เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิงสรุปใจความสำคัญคือข้อมูลประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงภายในประเทศ โดยก่อนหน้านี้พบชาวต่างชาติ 1 ราย ที่เดินทางมาจากประเทศแถบยุโรป แล้วมาต่อเครื่องที่ประเทศไทยเพื่อเดินทางต่อไปยังออสเตรเลีย โดยมีการรอเปลี่ยนเครื่องในไทย 2 ชั่วโมง ไม่มีอาการอะไร แต่พอบินไปถึงออสเตรเลียตรวจพบว่ามีการติดเชื้อฝีดาษลิง สธ.จึงสอบสวนโรค พบมีผู้สัมผัสใกล้ชิดบนเครื่องบิน และลูกเรือ รวม 12 คน จึงเฝ้าระวังซึ่งผ่านมา 7 วันไม่มีใครมีอาการแต่อย่างใด ทั้งนี้ต้องติดตามครบ 21 วัน

นอกจากนี้ สธ.พบชาวต่างชาติ 3 รายเดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงบินตรงมาลงที่จังหวัดภูเก็ตวันที่ 4 พ.ค. วันที่ 5 พ.ค. และวันที่ 13 พ.ค. พบว่ามีไข้ มีตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองเข้าข่ายโรคฝีดาษลิงส่งตัวมาที่สถาบันบำราศนราดูร เพื่อทำการตรวจแยกโรคพบ 1 คน เป็นเชื้อเริมชนิดที่ 1 คือชนิดที่มีมีการติดต่อทางผิวหนัง ส่วนชาวต่างชาติ อีก 2คน คาดว่ามีการติดเชื้อจากการใช้อุปกรณ์ชกมวยร่วมกันในค่าย

ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ชี้แจงสำหรับนิยามผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร มี 2 ส่วนหลักๆ คือ อาการแรกมีไข้ ร่วมด้วยเจ็บคอ หรืออาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต โดยต้องร่วมกับอาการทางระบาดวิทยากำหนด ส่วนอาการที่สอง คือ มีผื่นตุ่มนูน ผื่นกระจายตามใบหน้า ลำตัว แขนขา แต่ลำตัวจะเล็กน้อย ตรงเอว ไม่มาก ลักษณะจะเป็นผื่นก่อน และตุ่มนูน เปลี่ยนเป็นน้ำใส ปรับเป็นตุ่มหนอง และตกสะเก็ด บวกกับประวัติทางระบาดวิทยา

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกมีรายงานพบผู้ป่วยยืนยัน 406 ราย ผู้ป่วยสงสัย 88 ราย รวม 494 ราย ใน 32 ประเทศ ส่วนใหญ่ประเทศต่างๆ รายงานในลักษณะเป็นผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศ ตอนนี้ที่มีสีเข้ม คือ อังกฤษ 101 ราย เยอรมนี 22 ราย สเปน 139 ราย และ โปรตุเกส 74 ราย แคนาคา 63 ราย ทั้งนี้มีประเทศที่พบผู้ป่วยรายงานรายใหม่เมื่อวันที่ 29 พ.ค. คือ เม็กซิโก 1 ราย ไอร์แลนด์ 1 ราย เอกวาดอร์ 1 ราย มอลตา 1 ราย ปากีสาน 1 ราย ดังนั้นหลายๆ ประเทศเริ่มพบผู้ป่วยแล้ว ส่วนเอเชีย เริ่มพบที่อิหร่าน ปากีสถาน แต่ประเทศในอาเซียนยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ

เมื่อถามถึงกรณีการดูแล หรือการแยกตัว นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า หากมีความเสี่ยงไปสัมผัสเสี่ยงต่ำ ก็ขอให้สังเกตอาการตัวเองใกล้ชิดแต่ไม่ต้องกักตัว สามารถออกไปทำงานได้ แต่หากมีการสัมผัสเสี่ยงสูงขอให้กักตัวเองที่บ้าน สังเกตอาการ 21 วัน ทั้งนี้ แอลกอฮอล์สามารถฆ่าเชื้อได้ จึงขอให้ประชาชนยังคงมาตรการป้องกันตัวเองสูงสุด หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัย.