สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ว่าองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ประชุมฉุกเฉิน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง โดยยืนยันการพบผู้ป่วยประมาณ 80 คน กระจายอยู่ในอย่างน้อย 11 ประเทศ และผู้ป่วยเข้าข่ายอีกประมาณ 50 คน


แม้รายงานของดับเบิลยูเอชโอไม่ได้เปิดเผยชื่อของทั้ง 11 ประเทศ แต่ระบุว่า ล้วนเป็นประเทศซึ่งไม่เคยพบการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงมาก่อน โดยประเทศที่ออกมายืนยันแล้วว่าพบผู้ป่วย ได้แก่ สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เบลเยียม เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกส ซึ่งสเปนยืนยันผู้ป่วยใหม่ 24 คน เฉพาะเมื่อวันศุกร์ ส่วนอิสราเอลรายงานการรักษาชายวัยประมาณ 30 ปี มีอาการป่วยเข้าข่าย และเพิ่งเดินทางกลับจากการเยือนประเทศแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของทวีปยุโรป


ทั้งนี้ ดับเบิลยูเอชโอมีกังวลตรงที่ มีผู้ป่วยเพียงคนเดียวจากประมาณ 80 คน ซึ่งมีประวัติการเดินทางเกี่ยวข้องกับกลุ่มประเทศซึ่งพบโรคฝีดาษลิงในท้องถิ่นอยู่แล้ว ที่ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา ที่เหลือส่วนใหญ่พบในผู้เข้ารับการรักษาคลินิกสุขภาพทางเพศ และกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน และอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ รูปแบบเบื้องต้นของการแพร่กระจายโรคในทางภูมิศาสตร์ บ่งชี้ว่า การแพร่เชื้อ “เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน”


ปัจจุบัน โรคฝีดาษลิงยังไม่มีวัคซีนโดยตรง แต่ดับเบิลยูเอชโอกล่าวว่า วัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษหรือฝีดาษ มีประสิทธิภาพประมาณ 85% ต่อโรคฝีดาษลิง โรคฝีดาษลิง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส พบครั้งแรกในลิงทดลอง เมื่อปี 2501 และมีการยืนยันว่าพบในมนุษย์ เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2513 โดยส่วนใหญ่พบในทวีปแอฟริกานั้น คือ เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่นขึ้นตามร่างกายภายใน 1-3 วัน แล้วผื่นนั้นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ก่อนกลายเป็นสะเก็ดและหลุดออก


โรคฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อกันโดยง่าย และรักษาให้หายได้ อย่างไรก็ตาม การแพร่เชื้อสามารถเกิดขึ้นได้ ผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย บาดแผลของผู้ป่วย และข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วย และการได้รับเชื้อจากละอองฝอยที่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ.

เครดิตภาพ : REUTERS