เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่เอกสารทางกฎหมายบนเว็บไซต์และช่องทางออนไลน์ ซึ่งเปิดเผยว่าเมื่อต้นปีนี้ กลุ่มบริษัทผู้เป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าหรู ได้รับคำสั่งจากศาลประจำเขตฝูหรง เมืองฉางซา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลหูหนาน ให้จ่ายค่าเงินคืนแก่ลูกค้ารายหนึ่งที่ซื้อกระเป๋าและเครื่องประดับของบริษัทเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว คิดเป็นเงิน 22,350 หยวน (ประมาณ 114,500 บาท) จากร้านสาขาในห้างสรรพสินค้าสุดหรูแห่งหนึ่งในฉางซา และต่อมา กระเป๋าใบที่เธอซื้อมาก็ได้รับการพิสูจน์โดยบุคคลที่ 3 ว่าเป็นของเลียนแบบ

นอกเหนือจากจะต้องคืนเงินให้ลูกค้าแล้ว ศาลยังสั่งให้บริษัทจ่ายเงินชดเชยเพิ่มเติม โดยคิดเป็น 3 เท่าของราคาสินค้าที่ลูกค้าได้จ่ายไป เป็นเงิน 67,050 หยวน (ประมาณ 343,300 บาท)

ด้าน หลุยส์ วิตตอง ได้ออกแถลงการณ์และแจ้งไปยังสื่อในท้องถิ่นว่า ได้ยื่นเรื่องขออุทธรณ์คดีไปแล้ว บริษัทยืนยันว่าเคารพกฎหมายของจีน แต่ขอปฏิเสธว่าร้านในเครือของบริษัทจำหน่ายสินค้าปลอม และไม่ยอมรับว่ากระเป๋าซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นของเลียนแบบนั้น เป็นสินค้าที่จำหน่ายจากร้านค้าของ หลุยส์ วิตตอง โดยตรง

ในระหว่างประกาศคำตัดสินคดี ศาลของจีนได้ระบุว่า หลุยส์ วิตตอง ไม่ได้นำเสนอหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่า ลูกค้าคนดังกล่าวเป็นมิจฉาชีพที่หาเงินจากการข่มขู่และสร้างเรื่องหลอกลวง ในขณะที่ฝ่ายลูกค้านั้น สามารถส่งมอบหลักฐานใบเสร็จและบันทึกการจ่ายเงิน ซึ่งยืนยันได้ว่า กระเป๋าใบดังกล่าวเป็นสินค้าที่ซื้อจากร้านจริง ๆ 

ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายอธิบายต่อสื่อมวลชนจีนว่า หลุยส์ วิตตอง มีระเบียบในการพิสูจน์สินค้าเพื่อให้แน่ใจว่า จะส่งมอบสินค้าของจริงให้ลูกค้า ซึ่งทางร้านสามารถส่งหลักฐานของขั้นตอนนี้ เช่น คลิปจากกล้องวงจรปิด ให้ศาลพิจารณา และหากทำไม่ได้ ก็มีโอกาสที่จะแพ้คดี

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากการตัดสินให้ร้านจ่ายชดเชย 3 เท่า แสดงว่าศาลมองว่าแบรนด์มีพฤติกรรมที่ไม่ซื่อสัตย์ เนื่องจากจำหน่ายสินค้าปลอม ถ้าหากบริษัทไม่พอใจคำตัดสินตั้งแต่แรกก็สามารถยื่นคำร้อง ขออุทธรณ์ได้ภายใน 15 วัน หลังจากได้รับคำตัดสิน และถ้ายังไม่พอใจกับคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ บริษัทก็สามารถยื่นคำร้องไปยังศาลสูงสุดได้อีก

กรณีที่ หลุยส์ วิตตอง โดนกล่าวหาว่าขายกระเป๋าปลอมกลายเป็นหัวข้อที่อยู่ในกระแสของพื้นที่สังคมออนไลน์ของจีนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวเน็ตบางรายแสดงความเห็นว่า ลูกค้าคนนั้นอาจสับเปลี่ยนกระเป๋า ขณะที่หลายรายมองว่าอาจเป็นพนักงานในร้านเสียเอง ที่เป็นคนสับเปลี่ยนกระเป๋าของลูกค้า ซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และเกิดขึ้นกับแบรนด์ หลุยส์ วิตตอง ในจีนมาแล้ว 

เมื่อปี 2563 หลุยส์ วิตตอง ก็พบว่ามีการปลอมแปลงสินค้า โดยพนักงานขายในร้านสาขาที่เมืองกว่างโจว แอบขายสินค้าที่ยังไม่ได้มีการวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการให้แก๊งปลอมสินค้าในราคาที่แพงกว่าราคาขายจริง เพื่อให้มิจฉาชีพทำกระเป๋าปลอมออกมาขายในช่วงเวลาเดียวกับที่ทางร้านนำกระเป๋าจริงออกวางจำหน่าย

ขณะนี้ ทาง หลุยส์ วิตตอง ยังไม่มีแถลงการณ์เพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับคดีนี้อย่างเป็นทางการ

แหล่งข่าว : wwd.com

เครดิตภาพ : Getty Images