สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศแผนการจัดตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ( ไอพีอีเอฟ ) ที่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ความยืดหยุ่นทางการค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปลอดคาร์บอน และการต่อต้านการคอร์รัปชั่น


นางจีนา ไรมันโด รมว.พาณิชย์ของสหรัฐ กล่าวว่า ไอพีอีเอฟไม่ใช่การยกเว้นกำแพงภาษี หรือการเปิดเสรีตลาดให้กับประเทศที่เข้าร่วม แต่เป็นการปูทางสู่การยกระดับความร่วมมือในประเด็นสำคัญ ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ ไปจนถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทาน และการค้าดิจิทัล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย เข้าร่วมการหารือออนไลน์ เกี่ยวกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ( ไอพีอีเอฟ ) ซึ่งจัดที่กรุงโตเกียว


ขณะเดียวกัน ไบเดนคาดหวังให้ไอพีอีเอฟเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการดำเนินงานในมิติที่สำคัญอีกหลายอย่างในเอเชียและแปซิฟิก ให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขในแต่ละด้านอาจต้องเปลี่ยนแปลงไปตามการเจรจากับ 13 ประเทศซึ่งเข้าร่วมเจรจา ในฐานะผู้ก่อตั้ง ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย และสหรัฐ


หลังจากนี้ ทั้ง 13 ประเทศต้องหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีความสอดคล้อง การที่สภาของแต่ละประเทศต้องร่วมให้สัตยาบัน และโอกาสการรับสมาชิกเพิ่มในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่มีจีน ส่วนไต้หวันที่แสดงเจตจำนงตั้งแต่แรก ยังไม่ได้เข้าร่วมการเจรจารอบนี้


ด้านนายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวถึงไอพีอีเอฟว่า เอเชีย-แปซิฟิก ไม่ใช่ภูมิภาคที่อยู่บนเกม “กระดานหมากการเมือง” กรอบความร่วมมือระหว่างภูมิภาคไม่ว่าในเรื่องใดก็ตาม ควรตั้งอยู่บนหลักการของการเคารพและให้เกียรติ การไม่ก้าวล่วงอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และอธิปไตยของประเทศใด อีกทั้งไม่ควรใช้ “หลักการแบบสงครามเย็น” ให้เกิดการต้องเลือกข้าง และแบ่งแยก.

เครดิตภาพ : REUTERS