เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่โรงเรียนพญาไท กทม. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2565  โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย และสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เตรียมความพร้อมในการเปิดเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ให้ดีที่สุด ซึ่ง ศธ.มีเป้าหมายเปิดการเรียนแบบ On site พร้อมกันทุกแห่ง ด้วยการสร้างความมั่นใจให้แก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง ที่ลูกหลานของเราจะได้รับผ่านระบบการศึกษาของไทยทุกรูปแบบ และสร้างความไว้วางใจกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง ซึ่งตนได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาทุกสังกัดเตรียมความพร้อม ตามแนวทางการเฝ้าระวังสำหรับการเปิดเรียน On site ด้วยหลักการ “ตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน” ซึ่งทุกสถานศึกษาต้องทำการประเมินตนเองในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียน นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ประเมินความเสี่ยงตนเองเป็นประจำ มีการตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังอย่างเหมาะสม การฉีดวัคซีนให้กับ ครู บุคลากร ผู้ปกครอง และเด็ก อายุ 5-18 ปี ได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามเกณฑ์ ให้มีการเร่งรัดจัดฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียนทุกคนที่มีความประสงค์จะเข้ารับการฉีดอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยศึกษาธิการจังหวัดประสานกับสาธารณสุขจังหวัดในการเร่งฉีดวัคซีน โดยเฉพาะน้อง ๆ ที่มีอายุระหว่าง 5-11 ขวบ ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ และความจำเป็นในการฉีดวัคซีนให้กับผู้ปกครองได้รับทราบ

“ทุกโรงเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการสร้างความปลอดภัย 6-6-7 ป้องกันโควิด ในสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด ทั้งการบริหารจัดการภายในห้องเรียน ภายในโรงเรียน และบริเวณโดยรอบโรงเรียน มีการเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุ มีการซักซ้อม รวมถึงการเตรียมพร้อม School Isolation สิ่งสำคัญ ต้องทำความเข้าใจในชุมชน และสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของชุมชนอย่างเข้มแข็ง หากมีความเสี่ยง หรือความไม่ปลอดภัยใดๆ เกิดขึ้น กลไกการสื่อสารเพื่อแจ้งเหตุ ผ่าน MOE Safety Center ต้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ โรงเรียนไม่จําเป็นต้องปิดการเรียนการสอนแม้จะพบการติดเชื้อในโรงเรียน แต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนตามแผนเผชิญเหตุอย่างแม่นยำ และรวดเร็ว เพราะเป้าหมายสำคัญ นักเรียนควรได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน และลดปัญหาการเกิดภาวการณ์เรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss)” รมว.ศธ. กล่าว

นางสาวตรีนุช กล่าวอีกว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดภาวการณ์เรียนรู้ถดถอยเกิดขึ้นกับนักเรียน ซึ่งในปีการศึกษา 2565 นี้ ศธ.มุ่งเน้นให้เป็นปีแห่งการเสริมสร้างการศึกษา เพื่อเดินหน้าแก้ไขภาวะถดถอยทางการเรียนรู้อย่างจริงจัง โดยเร่งฟื้นฟูการเรียนรู้ช่วงที่สูญเสียไปให้คืนกลับมาเร็วที่สุดอย่างเป็นระบบ โดยจะขับเคลื่อนการเรียนการสอนใน 3 มิติ คือ การเสริมสร้างความรู้ การสร้างทักษะที่เข้มข้น ส่งเสริมทักษะชีวิต หรือทักษะทางสังคม โดยจะมีการเตรียมความพร้อม หรือการปรับพื้นฐานก่อนเรียน เพื่อนค้นหาช่องว่างของเด็กในการออกแบบการเรียนการสอนที่มีคุณภาพอย่างเหมาะสม

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเปิดเรียนในรูปแบบปกติครั้งนี้ได้จะเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศที่จะประกาศให้โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่นได้ในเดือน ก.ค.นี้ อีกทั้งยังเป็นส่วนของการขับเคลื่อนกิจการและเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะสถานบันเทิง เพราะหากสถานศึกษายังไม่สามารถเปิดเรียนออนไซต์ได้เราก็ไม่สามารถจะประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นได้ ดังนั้นจากความร่วมมือทุกภาคส่วนภายใต้มาตรการที่เข้มข้นของการเปิดเรียนไม่ว่าจะเป็นนักเรียน และครู ได้รับวัคซีนครบ และจัดห้องเรียนแบบเว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา จะทำให้ป้องกันโรคได้ ส่วนประเด็นมีนักเรียนติดเชื้อให้มาเรียนได้นั้น หากเด็กติดเชื้อไม่แสดงอาการโรงเรียนสามารถประสานกับคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อประจำจังหวัด เพื่อจัดห้องเรียนเฉพาะในการมาเรียนของเด็กได้ ซึ่งให้สิทธิโรงเรียนบริหารจัดการสถานการณ์ได้เองภายใต้มาตรการความปลอดภัย

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำหรับการฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอยนั้นในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แบ่งเป็นระดับปฐมวัยเน้นพัฒนาการสมวัย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ประถมศึกษา เน้นอ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็น และมัธยมศึกษา ปรับฐานก่อนเรียนเสริมทักษะที่สนใจกิจกรรมเสริมหลักสูตรลงมือปฎิบัติจริง

ขณะที่ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะเติมทักษะที่ขาดหายอย่างเต็มที่ในภาคเรียน เพิ่มทักษะที่จำเป็นในระดับที่สูงขึ้น และการเพิ่มทักษะนักศึกษาใหม่.