ระดับสถานการณ์ประเทศพีคขึ้นระดับสุด ขนาด “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยังต้องออกมายอมรับว่า รับสถานการณ์โควิดถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งร้ายแรงสุด จำเป็นต้อง ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว หลังยอดผู้ติดเชื้อไม่ลด ขณะเดียวกันทางการเมืองก็ร้อนแรงยกระดับขึ้นเรื่อยๆ มีการร่วมกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐ ไล่ “ลุงตู่”ให้ลงจากเก้าอี้แบบไม่กลัวโควิด แสดงความไม่พอใจต่อการบริหารจัดการของรัฐบาลเรือเหล็ก ที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าสถานการณ์แย่ลงไปทุกวัน  “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงต้องมาสนทนากับ“ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” ผอ.สำนักนวัตกรรม เพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองสถานการณ์ช่วงเวลานี้อย่างไรและ ต่อจากนี้บ้านเมืองจะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไร

โดย “ดร.สติธร” เปิดฉากกล่าวว่า  สถานการณ์การเมืองแย่ลงทุกขณะก็เป็นผลมาจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด และเสียชีวิตเยอะขึ้น คนไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลแม้จะบอกว่า “ล็อกดาวน์เข้มขึ้น” หรือใช้แบบ “อู่ฮั่นโมเดล”  ตราบใดที่ประชาชนรู้สึกว่าการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เขาก็ไม่ให้ความร่วมมือ ตอนนี้ประชาชนมองว่า มาตรการที่ทำอยู่นั้น คือ การประคองสถานการณ์ มาตรการเยียวยาเดิมๆ ที่คนทำ อาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย ยังเข้าไม่ถึง วันนี้ประชาชนมองว่า ที่รัฐต้องทำคือ เอาวัคซีนคุณภาพดีเข้ามาโดยเร็ว ส่วนที่มีการเซ็นซื้อไฟเซอร์เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ก็เป็นเพียงการผ่อนคลายความรู้สึกคน แต่วัคซีนจะเข้ามาจริงคือไตรมาส 4 กว่าจะถึงวันนั้นจะทำอย่าไร

@ ความรู้สึกของประชาชนส่วนหนึ่งเกิดจากการปั่นสถานการณ์เกินจริง?

ส่วนหนึ่งมันมีการปั่นกระแสอยู่จริง เพราะเราก็รู้อยู่ว่าในแง่การเมือง “วัคซีน” เป็นตัวชี้ชะตารัฐบาล คนที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลก็มองว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญ เมื่อมีอะไรออกมาก็ต้องรุกคืบเข้าไปแน่ แต่ถ้าไม่นับว่าถูกปั่นให้ดูน่ากลัวเกินจริง สิ่งที่เป็นอยู่จริงๆ ก็ไม่ได้มาตรฐานตามที่คนคาดหวัง ทั้งเรื่องข้อมูล เรื่องจำนวนวัคซีนต่างๆ ที่มาน้อย มาไม่ตรงตามที่บอก มองไปข้างหน้าก็ไม่เห็นความหวัง พอถูกบรรยากาศทางการเมืองเติมสีสันเข้าไป ก็ปฏิเสธยาก ทำให้อารมณ์ความรู้สึกของคนที่ไม่ชอบรัฐบาลก็ขึ้นง่าย ส่วนคนที่เคยเฉยๆ ก็จะเริ่มมองว่า“เออก็จริง”

@ จากสถานการณ์วันนี้รัฐบาลควรไปต่อหรือพอแค่นี้

เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ คนส่วนหนึ่งที่บอกว่ารัฐบาลแย่จำเป็นจะต้องเปลี่ยน อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าสถานการณ์แย่มากจะเปลี่ยนม้ากลางศึกไม่เหมาะสม ซึ่งก็มีส่วนจริงอยู่ทั้ง 2 แนวคิดนี้ ส่วนตัวมองว่า เต็มที่ก็เปลี่ยนได้แค่ตัวบุคคลนายกฯ ลาออก พร้อมปรับครม.กันใหม่ แต่ดูสภาพทางการเมืองถ้านายกฯ ลาออกเลือกนายกฯ คนใหม่จากบุคลากรที่มีอยู่ ก็มีแนวโน้มว่าจะได้คนเดิม หรือคนที่อยู่ในขั้วการเมืองเดิม ไม่ได้เปลี่ยนอะไร ขณะเดียวกันถ้าจะเปลี่ยนโดยยุบสภาก็จะเป็นไปได้ยาก ในสถานการณ์คนติดเชื้อหลักหมื่นราย ไม่ใช่เวลาที่จะมาบอกว่าเลือกตั้งเถอะ และถึงเปลี่ยนขั้วการเมืองมาทำก็ไม่แน่ว่า เขาจะได้รับความร่วมมือจากกลไกที่มีอยู่

แต่จะไม่เปลี่ยนอะไรเลยก็ไม่ใช่ ก็เห็นอยู่ว่าทำงานจะมาปีกว่าก็ได้แค่นี้ แนวโน้มโควิดไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นถ้าเปลี่ยนขั้วทางการเมืองไม่ได้ อย่างน้อยควรจะเปลี่ยนวิธีการ บริหารจัดการสถานการณ์ใหม่ โดยเฉพาะการบริหารจัดการแบบ “ศบค.” ที่มีชุดเล็ก ชุดย่อย รุงรังไปหมด เรื่องนี้เป็นเรื่องสุขภาพควรเปลี่ยนมาให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นแม่งาน ใช้แค่พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 จะเพียงพอหรือไม่ ถ้าบอกว่าอำนาจอยู่ที่รมว.สาธารณสุข ก็เป็นรัฐมนตรี  

