หากย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว หลายท่านคงจะนึกภาพไม่ออกว่า ภาษาไทยจะโกอินเตอร์ได้อย่างไร เราอยากปักหมุดให้ทุก ๆ ท่านทราบว่า ปัจจุบันนี้มีการเปิดการเรียนการสอนภาษาไทยในระดับปริญญาตรีในประเทศรอบบ้านเราแล้ว มาติดตามกันว่ามีที่ไหนบ้างและทำได้อย่างไร

จุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดที่ว่า “ภาษา” เป็นสะพานที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในทุก ๆ มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม “ภาษา” เป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่ใช้สื่อความหมายให้สามารถติดต่อสื่อสาร เข้าใจกันระหว่างเพื่อนมนุษย์  ในขณะนี้คนไทยสนใจเรียนภาษาต่างประเทศหลากหลายภาษา เช่น ภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น ภาษาสเปน หรือ ภาษาฝรั่งเศส   คนในประเทศรอบบ้านของเราไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา แสดงความสนใจที่จะเรียนภาษาไทยกันอย่างมาก บ้างก็เรียนอย่างจริงจังในห้องเรียนและสถาบันสอนภาษาเอกชน บ้างก็เรียนผ่านบทเพลง ละคร หรือภาพยนตร์

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ  ได้เล็งเห็นความสำคัญของการทูตภาคประชาชน หรือ การทูตสาธารณะ จึงมีนโยบายสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาไทยในประเทศเพื่อนบ้าน  เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีในระดับประชาชนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมระหว่างกัน  ส่งเสริมและเกื้อหนุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจไทยโดยการสร้างบุคลากรชาวต่างประเทศที่รู้ภาษาไทยเพื่อรองรับการทำงานของธุรกิจไทย  อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่จะเชื่อมต่อความสัมพันธ์ของประชาชนในประชาคมอาเซียนด้วย จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทย รวม 9 มหาวิทยาลัย ในประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ดังนี้

1. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดสอนภาษาไทยระดับปริญญาตรีทั้งวิชาเอกและวิชาโท 5 มหาวิทยาลัยของเวียดนาม โดยในปี 2539 เปิดสอนแห่งแรกที่มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ณ นครโฮจิมินห์ (University of Social Sciences and Humanities – Vietnam National University, Ho Chi Minh City)  ต่อมา ในปี 2544 เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ณ กรุงฮานอย (University of Languages and International Studies – Vietnam National University, Hanoi) ปี 2548 เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยดานัง (University of Foreign Language Studies – The University of Danang)  และปี 2552 เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยฮานอย (Hanoi University)

นอกจากนี้ ช่วงปี 2546 – 2552 ได้มีการเปิดสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศ – เทคโนโลยีสารสนเทศนครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh City University of Foreign Language – Information Technology) อีกด้วย

2. สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มีร่วมมือกับ 2 มหาวิทยาลัยไทย ได้แก่

2.1 มหาวิทยาลัยนเรศวร มีความร่วมมือในการเปิดสอนวิชาภาษาไทยในระดับปริญญาตรี ในปี 2554 ที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศย่างกุ้ง (Yangon University of Foreign Language หรือ YUFL)

2.2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความร่วมมือในการเปิดสอนวิชาภาษาไทยในระดับปริญญาตรี ในปี 2560 ที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศมัณฑะเลย์ (Mandalay University of Foreign Language หรือ MUFL)

3. ราชอาณาจักรกัมพูชา มีความร่วมมือกับ 3 มหาวิทยาลัยไทย ได้แก่

3.1  มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความร่วมมือในการเปิดสอนภาษาไทยในระดับปริญญาตรีในปี 2554 ที่มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ (Royal University of Phnom Penh) และขณะนี้อยู่ในระหว่างการเสนอร่างหลักสูตรปริญญาโทให้กระทรวงศึกษาธิการของกัมพูชาพิจารณา เพื่อจะเปิดสอนในอนาคตอันใกล้

