ขอเป็นเจ้าบ่าว ลงทุนจัดพิธีมงคลสมรสอย่างสมเกียรติและสมศักดิ์ศรีขอสาวไทย เดลินิวส์ขอแสดงความยินดีด้วย เจนก็เหมือนสาวไทยคนอื่นๆที่สู้ชีวิตและปัญหาที่เมืองไทย ทั้งด้านชีวิตส่วนตัว ไม่ประสบควาสำเร็จทางด้านครอบครัว แยกทางกันโดยเธอรับภาระเลี้ยงดูลูกทั้งสองคนเอง และการทำมาหาเลี้ยงดูครอบครัวที่ไม่ค่อยคล่องตัวนัก คนเราก็ย่อมแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าโดยเริ่มจากการชักชวนของเพื่อนให้มาทำงานที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ตตำแหน่งพนักงานต้อนรับ ที่ โรงแรม เลปัสเพส เธอเล่าว่า “เลิกกับพ่อเด็ก เจนการศึกษาน้อย เจนเป็นเด็กบ้านนอก เด็กดอย เรียนที่ดอยเต่า โรงเรียนชื่อ ศูนย์อพยพแปลง14 แล้วไป เรียนต่อ ที่ รร. บ้านแอ่นจัดสรร จบแค่ ม.6 เองคะ เจอเจ้านายใจดีที่โรงแรม อยุ่หน้าหาดป่าตอง แต่ตอนนี้ปิดไปแล้วคะ แล้วที่นี่ทำให้เจนได้พบผู้ใหญ่ใจดีที่ต้องการช่วยเหลือและให้โอกาสมาอยู่และทำงานที่ออสเตรเลีย คุณปีเตอร์ เป็น Accountant ชวนมาเที่ยวก่อน เจนมาอยู่ได้ 3 เดือน แล้วก็กลับไป แล้วแกก็ให้เจนมาอีก คราวนี้เจนตั้งใจมาอยู่แล้วเพราะเจนต้องเลี้ยงดูพี่ชายที่ป่วยเป็นอัมพาตติดเตียงและมีพ่อแม่ที่แก่ตัวพร้อมกับลูกชายสองคนที่เกิดจากการการสมรสกับสามีครั้งแรก ภาระเยอะ อยากทำงาน คุณปีเตอร์ก็ไม่ชอบ ไม่อยากให้ทำ เจนก็ไปทำงานฟาร์ม ได้เงินมากมายเมื่อเทียบกับเมืองไทย ก็ทำมาเรื่อย พร้อมกับเรียนภาษาอังกฤษ เจนได้ใช้ชีวิตพักใหญ่ด้วยการศึกษาดูใจกับคุณปีเตอร์และในที่สุดก็คุยกันถึงเรื่องการแต่งงาน มันไม่ได้เป็นอย่างที่ฝัน คุณปีเตอร์นั้นรับเฉพาะเจน เมื่อปรึกษาว่าจะเอาลูกชายทั้งสองมาอยู่ด้วย คุณปีเตอร์ก็ปฏิเสธ บอกว่าอยากจะมีชีวิตส่วนตัวอยู่กับผู้ใหญ่ผู้ใหญ่มากกว่าไม่สามารถอยู่ร่วมกับเด็กเล็กๆได้เพราะไม่คุ้นชิน จึงได้ตกลงแยกทางกันและเปิดทางให้เจนได้มีชีวิตใหม่อีกครั้ง เจนเดินออกมาเฉยๆนะคะ ได้รถคันหนึ่งกับเงิน $3,000 ก็โอเคนะ เขาให้ชีวิตใหม่เรา ได้ PR ก็เพราะเขา เราก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน แกชอบเจนเพราะเจนไม่ขออะไรเลยตอนแยกทางกัน ให้ก็ให้ ไม่ให้ก็ไม่เอา” ……………… ช่วงเวลาที่ยากลำบากเจนต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองเหมือนหญิงไทยทั่วไปนั่นคือ การไปทำงานที่ฟาร์มต่อจากนั้นก็ทำที่ร้านอาหารไทยและในที่สุดก็ได้ทำงานที่ร้านนวดไทย พยายามตั้งไจทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระทางบ้าน จนกระทั่งได้พบกับ John Gyoles นักธุรกิจของเมืองโอเบอร์รี่ที่ประทับใจในความที่เจนเป็นคนรักครอบครัว อ่อนน้อมถ่อมตน มีมารยาท จนผูกใจรักและศึกษานิสัยใจคอกันใช้เวลานานพอสมควร จอห์นยินดีที่จะรับอุปถัมภ์ลูกชายทั้งสองคนของเจนให้มาอยู่ออสเตรเลียเพื่อให้แม่และลูกได้ใกล้ชิดกันในที่สุดทั้งเจนและจอห์นจึงได้ตัดสินใจร่วมชีวิตกัน และจะเดินทางไปรับเด็กทั้งสองในปลายเดือนมีนาคมนี้ ปัจจุบันเจนเป็นเจ้าของร้านนวดแผนไทยเล็กๆ ชื่อ มนัสชญา ที่มีเตียงนวดบริการ 4 เตียง จากเด็กดอยที่จบเพียงมัธยมศึกษาปีที่หกเท่านั้น ก็สามารถที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจได้และสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ เป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมของคนสู่ชีวิตในออสเตรเลียขอให้เธอประสบผลสำเร็จกับความฝันที่ตั้งใจไว้และมีความสุขในชีวิตสมรสตลอดไป Manatchaya Thai Massage Address: 477A Dean St, Albury NSW 2640 Phone: 0483 865 971

