ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (UNSW) แห่งออสเตรเลีย อ้างว่าพวกเขาสามารถคิดค้นเทคโนโลยีที่ทำให้โซลาร์เซลล์สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าตอนกลางคืนได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

รองศาตราจารย์ เน็ด เอกินส์-ดอคส์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ถ้าว่ากันตามจริงแล้ว เมื่อเราใช้โซลาร์เซลล์แบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ในระหว่างวัน เราได้ประโยชน์เพียงครึ่งเดียว เขาอธิบายว่า แม้หลังจากที่พระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว พลังงานจากแสงอาทิตย์ก็ยังคงมีอยู่ โลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ แต่ก็สะท้อนพลังงานกลับไปยังอวกาศในปริมาณพอ ๆ กัน ถ้าหากเราสามารถดักจับพลังงานส่วนนี้ได้ และนำมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า เราก็จะมีแหล่งพลังงานให้ใช้อย่างเหลือเฟือ

ในการศึกษากรณีนี้ ทีมงานจึงใช้ตัวไดโอดจับคลื่นพลังงานความร้อน ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับคลื่นความร้อนที่เราใช้ในอุปกรณ์ประเภทแว่นช่วยมองตอนกลางคืน มาช่วยจับอนุภาคโฟตอนของในแสงอินฟราเรด ซึ่งสะท้อนกลับจากพื้นโลก แล้วแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า 

เขาอธิบายว่า สิ่งที่ต้องทำก็คือการแทรกแซงกระแสการไหลของของรังสีหรือคลื่นความร้อน ซึ่งถูกปล่อยออกมาจากโลกในช่วงกลางคืนและส่งกลับไปยังห้วงอวกาศ จากนั้นก็นำพลังงานที่ดักได้มาแปลงเป็นกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าในตอนกลางคืนซึ่งไม่มีแสงอาทิตย์ได้

อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ เอกินส์-ดอคส์ กล่าวว่า เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์สำหรับช่วงกลางคืน ยังอยู่ในระยะเริ่มแรกเท่านั้น อุปกรณ์ที่พวกเขาสร้างขึ้นในขณะนี้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ในจำนวนไม่มาก คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1/1000,000 ของพลังงานที่ได้จากโซลาร์เซลล์ทั่วไป แต่ก็เป็นเครื่องยืนยันว่ามันมีความเป็นไปได้ในการพัฒนา

คำถามที่สำคัญจึงอยู่ที่การแปลงผลจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ไปสู่กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อลดต้นทุน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อหาวัสดุที่เหมาะสมในการผลิตโซลาร์เซลล์ชนิดใหม่เป็นจำนวนมาก

แหล่งข่าว : abc.net.au

เครดิตภาพ : Getty Images