“..ฟ้าใหม่แล้วละนะน้องสงกรานต์เราร้องทำนองเพลงโทน โน่นไงจ๊ะ โทนป๊ะโทนๆ ทั้งโยกทั้งโยนเย้ายวนยั่วใจ..” อีกไม่กี่วันก็เข้าสู่เทศกาลปีใหม่ไทยแล้ว ที่หลายคนรู้อยู่แล้วว่าวันที่ 13 เมษายนของทุก ๆ ปีเราเรียกวันนี้ว่า “วันสงกรานต์” ซึ่งเป็นประเพณีไทยเดิมที่ถือว่าวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ธรรมเนียมไทย และในวันนั้นเองก็จะมีการเล่น รื่นเริง มีการรดน้ำดำหัวโดยเฉพาะหนุ่มๆ สาวๆ จะสนุกกันเต็มที่เล่นสาดน้ำกันโดยไม่ถือเนื้อถือตัวเลย

ในชนบทหลายแห่ง มีการเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ กัน อย่างไรก็ตามวันนี้บางแห่งจะเริ่มจากวันที่ 13 เมษายน และมีการเล่นสนุกสนานไปราว ๆ 1 สัปดาห์ หรือกว่านั้น แต่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ระยะนี้จะมีการนำน้ำหอมเสื้อผ้าอาภรณ์ไปรดน้ำผู้ใหญ่ ญาติพี่น้องที่เคารพนับถือและทางศาสนาก็จัดให้มีการบายศรีพระสงฆ์ สมภาร เจ้าวัด สรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เท่าที่มีตามวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง

แต่รู้หรือไม่มีสิ่งหนึ่งที่จะเปลี่ยนไปทุกๆ ปี นั้นก็คือ “นางสงกรานต์” โดยตำนานเรื่องนางสงกรานต์จะมีประจำวันในแต่ละปีด้วย ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน นางสงกรานต์ 2565 มีชื่อว่า “นางกิริณีเทวี” หรือ “นางกาฬกิณีเทวี” ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จยืนมาบนหลังกุญชร (ช้าง) บันดาลให้เกิดฝน 400 ห่า โดย “เดลินิวส์ออนไลน์” ได้ทำการประวัติและคำทำนายนางสงกรานต์แต่ละวัน ดังต่อไปนี้

สำหรับประวัตินางสงกรานต์มีที่มาจากเรื่องเล่าตำนานนางสงกรานต์ โดยอ้างอิงตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ซึ่งตำนานเล่าว่า “..เมื่อต้นภัทรกัลป์ มีเศรษฐีคนหนึ่ง มั่งมีทรัพย์มาก แต่ไม่มีบุตรบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุรา นักเลงสุรานั้นมีบุตร 2 คน ผิวเนื้อดุจทอง วันหนึ่งนักเลงสุราเข้าไปในบ้านของเศรษฐี แล้วด่าเศรษฐีด้วยถ้อยคำหยาบคายต่าง ๆ เศรษฐีได้ฟังจึงถามว่า ท่านมีสมบัติมากมายแต่หามีบุตรไม่ เมื่อท่านตายไปแล้วสมบัติจะอันตรธานไปหมดหาประโยชน์อันใดมิได้ เพราะขาดทายาทผู้ปกครอง

ข้าพเจ้ามีบุตรอยู่ถึง 2 คน และรูปร่างงดงามเสียด้วย ข้าพเจ้าจึงดีกว่าท่านเศรษฐี ครั้นได้ฟังดังนั้นก็เห็นจริงด้วย จึงมีความละอายต่อนักเลงสุรายิ่งนัก จึงนึกใคร่อยากได้บุตรบ้าง จึงทำการบวงสรวงพระอาทิตย์ และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อขอให้มีบุตร อยู่ถึง 3 ปี ก็มิได้มีบุตรสมดังปรารถนา

