เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง การขอลาออกจากอนุกรรมาธิการ และที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ในกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ของพระเมธีธรรมาจารย์ หรือ “เจ้าคุณประสาร” เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ และพระครูปลัดสุวัฒนสัจจคุณ (ธีรวิทย์) รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ ระบุว่า ตามที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอนุกรรมาธิการและที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ในกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. 2562 นั้น ในเบื้องต้นได้รับการทาบทามไปทำหน้าที่ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ พร้อมด้วยพระครูปลัดสุวัฒนสัจจคุณ (ธีรวิทย์) รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นกรรมาธิการการศาสนาฯ และอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนาฯ ผู้ที่ทาบทามได้แจ้งว่าเมื่อเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนาโดยตรง จึงอยากจะให้มีพระสงฆ์ทั้งสองนิกาย ที่พอจะรู้เรื่องงานในกิจการของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา มาร่วมทำหน้าที่ด้วย น่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของคณะสงฆ์ และพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนาฯนั้น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษา หรือแม้แต่ข้าราชการรัฐสภาในกรรมาธิการนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวพุทธ ดังนั้นงานที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อนจึงเป็นงานด้านการพิทักษ์ ปกป้อง คุ้มครองและประสานงานด้านคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา มิใช่งานในด้านการเมืองโดยตรง

เบื้องต้น การตอบรับเข้าร่วมงานในฐานะพระสงฆ์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม (มส.) จึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงพระธรรมวินัย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง มส. กฎหมายบ้านเมือง วัฒนธรรมประเพณีและความเหมาะสมอื่นๆ เป็นองค์ประกอบด้วย เมื่อคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้แล้ว กอรปกับในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีพระมหาเถระที่ไปทำหน้าที่ในตรงนั้นมาแล้วด้วย ดังนั้นจึงตกลงที่จะไปทำหน้าที่ดังที่กล่าว ตลอดระยะเวลา 2 ปีแรกของการทำหน้าที่ ได้สำนึกตลอดเวลาว่าเรามาทำหน้าที่เพื่อคณะสงฆ์ พระพุทธศาสนา และส่วนรวม สามารถไปขอดูรายงานการประชุมในแต่ละครั้งได้ เพราะทุกครั้งที่มีการประชุมต้องเป็นการประชุมแบบเปิดเผยและสามารถเผยแพร่หรือให้ข้อมูลกับคนที่มาร้องขอได้ จึงไม่เคยสนทนาแลกเปลี่ยนหรือประชุมหรือหารือกันทางการเมือง และตลอดเวลาที่ไปปรากฏตัวที่รัฐสภานั้น ก็ไปด้วยสำนึกของสมณภาวะตลอดเวลา เห็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็จะไม่อยู่ให้เห็นในระดับสายตา คนมากก็หลีกเลี่ยง ขึ้นลิฟต์ก็หลบๆให้คนเบาบางก่อน รวมทั้งการหลบกล้องของสื่อมวลชนรัฐสภาด้วยนี่คือการทำหน้าที่ในสองปีแรก

ส่วนการทำหน้าที่ในรอบปีล่าสุด (พ.ศ. 2564-2565) เห็นว่าการเมืองเริ่มจะเข้าสู่ปลายเทอม สมาชิกรัฐสภาอาจจะมีการปรึกษาหารือกันในเรื่องเกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่บ้างหรือไม่อย่างไร ประกอบกับข่าวคราวต่างๆ ของพระสงฆ์ก็มีปรากฏมากขึ้นตามสื่อต่างๆ ดังนั้นเพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ ไม่ต้องกังวลใดๆ ในรอบหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาอาตมาทั้งสองจึงไม่ได้เข้าร่วมประชุมอนุกรรมาธิการฯ แต่อย่างใด บัดนี้ เมื่อ มส. องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ได้ออกมติ เรื่องขั้นตอนของการเข้าไปทำหน้าที่ของพระภิกษุในรัฐสภา อาตมาทั้งสองแม้จะได้รับแต่งตั้งมาก่อนมติดังกล่าว แต่ด้วยเพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ดีงามและเหมาะสม อาตมาทั้งสอง ขอรับมติ มส.ด้วยความเคารพและขอลาออกจากการทำหน้าที่ดังกล่าวโดยจะได้กำหนดวัน เวลา ในการไปยื่นหนังสือลาออกต่อไป

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติ มส.ดังกล่าว ระบุว่า 1.กรณีพระภิกษุไปร่วมเป็นกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ หรือที่ปรึกษาในคณะกรรมาธิการ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของฝ่ายการเมืองที่ดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา มอบให้ประธานฝ่ายปกครองที่ มส.แต่งตั้งไปพิจารณากำหนดแนวทาง วิธีการ หรือมาตรการให้ชัดเจนในการตำหนิโทษ หรือป้องปรามเป็นลายลักษณ์อักษร 2.กรณีหน่วยราชการที่ขอให้กรรมการ มส.หรือพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นที่ปรึกษา หรือกรรมการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เสนอผ่าน มส.พิจารณา 3.กรณีรัฐสภา ขอให้กรรมการ มส.ไปเป็นกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ หรือที่ปรึกษาในคณะกรรมาธิการ มอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้แทน มส. และเมื่อดำเนินการในนาม มส.แล้วให้ร้ายงาน มส.ทราบ 4.กรณีรัฐสภาขอพระภิกษุรายรูปต่อพระภิกษุโดยตรงปฏิบัติภารกิจของฝ่ายการเมือง ให้พระภิกษุรูปนั้นแจ้งผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับ จนถึง มส.พิจารณา โดยมอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งมติ มส.นี้ต่อรัฐสภาทราบแนวปฏิบัติดังกล่าว​