บุญหลวง” หรืองานบุญเดือนแปด หรือ ฮีตแปด หนึ่ง ใน ฮีตสิบสองคองสิบสี่ ขนบธรรมเนียมประเพณีชาวอีสาน ที่ ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำ “ฮีต” หรือ จารีต ซึ่งหมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดี และ “สิบสอง” หมายถึง สิบสองเดือน จึงหมายถึงประเพณีที่ชาวอีสาน ปฏิบัติกันมาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ส่วน “คองสิบสี่” เป็นคำและข้อปฏิบัติคู่กับฮีตสิบสอง “คอง” คือแนวทาง หรือ ครรลอง หมายถึง ธรรมเนียมประเพณี หรือแนวทาง และ “สิบสี่” หมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางปฏิบัติสิบสี่ข้อ ดังนั้นคองสิบสี่จึงหมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางที่ประชาชนทุกระดับ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง พระสงฆ์ และคนธรรมดาสามัญพึงปฏิบัติสิบสี่ข้อ

งานบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน เป็นประเพณีที่ได้รวมเอางานบุญฮีตเดือนสี่ (บุญเผวส) ฮีตเดือนห้า (บุญสงกรานต์) ฮีตเดือนหก (บุญบั้งไฟ) และฮีตเดือนเจ็ด (บุญซำฮะ) มาจัดขึ้นพร้อมกันในช่วงเดือนแปด ของทุกปี มักอยู่ระหว่างปลายเดือน มิ.ย.ถึงช่วงต้นเดือน ก.ค.ของทุกปี เพื่อเป็นการบูชาอารักษ์หลักเมือง และพิธีการบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าในอดีต ซึ่งจะมีขึ้นในช่วง เดือนแปด ของทุกปี ทั้งนี้เจ้าพ่อกวน ผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นผู้กำหนดวันงาน โดยผ่านพิธีการเข้าทรงล่วงหน้า โดยเริ่มต้นจัดที่วัดโพนชัยเป็นที่แรก ลำดับที่สอง วัดศรีสะอาด ลำดับที่สาม วัดโพธิ์ศรี และวัดศรีภูมิ เป็นลำดับสุดท้าย

นายนที พรมภักดี นอภ.ด่านซ้าย กล่าวว่า การละเล่นผีตาโขนเป็นประเพณี ที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอด่านซ้ายเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีการเล่นแบบนี้ในที่อื่น มักแสดงในงาน “บุญหลวง” การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรี เดินทางออกจากป่ากลับสู่เมืองบรรดา ผีป่าหลายตน และสัตว์นานาชนิดอาลัยรัก จึงพากันแห่แหนแฝงตัวแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกกันว่า “ผีตามคน” หรือ “ผีตาขน” จนกลายมาเป็น “ผีตาโขน” อย่างในปัจจุบัน

ด่านซ้าย เป็นอำเภอเก่าแก่ในอดีต มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนาน สันนิษฐานว่าก่อตั้งก่อนกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี มีชายแดนติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเลย ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 4 ม.ค. 2450 อายุครบ 115 ปี ในปีนี้ ซึ่งชาวบ้านช่วยกัน อนุรักษ์สืบสานงานบุญประเพณีเฉกเช่นชาวอีสานอย่างเคร่งครัดครบทั้งสิบสองเดือน โดยผ่านผู้นำทางวัฒนธรรม การกำหนดการจัดงาน “ประเพณีบุญหลวง” ที่วัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย จะกำหนดวันภายหลังจากที่มีพิธีบวงสรวงอารักษ์หลักเมืองที่ “หอหลวง” และ “หอน้อย” ขณะที่กระทำพิธีบวงสรวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าเมืองในอดีต โดยจะเข้าทรงร่างผ่าน “เจ้าพ่อกวน” (“เจ้ากวน” คือ พิธีกรรมความเชื่อที่ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการอัญเชิญวิญญาณเจ้าในอดีตเข้าร่างหรือเข้าทรง เป็นผู้กระทำพิธี) โดยจะมีรับสั่งอนุญาตกำหนดวันในการจัดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนจะกระทำการขออนุญาตกำหนดวันจัดงานพิธีที่ “หอน้อย” งานบุญประเพณีบุญหลวงจัดขึ้นที่วัดโพนชัย จะเว้นไม่กระทำไม่ได้ มีความเชื่อว่าปีใดไม่กระทำจะเกิดเภทภัยต่างๆ เกิดขึ้นกับชุมชนชาวด่านซ้าย โดยจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 1-3 ก.ค.65

