“มันสำปะหลัง” พืชเศรษฐกิจสำคัญ ที่เกษตรกรหลาย ๆ คนจะเรียกว่า “พืชมหัศจรรย์” เพราะมันสำปะหลัง 1 ต้น สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ผ่านการแปรรูปและเป็นวัตถุดิบประกอบในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าได้อย่างมาก เช่น ยา ไบโอโปรดักส์ กระดาษ อาหารสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นพืชที่สามารถนำไปใช้ในการผลิตพลังงานทดแทนคือ ไบโอดีเซล E 20 หรือ E 85 ได้อีกด้วย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์เป็นลำดับต้น ๆ ของโลก โดยเรามีความต้องการใช้วัตถุดิบประมาณ 40 ล้านตันต่อปี แต่เราสามารถผลิตได้เพียงปีละ 30 ล้านตัน ส่วนอีก 10 ล้านตัน ประเทศไทยต้องนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ปีละ 5–10 ล้านตัน (เฉพาะหัวสด) ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่กัมพูชาแล้ว จะทำให้ประเทศไทยนำเข้าผลผลิตมันสำปะหลังที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น และมีปริมาณเพียงพอสำหรับสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยและกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของกัมพูชาจึงได้หารือร่วมกันและเสนอโครงการ Development Program on Cassava in Border Provinces (Farm and Soil Management) ในการประชุมวิชาการไทย–กัมพูชา ครั้งที่  14 ระหว่างวันที่ 23–24 กุมภาพันธ์ 2560  ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการนี้

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ Thailand International Cooperation Agency  : TICA  หรือ ไทก้า ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยและเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลรับผิดชอบภารกิจความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตมันสำปะหลังที่ถูกต้องและเหมาะสมได้ตามความต้องการของฝ่ายกัมพูชา จึงให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ โดยฝ่ายไทยมีสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานดำเนินงาน และฝ่ายกัมพูชามี General Directorate of Agriculture, Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries เป็นหน่วยงานดำเนินงาน  โดยมีระยะเวลาโครงการ ระหว่างปี 2560-2564 ซึ่งโครงการนี้ เป็น 1 ใน 5 โครงการในแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย-กัมพูชา ระยะ 3 ปี (2560-2562) สาขาเกษตร

โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังที่ถูกต้องและเหมาะสมให้แก่กัมพูชา ให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 และลดต้นทุนการผลิต โดยพื้นที่เป้าหมายโครงการ คือ 3 จังหวัดชายแดนไทย–กัมพูชา  ได้แก่ จังหวัดพระตะบอง ไพลิน และบันเตียเมียนเจย จากการสำรวจและเก็บข้อมูล เพื่อเลือกพื้นที่โครงการพบว่า ปัญหาสำคัญของการผลิตมันสำปะหลังของกัมพูชาคือ การจัดการดินและปุ๋ย ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพันธุ์มันสำปะหลัง และการอารักขาพืช โดยเฉพาะปัญหาการป้องกันและจำกัดโรคมันสำปะหลังที่สำคัญ กิจกรรมโครงการประกอบด้วย 4 แผนงานหลัก ประกอบด้วย (1) การถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่กัมพูชาในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่เตรียมท่อนพันธุ์ การใส่ปุ๋ย และการจัดทำแปลงสาธิตปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่จังหวัดเป้าหมายจำนวน 2 แปลงต่อจังหวัด (2) การคัดเลือกเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังตัวอย่าง (3) การส่งผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดินไปฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ และ (4) การนำเกษตรกรตัวอย่างและเจ้าหน้าที่มาศึกษาดูงานที่ประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้จัดทำคู่มือการพัฒนาการปลูกมันสำปะหลังเป็นสองภาษา คือ ภาษาไทย และภาษากัมพูชา จำนวน 2,000 เล่ม  ซึ่งสามารถ download ได้ที่ https://bit.ly/3f7rot8 หรือตาม QR Code นี้

หลายท่านอาจจะมีคำถามว่า การที่ไทยไปช่วยเรื่องการปลูกมันสำปะหลังแก่กัมพูชาในอนาคตจะไม่เป็นการแข่งขันทางการตลาดกันหรือไม่นั้น จากข้อมูลสถิติเบื้องต้นซึ่งผลผลิตมันสำปะหลังในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง นั่นหมายความว่า อย่างไรเสียไทยก็จำเป็นต้องนำเข้ามันสำปะหลังจากแหล่งอื่นซึ่งโดยสภาพพื้นที่และต้นทุนการนำเข้าแล้ว กัมพูชาจึงเป็นแหล่งผลิตที่มีศักยภาพ ดังนั้น การที่ไทยไปทำโครงการในกัมพูชาจึงเป็นการไปเพิ่มคุณภาพให้กับผลผลิตมันสำปะหลังที่ไทยต้องการนำเข้า ส่วนเรื่องของราคานั้น เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือกัมพูชา ต่างมีปัญหาเดียวกันคือ การผูกขาดตลาด และหากจะมองในแง่ดีคือ การที่ไทยไปช่วยเพิ่มการผลิตมันสำปะหลังในกัมพูชาให้มีคุณภาพ เราก็จะได้มันสำปะหลังที่มีคุณภาพ เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่เกี่ยวเนื่อง เราก็จะมีผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลังที่มีคุณภาพตามไปด้วย

ตลอดระยะเวลาของการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการครบตามแผนงานและมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการในปี 2564 ทั้งสองฝ่ายจึงจัดการประชุมสรุปผลการดำเนินงานและส่งมอบโครงการ Development Programme on Cassava in Border Provinces (Farm and Soil Management) ให้ฝ่ายกัมพูชาแล้ว  เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 โดยมี นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และ Mrs. SIN SOPHORN, General Deputy Director of the General Directorate of Agriculture (GDA), Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries ของกัมพูชา เป็นประธานร่วมในการประชุม

ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ทุก ๆ ท่านคงจะได้เห็นภาพการทำงานของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศที่นำศักยภาพหรือองค์ความรู้ของประเทศไทยในด้านการเกษตรเพื่อไปช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะผลสำเร็จของโครงการซึ่งเป็นที่น่าดีใจคือ เกษตรกรกัมพูชาสามารถผลิตมันสำปะหลังที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ซึ่งเกินเป้าหมายที่ได้วางไว้ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชาที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการสร้างงาน สร้างรายได้ และมีความมั่นคงทางอาชีพ รวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางอาหารในท้องถิ่นซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดนของไทยและการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสนับสนุนและร่วมมือกับกัมพูชาในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)  เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน (No Poverty) เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (Zero Hunger) เป้าหมายที่ 12  รับรองแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) สำหรับประเทศไทย คือ เป้าหมายที่ 17 สร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the Goals)