เมื่อขอบุตรต่อพระอาทิตย์ พระจันทร์ มิได้ดังปรารถนาแล้ว อยู่มาวันหนึ่งถึงฤดูคิมหันต์ จิตรมาส เดือนห้า โลกสมมุติว่าเป็นวันสงกรานต์ คือ พระอาทิตย์ยกจากราศีมีนประเวสสู่ราศีเมษ คนทั้งหลายพากันเล่นนักขัตฤกษ์ เป็นการรื่นเริงขึ้นปีใหม่ ทั่วชมพูทวีป ขณะนั้นเศรษฐีจึงพาข้าทาสบริวารไปยังต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำอันเป็นที่อยู่แห่งปักษีชาติ ทั้งหลาย เอาข้าวสารซาวน้ำ 7 ครั้ง แล้วหุงบูชารุกขพระไทรพร้อมด้วยสูปพยัญชนะอันประณีต และประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีต่าง ๆ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรจากรุกขพระไทร รุกขพระไทยมีความกรุณาเหาะไปขอบุตรต่อพระอินทร์เพื่อจะให้แก่เศรษฐี

พระอินทร์จึงได้ธรรมบาลเทวบุตร ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ บิดามารดาขนานนามว่า “ธรรมบาลกุมาร” แล้วจึงปลูกปราสาทขึ้นให้กุมารอยู่ใต้ต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำนั้น ครั้นกุมารเจริญขึ้น ก็รู้ภาษานก แล้วเรียนจบไตรเทพเมื่ออายุได้ 8 ขวบ และได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่มนุษย์ชาวชมพูทวีปทั้งปวง ซึ่งขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม และกบิลพรหม องค์หนึ่งได้แสดงมงคลการแก่มนุษย์ทั้งปวง

ธรรมบาลกุมารเป็นคนฉลาดหลักแหลม จนมีชื่อเสียงร่ำลือไปไกล ทำให้ท้าวกบิลพรหมได้ลงมาท้าทายปัญญา โดยได้ถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร ให้เวลา 7 วัน หากฝ่ายใดแพ้จะต้องตัดศีรษะบูชา ท้ายที่สุดธรรมบาลกุมารสามารถตอบปัญหาได้ ท้าวกบิลพรหมจึงต้องเป็นฝ่ายตัดศีรษะ แต่หากศีรษะนี้ตกลงพื้นโลก จะเกิดเพลิงไหม้โลก ท้าวกบิลพรหมจึงสั่งให้บาทบาจาริกาของพระอินทร์ทั้ง 7 นาง สลับหน้าที่หมุนเวียนทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียร หรือศีรษะของตนแห่รอบเขาพระสุเมรุปีละ 1 ครั้ง ซึ่งตรงกับช่วงมหาสงกรานต์ โดยนางสงกรานต์ทั้ง 7 มีชื่อต่างๆ กัน และแต่งกายก็แตกต่างกันออกไป ประกอบกับอาวุธที่ถือก็แตกต่างกันด้วยดังนี้

นางสงกรานต์ทุงษะเทวี

ทุงษะเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ อุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ

นางสงกรานต์โคราคะเทวี

โคราคะเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีบ มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)

นางสงกรานต์รากษสเทวี

รากษสเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ โลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)

นางสงกรานต์มณฑาเทวี

มณฑาเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ นมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)

นางสงกรานต์กิริณีเทวี

กิริณีเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) มีมรกต เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ ถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คชสาร (ช้าง)

นางสงกรานต์กิมิทาเทวี

กิมิทาเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทัดดอกจงกลนี มีบุษราคัม เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ กล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)

นางสงกรานต์มโหทรเทวี

มโหทรเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์ เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)

ชื่อนางสงกรานต์ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ธิดาท้าวกบิลพรหมมี อยู่ด้วยกัน 7 นาง ถ้าปีใดนางสงกรานต์ ตรงกับอะไรใน 7 วัน นางทั้ง 7 ก็ผลัดเปลี่ยนเวรกันมารับเศียรของบิดาตนเพื่อมิให้ตกลงสู่แผ่นดิน เพราะจะเกิดฝนแล้งไฟไหม้โลก

