เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคุรุสภาว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการการปรับปรุงระบบการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่ เนื่องจากที่ประชุมมองว่าเมื่อผู้เรียนที่จบจากคณะครุศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาชีพครูมาแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมาขอสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอีกจนทำให้เกิดขั้นตอนการขอที่ยุ่งยาก เมื่อจบหลักสูตรครูแล้วก็ต้องมาสอบขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอีก และเมื่อสอบบรรจุข้าราชการแล้วก็ต้องมาสอบขอใบดังกล่าวด้วยเช่นกัน  อีกทั้งผู้เรียนจากคณะครุศาสตร์ก็ถือว่าได้เรียนหลักสูตรวิชาชีพครูครอบคลุมทุกด้านอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อนักศึกษาที่จบจากคณะครุศาสตร์จากนี้ไปจะได้รับใบรับรองการปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching Certificate) อัตโนมัติทันทีเมื่อจบการศึกษาตามหลักสูตรดังกล่าว  จากนั้นเมื่อสอบบรรจุข้าราชการครูคุรุสภาจะดำเนินการเชื่อมโยงระบบกับสำนักงานก.ค.ศ. เพื่อนำไปสู่การขอและเลื่อนวิทยฐานะได้ ดังนั้นเมื่อผ่านการสอบครูผู้ช่วยแล้วจะต้องผ่านเบสิคไลนเซน ได้แล้วก็จะไล่ลำดับต่อไป ทั้งนี้เราต้องการให้การมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมีมาตรฐานสากลเทียบเคียงนานาชาติ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการปรับปรุงระบบการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่นั้น ได้กำหนดให้มีใบรับรองการปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching Certificate)  ซึ่งจำแนกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Professional Teaching License: B-license) 2.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นกลาง  (Intermediate Professional Teaching License :I-license)  และ3.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง  (Advanced Professional Teaching License : A-license)  โดยมีระบบการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Professional Teaching License: B-icense) กำหนดให้มีการทดสอบความรู้และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ประกอบด้วย วิชาครู (PCK และทักษะวิชาชีพครู) 6 วิชาที่สอน (Content พื้นฐาน) โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้ ปฐมวัย  การศึกษาพิเศษ วิชาบูรณาการ
วิชาเฉพาะ (ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน) อาชีวศึกษา ตามหลักสูตรการอาชีวศึกษา แยกตามสาขา/แขนง อย่างไรก็ตามการปรับปรุงเรื่องดังกล่าวคุรุสภาได้มีการประชาพิจารณ์ในกลุ่มผู้ผลิตครูเห็นด้วยในหลักการนี้  90%  และกลุ่มผู้ใช้ครูเห็นด้วย 95 % เช่นเดียวกัน