ทำเอาชาวบ้านรู้สึก “หนาว” ขึ้นมาทันที เมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.65 ที่ 24.77 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์/หน่วย เป็น 4.00 บาท/หน่วย ด้วยผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก

ช่วงนี้จึงเห็นหลายภาคส่วนของสังคมออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปัญหาค่าไฟฟ้าแพง! ปริมาณไฟฟ้าในประเทศไทยเกินความต้องการ รวมไปถึงกรณีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กพช. มีมติเห็นชอบการลงนามในร่าง Tariff MOU อัตราค่าไฟฟ้าของโครงการหลวงพระบาง 2.8432 บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบเดือนม.ค.73 และโครงการปากแบง 2.9179 บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบเดือน ม.ค.76 ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุสัญญา

ควรชะลอเซ็นสัญญานำเข้าไฟฟ้า

ทีมข่าว “Special Report” มีโอกาสคุยกับ น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ได้เปิดเผยว่า กพช.พยายามเชื่อมโยงโครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก 2 เขื่อน ใน สปป.ลาว เพื่อส่งไฟฟ้าไปขายให้มาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นระยะเวลาโครงการ 2 ปีนั้น แต่ถามว่าสัญญาซื้อไฟฟ้าที่กำลังจะมีขึ้นมีอายุถึง 29-30 ปี เป็นการใช้สิงคโปร์-มาเลเซีย มาเป็นข้ออ้างหรือเปล่า เพราะหลังจากนั้นไฟฟ้าที่เหลือหลังจาก 2 ปี ใครจะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า สุดท้ายคงไม่พ้นคนไทย ถึงแม้จะไม่ใช้ไฟฟ้าจาก 2 เขื่อนดังกล่าว แต่เป็นภาระที่คนไทยต้องจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย”

“วันนี้ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ในประเทศก็ได้ และควรชะลอการเซ็นสัญญานำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เนื่องจากปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยอยู่ในปริมาณสูงมาก กำลังผลิตในระบบไฟฟ้าเดือน ม.ค.65 เท่ากับ 46,136 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของเดือนเดียวกันอยู่ที่เพียง 26,688 เมกะวัตต์ เท่ากับว่าไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงมาก โดยเฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณไฟฟ้าล้นในระบบมาถึง 50% บางเดือนขึ้นไป 60% และสูงสุดคือ 86% ขณะที่ความมั่นคงทางพลังงานบอกว่ามีไฟฟ้าสำรองไว้แค่ 15% ก็พอ แต่ 3 ปีนี้ไฟฟ้าล้นระบบ 50-86% แล้วรัฐบาลจะไปเซ็นสัญญาโครงการใหม่ๆ อีกหรือ”

น.ส.เพียรพร กล่าวต่อไปว่าก่อนหน้านี้ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาแนะนำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชน ด้วยการหยุดสร้างโรงไฟฟ้าส่วนเกินในระบบ และเจรจาลดค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน เพราะความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปี 62 เท่ากับ 30,853.2 เมกะวัตต์ แต่เรามีกำลังการผลิตติดตั้งทั้งของการไฟฟ้าและของเอกชนรวมกันเท่ากับ 46,136.4 เมกะวัตต์ เลยทีเดียว ทั้งที่โดยทั่วไปต้องมีกำลังการผลิตสำรองประมาณ 15% เมื่อบวกกับความต้องการกำลังไฟฟ้าสูงสุดเท่ากับ 35,481.2 เมกะวัตต์ (คิดจากความต้องการไฟฟ้าสูงสุดปี 62) แต่ไทยมีโรงไฟฟ้า 46,136.4 เมกะวัตต์ เกินไป 10,655 เมกะวัตต์ หรือมีกำลังการผลิตสำรองสูงถึง 50%

กำลังการผลิตที่เกินไป 10,000 กว่าเมกะวัตต์ ถ้าเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ เท่ากับมีโรงไฟฟ้าล้นเกินอยู่ในระบบประมาณ 13 โรง ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุที่โรงไฟฟ้าหลายแห่งของเอกชนหยุดเดินเครื่องมากกว่า 2 ปี แต่ประชาชนยังต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่าย” ให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนเหล่านั้นมาตลอด

แนะรัฐบริหารจัดการ 3 เรื่องเร่งด่วน!

แต่สิ่งที่ตนอยากพูดเกี่ยวกับสัญญาซื้อไฟฟ้าจากโครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง เราต้องอย่างลืมว่า 2 โครงการ ส่งผล กระทบกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่ 8 จังหวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง ได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งคน-สัตว์น้ำ-พืช เราจะเห็นข่าวเกี่ยวกับระดับการขึ้น-ลงของน้ำโขงผิดปกติในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สีของน้ำโขงเปลี่ยนไป ปริมาณสัตว์น้ำลดลง ฯลฯ