3.2 . มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มีความร่วมมือในการเปิดสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยพระตะบอง โดยเป็นการจัดหลักสูตรระยะสั้น ในปี 2558  หลักสูตรระดับประกาศนียบัตร ในปี 2559   และหลักสูตรวิชาเลือกภาษาไทย ในปี 2560   โดยในอนาคตจะเปิดสอนเป็นระดับปริญญาตรี

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นักศึกษาในประเทศเหล่านี้ต้องการเข้าเรียนหลักสูตรภาษาไทยจำนวนมากขึ้น ผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรภาษาไทยเป็นที่ต้องการของของตลาดแรงงานภายในประเทศด้วยทักษะภาษาไทย จึงมีโอกาสเข้าทำงานและเป็นที่ต้องการของของบริษัทเอกชนไทยที่ไปลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และบริการ  โดยเฉพาะการบริการด้านการโรงแรมและท่องเที่ยว

นอกจากการสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทยในสถาบันการศึกษาของทั้ง 3 ประเทศแล้ว กรมความร่วมมือระหว่างประเทศพยายามขยายโอกาสความร่วมมือในการเสริมสร้างสถานะของไทย และคนไทย โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัครในการสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้โครงการดังกล่าว เพื่อส่งเสริมการสอนภาษาไทยในต่างประเทศมากขึ้น เช่น การส่งผู้เชี่ยวชาญไปนิเทศเป็นระยะและอาสาสมัครไปปฏิบัติงานเป็นผู้ช่วยสอนภาษาไทยภายใต้โครงการฯ ใน 3 ประเทศ รวมทั้งส่งอาสาสมัครตามคำขอไปปฏิบัติงานที่ประเทศภูฏาน

ความยั่งยืนของโครงการจะไม่เกิดขึ้น หากประเทศไทยไม่ส่งเสริมและพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศคู่ร่วมมือทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคคลากรของภาควิชาภาษาไทยมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การเรียนการสอนภาษาไทยมีมาตรฐานและยั่งยืน โดยการให้ทุนศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาภาษาไทย สำหรับอาจารย์สาขาภาษาไทย มาศึกษาต่อในประเทศไทย การพัฒนาทักษะ การวิจัยของอาจารย์ การพัฒนาทักษะและสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยแบบเข้มข้นระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ มีคำขอระดับรัฐบาลจากมัลดีฟส์ส่งตำรวจมาเรียนภาษาไทย กัมพูชาส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศมาเรียนภาษาไทย เมียนมาส่งเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงศึกษาธิการมาเรียนภาษาไทย  และมองโกเลียได้ส่งนักการทูตมาเรียนภาษาไทยด้วย

เพื่อให้นักศึกษาภาควิชาภาษาไทยได้เรียนรู้การใช้ภาษาแบบเจ้าของภาษาและสามารถสื่อสารกับคนไทยได้ตามวัตถุประสงค์ สัมพันธ์กับเนื้อหาในบทเรียนและภาษาที่ใช้จริงในชีวิตประจำวัน เชื่อมโยงกับสังคมและวัฒนธรรมไทย และซึมซับความเป็นไทยมากยิ่งขึ้น กรมความร่วมมือระหว่างประเทศจึงสนับสนุนกิจกรรมอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มให้แก่นักศึกษาเวียดนามซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่อง 20 ปี  โดยคัดเลือกนักศึกษาเวียดนามที่เรียนภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเวียดนามมาอบรมภาษาและวัฒนธรรมไทยในประเทศไทยเป็นเวลา 1  เดือน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษาเมียนมา วิชาเอกภาษาไทย จำนวน 20 ราย เข้ารับการฝึกอบรมอบรมภาษาไทยหลักสูตรระยะสั้นที่ประเทศไทยเพื่อให้นักศึกษาได้มาสัมผัสวัฒนธรรมและมีประสบการณ์ที่ดีเกี่ยวกับประเทศไทย  

ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ และอาสาสมัคร ที่กล่าวมานั้นเป็นการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือและส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนและภาควิชาการในการสนับสนุนการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกทบทบาทหนึ่งของการทูตเพื่อการพัฒนาในการสร้างความนิยมไทยและภาพลักษณ์ที่ดีของไทยผ่านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมให้เอื้อต่อการสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน และการบริการ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีผ่านความนิยมไทยอย่างยั่งยืน