หมายเหตุ เดิมภักษาหารและอาวุธดังกล่าวตามวันต่าง ๆ นั้นเคยจัดไว้ตามวันเสมอมา เพิ่งมาเลิกเมื่อหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ พ.ศ. 2476 มานี้เท่านั้นเอง ทั้งพิธีหลวง พิธีราษฎร์ ก็จัดทำกันที่ท้องสนามหลวงและตามชนบท ปัจจุบันกำลังจะมีการฟื้นฟูพิธีนี้นำมาปฏิบัติกันอีก

อิริยาบถนางสงกรานต์ขี่พาหนะ

นางสงกรานต์ จะนั่งบนพาหนะในท่าทางอย่างไรนั้น ท่านให้ถือเอาเวลาที่ดวงอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษของปีนั้น ๆ เป็นเกณฑ์ อาจจะเป็นกลางวัน เช้า สาย บ่าย เย็น หรือกลางคืน เวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ถ้าดวงอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษเวลา

  1. รุ่งถึงเที่ยง นางสงกรานต์ยืนบนพาหนะ
  2. เที่ยงถึงวันย่ำค่ำ นางสงกรานต์นั่งบนพาหนะ
  3. พลบค่ำถึงเที่ยงคืน นางสงกรานต์ นอนลืมตาบนพาหนะ
  4. เที่ยงคืนถึงรุ่งเช้า นางสงกรานต์นอนหลับตาบนพาหนะ

เดิมประเพณีไทยเราถือประเพณีว่า วันสงกรานต์เป็นวันเถลิงศกใหม่ คือ นับเอาวันที่ 13 เมษายนทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อปี พ.ศ. 2484 ต่อ พ.ศ. 2485 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนี้เอง

เกจิอาจารย์ท่านพยากรณ์ได้ว่า ถ้าวันใดเป็นวันเถลิงศก วันนั้นจะเกิดอะไรดังนี้

  • ถ้าวันอาทิตย์ เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะเรืองอำนาจจะมีชัยแก่ศัตรูทั่วทิศานุทิศ
  • ถ้าวันจันทร์ เป็นวันเถลิงศก พระเทวีและหมู่นางนักสนมบริวาร ประกอบด้วย ความสุขและสมบัติทั้งปวง
  • ถ้าวันอังคาร เป็นวันเถลิงศก อำมาตย์มนตรีจะอยู่เย็นเป็นสุข แม้จะต่อยุทธด้วยปัจจามิตรทิศใด ๆ จะมีชัยชนะทุกเมื่อ
  • ถ้าวันพุธ เป็นวันเถลิงศก ราชบัณฑิตปุโรหิต และโหราจารย์จะสุขสำราญเป็นอันมาก
  • ถ้าวันพฤหัสบดี เป็นวันเถลิงศก สมณพราหมณาจารย์จะปฏิบัติชอบด้วยธรรมอันประเสริฐ
  • ถ้าวันศุกร์ เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าวานิชทั้งหลายไปค้าขายในประเทศต่าง ๆ จะประกอบไปด้วยพัสดุเงินทองและความสุขเป็นอันมาก
  • ถ้าวันเสาร์ เป็นวันเถลิงศก หมู่ทแกล้วทหารทั้งปวงจะประกอบไปด้วยความสุขและวิชาการต่าง ๆ แม้จะทำยุทธด้วยข้าศึกทิศใด ๆ จะมีชัยชนะทุกเมื่อแล

วันมหาสงกรานต์

  • ถ้าวันอาทิตย์ เป็นวันมหาสงกรานต์ ปีนั้นเรือกสวนไร่นา ไม่ใคร่งาม
  • ถ้าวันจันทร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้เสนาบดี ท้าวพระยาแลและนางพระยาทั้งหลาย
  • ถ้าวันอังคารและวันเสาร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลงและโจรผู้ร้าย ไข้เจ็บหนักที่สุด
  • ถ้าวันพุธ เป็นวันมหาสงกรานต์ ท้าวพระยาจะได้บรรณาการจากต่างเมือง แต่จะแพ้ลูกอ่อนนัก
  • ถ้าวันพฤหัสบดี เป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้ท้าวไท พระสงฆ์ราชาคณะ จะเดือดเนื้อร้อนใจนัก
  • ถ้าวันศุกร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าวน้ำ ลูกหมากรากไม้ทั้งหลาย จะอุดมสมบูรณ์ แต่จะแพ้เด็ก ฝนและพายุชุก จะเจ็บตายกันมากนักแล