ถ้ารัฐบาลโดย กพช.จะผลักดันให้มีการเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจาก 2 โครงการได้สำเร็จ ต่อไปจะมีการสร้างเขื่อนใหม่ๆ ตามมาอีกเพื่อขายไฟฟ้าให้ไทย ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนที่อยู่ใกล้ๆกับ อ.เชียงคาน และอ.ปากชม จ.เลย ซึ่งมีการศึกษาความเป็นไปได้รออยู่แล้ว ถ้าเขามีสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าเมื่อไหร่ ก็เอาสัญญาตัวนี้ไปยื่นค้ำประกันกับสถาบันการเงิน เพื่อขอสินเชื่อมาสร้างเขื่อนสำหรับผลิตไฟฟ้าขาย

ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลและ กพช.ทบทวนอย่างรอบคอบ เพราะขณะนี้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นมาก ประชาชนเดือดร้อนกันทั่วบ้านทั่วเมือง ส่วนหนึ่งเพราะต้องจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนในแต่ละปีสูงมาก


“วันนี้รัฐบาลต้องทำ 3 เรื่องเร่งด่วน คือ 1.แก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงให้ถูกทิศถูกทาง เพราะไฟฟ้าล้นระบบอยู่มาก ดังนั้นการเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าโครงการใหม่ๆ ควรชะลอออกไปก่อน 2.ถ้าอ้างเรื่องความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว ตรงนี้สามารถบริหารจัดการภายในประเทศได้ด้วยกำลังการผลิตไฟที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขณะนี้โครงการบ้านจัดสรรก็แจกแผงโซลาร์เซลล์ บางโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านให้พร้อม และ 3.ควรเร่งแก้ไขผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของประเทศเพื่อนบ้าน ในพื้นที่ 8 จังหวัดติดแม่น้ำโขง รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดอย่างจริงจังหรือยัง” น.ส.เพียรพร กล่าว

ไฟล้นระบบ-แบกภาระ “ค่าความพร้อมจ่าย”

ทางด้าน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยกับทีมข่าว “Special Report” ว่าวันนี้ (21 มี.ค.) สภาองค์กรของผู้บริโภคพร้อมเครือข่ายได้ไปยื่นหนังสือถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กรณี กกพ. มีมติปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.65


ตนมองว่าค่าไฟฟ้าสูงขึ้นไม่ใช่จากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือราคาก๊าซธรรมบาติขยับสูงขึ้น แต่มีปัจจัยอื่น เช่น การวางแผนการผลิตไฟฟ้าที่มากเกินความจำเป็น ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งปี 46,136.4 เมกะวัตต์ ขณะที่มียอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดปีละประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ (ปี 62-64) ทำให้มีไฟฟ้าล้นความต้องการปีละกว่า 10,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังผลิตสำรองสูงถึง 50% ทั้งที่ตามหลักการแล้วควรจะต้องมีกำลังผลิตสำรองไฟฟ้า 15% เท่านั้น


จากปริมาณไฟฟ้าผลิตสำรองมากถึง 50% ส่งผลให้ต้องรัฐต้องจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ไฟฟ้าปีละ 49,000 ล้านบาทต่อปี ให้กับเอกชนเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพราะได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าลักษณะไม่ซื้อไฟก็ต้องจ่าย ซึ่งมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 8 ใน 12 แห่ง ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเต็มที่ แต่ได้รับเงินค่าพร้อมจ่ายทุกปี โดยเงินจำนวนที่จ่ายให้โรงไฟฟ้ามาจากประชาชนที่จ่ายค่าไฟฟ้าด้วย ภาครัฐควรไปเจรจาขอลด “ค่าความพร้อมจ่าย” ลงบ้าง!

กลุ่มทุนพลังงาน-ก่อสร้าง ร่ำรวยเร็ว!

รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ต้องบริหารจัดการให้ดีและมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ค่าไฟฟ้าแพงก็บอกให้ประชาชนประหยัด เปิดแอร์แค่ 27 องศาฯ แล้วเปิดพัดลมช่วย แบบนี้เอาใครมาบริหารประเทศก็ได้ นอกจากนี้สิ่งที่ตนตั้งข้อสังเกตคือการเตรียมเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจาก 2 โครงการใน สปป.ลาว ในราคาที่แพงกว่าค่าไฟฐานขายส่งที่กำหนดไว้ 2.56 บาท/หน่วยเท่านั้น และโดยปกติค่าไฟจากเขื่อนที่มีสัญญากันอยู่แล้วเฉลี่ยทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 2 บาท/หน่วย

“ดังนั้นการวางแผนซื้อไฟฟ้าโครงการหลวงพระบาง 2.8432 บาท/หน่วย และโครงการปากแบง 2.9179 บาท/หน่วย จึงถือว่าแพง! ซึ่งจะเป็นภาระกับประชาชนในระยะยาว รัฐบาลและ กพช.มีการเจรจาต่อรองเรื่องราคาค่าไฟฟ้าหรือเปล่า วันนี้หลายภาคส่วนเป็นห่วงปัญหาทุนผูกขาด ร่ำรวยอย่างรวดเร็วกันในพริบตามีอยู่แค่ 2 กลุ่มทุน คือ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มก่อสร้าง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจนเดือดร้อนกันทั่วประเทศ” นายอิฐบูรณ์ กล่าว