  @ ระบบที่จะให้ปรับใหม่ควรเป็นอย่างไร เพราะเหมือนแต่ละหน่วยงานมีอีโก้ สธ.สั่งใครไม่ได้

วันนี้ถ้าลบเรื่องการเมืองออก ให้ใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นแม่งาน เรื่องข้อกำหนดมาตรการควบคุม ป้องกัน กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้สั่งการ และดำเนินการ หากต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ก็ให้มาที่นายกฯ เป็นผู้สั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการตามที่กระทรวงสาธารณสุขแจ้งมา  หน่วยงานต่างๆ จะต้องเล่นบทผู้สนับสนุนที่ดี ไม่ต้องไปคิดว่าศักดิ์ศรีเท่ากัน ใครจะมาสั่งฉันไม่ได้ ถ้าขอความร่วมมือไปแล้วท่านบอกว่าขอตัดสินใจเองว่าจะให้ความร่วมมือหรือเปล่า แบบนี้จัดการสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้

จริงๆ บ้านเราซวยเองที่ตั้งรัฐบาลมาแบบนี้ กระทรวงสาธารณสุขอยู่กับพรรคการเมืองหนึ่ง กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงอื่นๆ ก็อยู่กับอีกพรรคการเมืองหนึ่ง

@ ตอนนี้มีสัญญาณพรรคร่วมเตรียมสละเรือ ทำให้คนไม่ร่วมมือกับบุคลากรสาธารณสุขหรือไม่

ธรรมชาติ พรรคร่วมรัฐบาล เขามาร่วมกันด้วยผลประโยชน์ ถ้ามีโอกาสที่จะมีผลเสียมากกว่าหากรัฐบาลทำงานผิดพลาดแล้วมีอันเป็นไป ด้วยกระแสสังคมขับไล่แล้วเขาต้องติดร่างแห โดนไล่ไปกับรัฐบาลด้วยเขาก็พร้อมที่จะกระโดดลงก่อน เล่นบทพระเอกไม่ขอรอร่วมทาง เป็นการเคลียร์ตัวเองไม่ให้มีภาพของการบริหารงานล้มเหลวก่อนลงสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป ทั้งนี้ พอมีการเมืองเข้ามาปน กับการบริหารสถานการณ์วิกฤติฉุกเฉินก็จะเป็นแบบนี้

 ในเชิงบวกคือแข่งกันเอาหน้าเอาความนิยมกับประชาชน อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนทุกคนจะเคลมว่าเป็นผลงานของตัวเอง แต่ถ้าข้อเสนออะไรออกมาแล้วคนไม่ให้ความร่วมมือก็จะชิ่งว่าไม่ใช่นโยบายฉัน เป็นเรื่องของชุดนั้นชุดนี้ ชุดฉันไม่เกี่ยว จะอารมณ์นี้ตลอดเวลา เป็นการเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น

@ การเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง เหมาะสมกับสถานการณ์ขณะนี้หรือไม่ 

ถ้ามาตรการของรัฐบาลออกมา แล้วคนทั่วไปยอมรับได้ เขาก็พร้อมให้ความร่วมมือ ต่อให้อยากชุมนุมแค่ไหนก็บิ้วไม่ขึ้น จะเห็นว่าช่วงหนึ่งที่ม็อบหายไปเลยก็เพราะแบบนั้น ประชาชนจะต่อว่าเสียด้วยซ้ำว่า ออกมาทำไม ใช่เวลาหรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลแก้ไขสถานการณ์การระบาดได้ดี ถูกทางคนให้ความร่วมมือ คนเหล่านี้จะเป็นคนช่วยทำให้บรรยากาศการชุมนุมที่ร้อนแรงลดกระแสลงไปเอง

แต่ที่การชุมนุมกลับมาร้อนแรงอีกครั้งส่วนหนึ่งเพราะการบริหารงานผิดพลาดซ้ำซากของรัฐบาล และไม่มีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยน จะทำให้ดีขึ้นอย่างไร ซึ่งเขารอจังหวะที่จะออกมาอยู่แล้วตอนนี้สถานการณ์ก็เอื้อ เขาก็ออกมา 

แต่ถ้าพูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เอาตรงกลางจริงๆ ข้อเรียกร้องทางการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปอะไร ต้องพักเอาไว้ก่อน ไว้โควิดหมดเมื่อไหร่ค่อยมาว่ากันต่อ วันนี้ว่ากันด้วยเรื่องรัฐบาลประสิทธิภาพแย่ แก้ปัญหาไม่ได้ก็ว่าไป ไม่อย่างนั้นรัฐบาลก็จะเอ้อระเหย แล้วก็อ้างโควิดไม่ให้คนมาต่อต้านไม่ให้คนมาวิจารณ์ 

รัฐบาลต้องเปลี่ยนระบบวิธีการทำงาน การตัดสินใจ จะต้องไม่มีอีกแล้วที่บอกว่า “ด่วน! พรุ่งนี้” หรือ “มาตรการด่วนออกสัปดาห์หน้า” ด่วนก็คือ “เดี๋ยวนี้” ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลเอาจริง ตัดสินใจเร็ว ทันสถานการณ์ คิดว่าก็พอจะช่วยได้อย่างน้อยก็ดึงความรู้สึกที่ไม่ค่อยเชื่อมั่นกลับมาก่อน ประชาชนจะดูอีกทีว่าสิ่งที่ปรับนั้นโอเคหรือไม่ หรือยังเป็นคงแบบเดิม คือ การตัดสินใจที่ไม่ชัดเจน.