วันเนา

วันเนา ได้แก่ วันก่อนจะถึงวันที่ 13 เมษายน ได้แก่วันที่ 12 เมษายน ของทุก ๆ ปี เกจิอาจารย์ท่านวางพยากรณ์ไว้อย่างนี้

  • ถ้าวันอาทิตย์ เป็นวันเนา ข้าวจะตายฝอย จะได้ยินเสียงคนต่างภาษา ท้าวพระยาจะหนักใจ
  • ถ้าวันจันทร์ เป็นวันเนา เกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจนัก มักเกิดความไข้ต่าง ๆ
  • ถ้าวันอังคาร เป็นวันเนา หมากพลูข้าวปลาจะแพง จะแพ้มนตรีอำมาตย์ทั้งปวง
  • ถ้าวันพุธ เป็นวันเนา ข้าวจะแพง คนทั้งหลายจะทุกข์ร้อน แม่ม่ายจะพลัดที่อยู่
  • ถ้าวันพฤหัสบดี เป็นวันเนา ลูกไม้จะแพง ราชสกุลทั้งหลายจะร้อนใจนัก
  • ถ้าวันศุกร์ เป็นวันเนา พริกจะแพง จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ข้าวจะตายฝอย น้ำจะน้อย กว่าทุกปี ชีพราหมณ์จะร้อนใจ พืชผลมักจะแพงแล

คติความเชื่อ และเรื่องราวประวัติวันสงกรานต์ จึงเชื่อมโยงกับโหราศาสตร์การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษในช่วงวันมหาสงกรานต์ โดยในแต่ละปีก็จะมีชื่อนางสงกรานต์ทั้ง 7 สลับหมุนเวียนกันนั่นเอง

ในอดีต คนไทยให้ความสนใจกับชื่อนางสงกรานต์ในแต่ละปี เนื่องจากส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ คำทำนายต่างๆ จึงเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสภาวะต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ส่งผลต่อผลิตผลทางการเกษตร ที่เป็นช่องทางสร้างรายได้หลักของผู้คนในยุคนั้น

อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้เผยแพร่ประกาศสงกรานต์ของฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง พร้อมจัดทำภาพวาด นางสงกรานต์ ประจำปี 2565 ดังนี้

“ปีขาล (ผีเสื้อผู้หญิง ธาตุไม้) จัตวาศก จุลศักราช 1384 ทางจันทรคติ เป็นปกติมาสวาร ทางสุริยคติ เป็นปกติสุรทิน วันที่ 14 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 เวลา 09 นาฬิกา 45 นาที 46 วินาที

นางสงกรานต์ ทรงนามว่า “กิริณีเทวี” ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอ พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จยืนมาเหนือหลังกุญชร (ช้าง) เป็นพาหนะ

วันที่ 16 เมษายน เวลา 13 นาฬิกา 49 นาที 48 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1384 ปีนี้ วันพุธ เป็นธงชัย, วันอังคาร เป็นอธิบดี, วันอังคาร เป็นอุบาทว์, วันพฤหัสบดี เป็นโลกาวินาศ

เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้วันอาทิตย์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่าตกในเขาจักรวาล 160 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า

เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีธนู ชื่อ เตโช (ธาตุไฟ) น้ำน้อย อากาศยังร้อน
เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีนี้ นาคราชให้น้ำ 4 ตัว ทำนายว่า ฝนดีตลอดปี
เกณฑ์ธัญญาหาร ชื่อวิบัติ ข้าวกล้าในไร่นา จะเกิดกิมิชาติ คือ มีด้วง แมลงรบกวน ข้าวกล้า จะได้ผล 1 ส่วน เสีย 5

ส่วนบ้านเมืองจะเกิดยุทธสงคราม จะฆ่าฟันกัน จะนิราชจากกัน จะฉิบหายเป็นอันมากแลฯ”..

ขอบคุณภาพประกอบ : Pixabay