จากกรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีเพจพรรคพลังประชารัฐ ลบโพสต์นโยบายหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ออกจากเพจ ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท, ป.ตรีเงินเดือน 2 หมื่น, อาชีวะเงินเดือน 1.8 หมื่น, ลดภาษี 10% บคคลธรรมดา ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ผู้บริหารพรรคมีมติปรับปรุงระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กครั้งใหญ่ของพรรคให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อกับผู้สมัคร ส.ส.ทั้งประเทศ เป็นการเตรียมเลือกตั้งใหญ่ในครั้งหน้า และมันควรลบนโยบายนั้นออกตั้งนานแล้ว

ส่วนในเรื่องนโยบายที่ผ่านมา บางนโยบายที่เราทำไม่ได้ เพราะทางพรรคไม่ได้ดูแลกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนั้นๆ เช่น มารดาประชารัฐ เพราะพรรคอื่นดูแลส่วนเรื่องค่าแรง หลังจากที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เข้าไปดูแล ตอนนี้ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า “พรรคการเมืองคือ ที่รวมของบุคคลต่างๆ ที่มีแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคมที่คล้ายคลึงกัน เมื่อพรรคตัดสินใจส่งคนของพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งนั่นหมายความว่า พรรคการเมืองกำลังเสนอตัว “ขอโอกาสกับประชาชน” ให้เลือกพรรคตนเองเข้าไปทำหน้าที่ “ผู้แทนปวงชน”

ดังนั้น จึงย่อมสะท้อนว่า การที่ประชาชนใช้สิทธิลงคะแนนเลือกบุคลากรของพรรคไป ก็เพราะมุ่งหมายต้องการให้พรรคการเมืองไปดำเนินการ “ทำนโยบาย” ที่โฆษณาหาเสียงไว้ว่า “เป็นอุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคมที่ตรง หรือคล้ายกับผู้เลือก” ในการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นจริง

จริงอยู่ว่าในทางปฏิบัติ ทุกนโยบายที่ทำการเสนอในช่วงหาเสียงเลือกตั้งอาจไม่สามารถทำได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยคงต้องมี “การแสดงออกซึ่งความพยายาม” ว่าพรรคตนเองได้กระทำการ หรือผลักดันนโยบายตามที่สัญญาไว้กับประชาชนแล้วบ้างไม่มากก็น้อย หรืออาจชี้แจงกับประชาชนถึงเหตุผลว่านโยบายที่นำเสนอไว้ไม่สามารถจัดทำได้เพราะติดขัดเรื่องใด อะไรคืออุปสรรค

หาใช่การกล่าวง่ายๆ แต่เพียงว่า ทำไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ดูกระทรวงนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ “พรรคอยู่ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล” (Government party) อีกทั้งยังมีคำถามต่อไปอีกด้วยว่า จนปัจจุบัน ระยะเวลาล่วงเลยผ่านมายาวนานเท่าไหร่แล้วนับตั้งแต่มีการเลือกตั้ง?

การนำเสนอนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งไม่ใช่เพียงแค่การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเรียกคะแนนให้ประชาชนมาลงคะแนนให้ตนเฉพาะช่วงการเลือกตั้งแล้วจบกันไปเท่านั้น แต่มันคือการแสดงความรับผิดชอบว่า “พรรคการเมืองพร้อมจะรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนของปวงชนให้” จึงอาสามาลงสมัครรับเลือกตั้ง

มิฉะนั้นแล้ว การนำเสนอนโยบายของพรรคในช่วงหาเสียงเลือกตั้งก็คงไม่แตกต่างกับการพูดเพียงแค่ “จูงใจให้ประชาชนไปลงคะแนนให้พรรค” ซึ่งกฎหมายห้ามเอาไว้ เพราะอาจกลายเป็นการกระทำที่เข้าข่ายกำลังบิดเบือนการตัดสินใจในการแสดงออกซึ่งเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนในฐานะผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่มองว่า “พรรคคุณคือ พรรคการเมืองที่กำลังทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนอันมีแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม” เหมือน หรือคล้ายคลึงกับเขา?”..

ขอลคุณภาพประกอบ : Ponson Liengboonlertchai