เมื่อวันที่ 5 พ.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้เข้าพบ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมกับ นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา ซึ่งได้หารือถึงประเด็นการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ว่าจะดำเนินการให้เสร็จทันในรัฐบาลชุดนี้ เพราะยังเหลือการประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมัยวิสามัญอีกครั้งในเดือนกันยายน ซึ่งในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรหรือไม่ โดย ดร.วิษณุได้ย้ำว่าหัวใจหลักของการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ นั้นจะต้องมุ่งเรื่องการปฎิรูปการศึกษา และการพัฒนาผู้เรียน เพราะประเด็นสำคัญที่สุดคือการจัดการศึกษาในตอบโจทย์โลกในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … จะดำเนินการเสร็จทันอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลที่ต้องผลักดันกฎหมายการศึกษาให้สำเร็จ แต่ขณะเดียวกันสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้การบริหารจัดการศึกษาเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็ต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจุบบัน ซึ่งเรื่องใดที่เราสามารถทำได้ก็จะทำไปก่อนระหว่างรอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติฯ มีผลบังคับใช้

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นเรื่องที่คณะกรรมการธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ได้พิจารณาลงมติเสียงข้างมากเห็นชอบร่างมาตรา 3 ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งมีคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เรื่องปฎิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ นั้น เรื่องนี้ ดร.วิษณุ อยากให้การจัดทำโครงสร้าง ศธ.ไปอยู่ในกฎหมายลูก โดยสามารถบริหารจัดการภายหลังได้ โดยอยากให้เน้นความสำคัญของการพัฒนาผู้เรียนมากกว่าการพูดถึงเรื่องโครงสร้าง ศธ. ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าความขัดแย้งเรื่องการทำงานซับซ้อนระหว่างศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) กับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นเรื่องที่สามารถทำความเข้าใจและตกลงกันได้ โดยหากมองภาพรวมของการศึกษาอยากให้ทุกฝ่ายมุ่งไปที่การพัฒนาผู้เรียนมากกว่า เพราะไม่ว่ารูปแบบเนื้องานจะเป็นของหน่วยงานไหนกยังช่วยกันขับเคลื่อนการศึกษาได้