วันที่ 1 ก.ค. 65 เป็นวันรวม (วันโฮม) เวลา 03.30 น. มีพิธีบวชพราหมณ์ ณ อุโบสถวัดโพนชัย จากนั้นคณะบริวารของเจ้าพ่อกวน มีพ่อแสน นางแต่ง ชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ พร้อมนำอุปกรณ์ที่เตรียมเข้าพิธี ถือเดินขบวนจากวัดโพนชัย ไปที่ริมลำน้ำหมัน เพื่ออัญเชิญพระอุปคุตจากกลางลำน้ำหมันไปประดิษฐานอยู่ที่หออุปคุต วัดโพนชัย เพื่อช่วยปราบมาร และป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ระหว่างจัดงาน พิธีตักบาตรแด่พระสงฆ์ (หน้าวัดโพนชัยมาจนถึงแยกกำนันลี) พิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าพ่อกวน-เจ้าแม่นางเทียม (บ้านเจ้าพ่อกวน) ขบวนเจ้าพ่อกวนแห่จากบ้านไปยังวัดโพนชัย พร้อมผีตาโขนใหญ่ 1 คู่

ขบวนเจ้าพ่อกวน ขบวนเยาวชน ประชาชนทั่วไป ผีตาโขนพร้อมกันที่วัดโพนชัย พิธีการกิจกรรมงานวันโฮม (ณ วัดโพนชัย)-ชมกิจกรรมการแสดงของนักเรียนสลับกับการประกวดต่างๆ ชมกิจกรรมการแสดงบนเวทีกลางหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย ช่วงบ่าย ตามลำดับ

วันที่ 2 ก.ค. 65 ที่หน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย พิธีเปิดงานบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนและหน้ากากนานาชาติประจำปี 2565 ชมขบวนเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขบวนพระเวสสันดร ขบวนเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม พ่อแสน นางแต่ง ขบวนแห่องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น ปีนี้จัดรวม องค์การบริหารส่วนปกครองท้องถิ่น.เป็น 2 ขบวนใหญ่ พร้อมเหล่าผีตาโขนใหญ่น้อยจากคุ้มบ้านต่างๆ ในอำเภอด่านซ้ายกว่า 1,000 ตน หยอกล้อ ถ่ายถาพกับนักท่องเที่ยว ตลอดเส้นทาง แห่ไปสิ้นสุดที่วัดโพนชัย

ช่วงบ่าย ห้ามพลาด เวลา 15.00 น. มีพิธีบายศรีสู่ขวัญพระเวส (บ้านเจ้าพ่อกวน) จากนั้นขบวนอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง พร้อมเหล่าผีตาโขน จากบ้านเจ้าพ่อกวนไปยังวัดโพนชัย-ขบวนอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมืองถึงบริเวณวัดโพนชัย แห่รอบโบสถ์สามรอบ-พิธีอัญเชิญพระพุทธรูปเข้าโบสถ์-พีธีจุดบั้งไฟพญาแถนเพื่อขอฝน (หลังวัดโพนชัย)-พิธีทิ้งหน้ากากผีตาโขน (ท่าวังเวิน) วัดโพนชัย เวลา 19.00 น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์ (เทศน์พระมาลัยหมื่น แสน) เวลาเดียวกันที่เวทีกลางหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย ชมดนตรีและปาร์ตีผีตาโขนกลุ่มอิสระหน้าสวยงาม

วันที่ 3 ก.ค.65 เป็นการฟังเทศน์มหาชาติ ชาวบ้านจะมานั่งฟังธรรมภายในอุโบสถวันโพนชัยตั้งแต่เช้ามืด รวม 13 กัฐ เพื่อเป็นการสร้างกุศล เพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิตเป็นอันเสร็จพิธี

ด้าน นายประสงค์ จันทรศร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลด่านซ้าย กล่าวว่า เพื่อเป็นการร่วมกิจกรรมงานฯ ทางเทศบาลตำบลด่านซ้ายร่วมกับอำเภอด่านซ้าย ได้จัดมหกรรมอาหารสะอาด รสชาติอร่อย ให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อน ลิ้มลองอาหารสะอาดถูกหลักอนามัย พร้อมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม ณ บริเวณตลาดเย็น เทศบาลตำบลด่านซ้าย และจัดการประกวดอาหารพื้นบ้าน โดยนายอำเภอด่านซ้าย ประธานพิธิเปิดงานในวันที่ 29 ก.ค.65 เวลา 19.00 น. และตัดสินมอบรางวัลวันที่ 30 ก.ค. 65 เวลาเดียวกัน

นักท่องเที่ยวที่พลาดวันที่ 1-3 กรกฎาคม 65 สามารถชมขบวนผีตาโขนได้อีก วันที่ 4-6 กรกฎาคม 65 ที่วัดศรีภูมิบ้านนาหอ วันที่ 7-9 กรกฎาคม 65 ที่วัดศรีสะอาดบ้านหนามแท่ง และ วันที่ 9-10 กรกฎาคม 65 ที่วัดโพธิ์ศรีบ้านนาเวียงใหญ่ ชื่องาน “งานไหลผีตาโขน”

ขอเชิญนักท่องเที่ยวที่สนใจร่วมเที่ยวงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ประจำปี 2565 สามารถสอบถามข้อมูลและขอรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โทร. 0-4289-1266 ทุกวัน ในเวลาราชการ สำนักงานเทศบาลตำบลด่านซ้าย โทร. 0-4289-1231