งานฉลองมงคลสมรส ระหว่าง มนัสชญา มาลี และ หนุ่มใหญ่ชาวออสเตรเลียน เจ้าของธุรกิจโรงรับจำนำ John Gyoles ท่ามกลางเพื่อนสนิทและญาติมิตรร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมี ป้าตุ่ม พิศสมร สิงหเมธา ทำหน้าที่แทนแม่เจ้าสาวและเป็นโฆษกในงานเลี้ยง

มนัสชญา มาลี กับร้านนวดแผนไทยเล็กๆของเธอ ชื่อ มนัสชญา Manatchaya Thai Massage ในเมือง Albury ที่มีเตียงนวดบริการ 4 เตียง ซึ่งเป็นธุรกิจหาเลี้ยงชีพสามารถส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัวได้

@@@@ อีกหนึ่งงานวิวาห์ที่จัดว่าเป็นงานช้างอีกงาน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 อาทิตย์ที่ผ่านมา นักธุรกิจหนุ่มใหญ่ เจมส์ กิตติศักดิ์ และนิต้า โสรัตนชัย ยกลูกสาวคนสวย เอมี่ ฐิตาภา โสรัตนชัย ลูกสาวคนสุดท้องที่แหนหวงให้หนุ่มเวียตนาม Danny Tran ที่คบกันมาตั้งแต่เรียนไฮสคูลจนจบมหาวิทยาลัย โดยมีพิธีทั้งไทย เวียตนามและสากล เริ่มเวลา 8.00 น. ขบวนขันหมากยกมา มีเถ้าแก่ฝายชายเป็นปู่กับย่าของเจ้าบ่าวนำขบวนมา พร้อมเพื่อนเจ้าบ่าวในชุดประจำชาติเวียดนาม พิธีการตามประเพณีไทยมีขบวนขันหมากโดยปู่ฝ่ายชายเป็นคนมาเจรจาสู่ขอ มีการยกน้ำชาให้กับพ่อและแม่ของเจ้าสาว หลังจากนั้นยกขบวนไปทำพิธีต่อที่บ้านเจ้าบ่าว โดยไม่ให้พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวติดตามไป นัยว่าเป็นประเพณีของเวียตนาม ……………… ในช่วงเย็น มีการเลี้ยงฉลองมงคลสมรส ที่ ห้อง Tea Room ใน Queen Victoria Building Town Hall เปิดงานเมื่อเวลา 17.15 น. โดยเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสมรส 2 คน เจ้าสาวควงคู่มากับคุณพ่อเพื่อมาส่งต่อเจ้าบ่าว มีการกล่าวอวยพรของเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสมรส เวลา 17.30 น. ร่วมรับประทานอาหาร ระหว่างนั้นคุณพ่อเจ้าสาวและคุณพ่อเจ้าบ่าวขึ้นกล่าวทักทายและขอบคุณแขก เล่นเอาแขกที่มาในงานเป็นปลื้มกัน แต่ที่ประทับใจแขกในงานที่สุด คือ ตอนเจ้าบ่าวพูดความในใจตั้งแต่คบกันมาจนถึงตกลงที่จะมาใช้ชีวิตร่วมกัน เจ้าสาวถึงกับสะอึกสะอื้นเล่นเอาพี่ป้านาอาแอบเช็ดน้ำตากันเป็นแถว ด้วยอํธยาศัยของเจ้าสาวที่มีมารยาทนุ่มนวลมาตั้งแต่เป็นเด็กครองใจหลายต่อหลายคน

งานเลี้ยงฉลองมงคลสมรสระหว่าง ฐิตาภา โสรัตนชัย ลูกสาวคนสุดท้องของ กิตติศักดิ์ และนิต้า โสรัตนชัย กับหนุ่มเวียตนาม Danny Tran ในช่วงค่ำที่จัดขึ้น ที่ ห้อง Tea Room ใน Queen Victoria Building Town Hall นครซิดนีย์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565

@@@@ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา คณะทีมงานของสมาคม Thai Food Fair & Entertainmaent Inc.ได้รับเกียรติจาก Hon. Jing Lee Assistant Minister to the Premier at Department of the Premier and Cabinet, Government of South Australia และสามี Eddie Liew ร่วมประทานอาหารค่ำ ที่ Beyond India Restaurant, North Adelaide คุณ Jing Lee และคุณ Eddie ได้ให้ความเป็นกันเองกับทีมงานทุกคน ได้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ข้อคิดเกี่ยวกับการดำเนินงานสมาคม ทำให้บรรยากาศในวันนั้น สนุกสนาน ผ่อนคลาย เป็นกันเองตลอดระยะเวลาที่ได้วับประทานอาหารร่วมกัน

คณะทีมงานของสมาคม Thai Food Fair & Entertainmaent Inc.ได้รับเกียรติจาก Hon. Jing Lee และสามี Eddie Liew ร่วมประทานอาหารค่ำ ที่ Beyond India Restaurant, North Adelaide เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565

ไตรภพ ซิดนีย์
[email protected]