เมื่อวันที่ 17 พ.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณี ด.ญ.เอ (นามสมมุติ) อายุ 14 ปี ที่ปัญหาครอบครัวรุมเร้า ทำให้ต้องดิ้นรนหาหนทางเรียนหนังสือต่อ แต่สุดท้ายกลับถูกครูในโรงเรียนพูดจากล่าวหา ทำนองว่าไม่มีทางเรียนต่อได้ ทั้งตัวมีเพียงเงิน 200 บาท สุดท้ายเด็กสาวตรอมใจเครียดหนัก ผูกคอตัวเองเสียชีวิตในบ้านพักนั้นว่า ตนได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว และทราบว่ามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเบื้องต้นรับทราบข้อมูลว่าเป็นการสื่อสารทำความเข้าใจกันน้อยเกินไป โดยมีปัญหาเกิดขึ้นสองประเด็น คือ ปัญหาจากครอบครัว และเรื่องการเรียนที่เปลี่ยนโรงเรียน เนื่องจากทราบว่าผู้ปกครองต้องการให้เด็กย้ายไปโรงเรียนใหม่แต่เด็กต้องการจะเรียนในโรงเรียนเดิม แต่ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนให้เราต้องกลับมาตระหนักถึงบทบาทการแนะแนวในโรงเรียนมากขึ้น ซึ่งระบบการแนะแนวในโรงเรียนจะต้องมีความเข้มแข็งมากกว่านี้ เพราะนโยบายหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาในทุกมิติ ดังนั้นต่อจากนี้ไประบบการแนะแนวในโรงเรียนจะต้องปรับปรุงใหม่ทำให้มีความเข้มข้น ครูต้องเข้าถึงปัญหาของนักเรียนเป็นรายบุคคลไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว การเรียน  

“บริบทของโรงเรียนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจึงมีความซับซ้อน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน หรือระบบการแนะแนวจะต้องทำให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เป็นการแนะแนวเรื่องการเรียนต่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องแนะแนวไปถึงการดูแลสภาพจิตของนักเรียน และการปูเส้นทางในอนาคตให้แก่นักเรียนด้วย พร้อมกับสร้างความเข้าใจให้แก่นักเรียนมีความรู้สึกอุ่นใจว่าโรงเรียนคือบ้านหลังที่สองของเด็ก และมีครูที่พร้อมช่วยเหลือสนับสนุนเด็กทุกเรื่องอย่างเต็มที่ เพราะเด็กทุกคนต้องมีโอกาสได้เรียน การจัดสรรทุนการศึกษาของทุกโรงเรียนไม่ใช่ปัญหา ซึ่งมีกองทุนให้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดสรรให้เด็กกู้ยืมได้อยู่แล้ว” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว