เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้นัดฟังคำพิพากษา คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.180/2564 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญาทุจริต 3 เป็นโจทก์ น.ส.จันทร์จิรา ธนะพัฒน์ โจทก์ร่วมที่ 1 นายจักรกฤษณ์ กลั่นดี โจทก์ร่วมที่ 2 ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผกก.โจ้ อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรค์, พ.ต.ต.รวีโรจน์ ดิษทอง สว.สส., ร.ต.อ.ทรงยศ คล้ายนาค รอง สวป., ร.ต.ท.ธรณินทร์ มาศวรรณา รอง สวป., ด.ต.วิสุทธิ์ บุญเขียว ผบ.หมู่ ป., ด.ต.ศุภากร นิ่มชื่น ผบ.หมู่ ป. และ ส.ต.ต.ปวีณ์กร คำมาเร็ว ผบ.หมู่ ป. เป็นจำเลยที่ 1-7 ในฐานความผิด 4 ข้อหา

เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย และร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมทั้ง 2

สืบเนื่องจากนายจิระพงษ์ หรือ มาวิน ธนะพัฒน์ ผู้เสียชีวิต ซึ่งถูกจับและควบคุมไว้ในคดียาเสพติดและถูกฆ่าถึงแก่ความตายขณะอยู่ในความความควบคุมของเจ้าพนักงาน เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ที่ สภ.เมืองนครสวรรค์

วันนี้โจทก์ โจทก์ร่วมที่ 1-2 ทนายโจทก์ร่วมที่ 1-2 ทนายจำเลยมาศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ศาลได้ใช้วิธีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังเรือนจำกลางคลองเปรม สถานที่คุมตัวจำเลย 1-7 โดยบรรยากาศผ่านจอภาพคอนเฟอเรนซ์ทางฝั่งเรือนจำกลางคลองเปรม พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ผู้สื่อข่าวสังเกตว่ามีลักษณะร่างกายสมบูรณ์ สีหน้าก่อนอ่านคำพิพากษาไม่แสดงถึงความวิตกกังวล และจัดตำแหน่งกล้องที่ส่งสัญญาณภาพด้วยตนเอง ทั้งนี้ก่อนการเริ่มกระบวนการ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ได้สอบถามทางทนายผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ว่าได้ยื่นบันทึกผลการทำงานตลอดช่วงการรับราชการประกอบไปกับแถลงการณ์ปิดคดีของตนแล้วหรือไม่

ในระหว่างรอการฟังคำพิพากษา พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ได้ก้มอ่านเอกสารตลอดเวลาและมีการพูดคุยกับจำเลยรายอื่นเป็นบางจังหวะ ทั้งนี้ในขณะที่ผู้พิพากษากำลังจะเริ่มอ่านคำพิพากษาในช่วง 10.00 น. พ.ต.อ.ธิติสรรค์ได้ขออนุญาตอ่านแถลงการณ์ต่อศาล แต่ศาลได้ชี้แจงกลับว่า วันนี้เป็นการนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ก่อนหน้าทางศาลได้รับคำแถลงการปิดคดีทั้งหมด 454 หน้า ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดการปิดคดี คำแถลงและผลการทำงานในขณะที่รับราชการเป็นตำรวจ ซึ่ง พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ได้กล่าวกับศาลว่า อยากกล่าวขอโทษทุกคนและอยากอธิบายให้เข้าใจในสิ่งที่ทำเพราะที่ผ่านมาทนายความของตนไม่เคยเดินทางมาพบที่เรือนจำ ตนไม่เคยเห็นคำแถลงปิดคดีของตัวเอง อย่างไรก็ตามศาลไม่อนุญาตให้อ่านแถลงการณ์ดังกล่าวเพราะศาลได้ทำการพิจารณารายละเอียดเรียบร้อย

อย่างไรก็ตามในระหว่างที่ศาลได้อ่านพฤติการณ์จากหลักฐานคลิปภาพว่าระหว่างเกิดเหตุมาวินส่งเสียงร้องโอดโอยจากการถูกทรมาน น.ส.จันทร์จิรา มารดาของผู้เสียชีวิตได้ร้องไห้ ซับน้ำตาตลอดเวลา

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1-7 กับพวกรวม 13 คน ล่อซื้อจับกุมนายจิระพงษ์ หรือ มาวิน กับแฟนสาวคดียาไอซ์ จากนั้นจำเลยที่ 1-5 และ7 นำตัวผู้ตายมาสอบสวนเพื่อขยายผลจับกุมยาเสพติดที่ห้องปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือห้อง 05 โดยไม่ทราบว่ามีการติดกล้องวงจรปิด แต่เมื่อศาลเปิดภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดก็ยอมรับว่าเป็นบุคลในภาพและมีพยานโจทก์ปากอื่นที่เป็นเจ้าหน้าที่กองตรวจพิสูจน์หลักฐานเบิกความยืนยันว่าไม่พบการตัดต่อคลิปภาพดังกล่าว ซึ่งมีการใช้ถุงดำคลุมศีรษะผู้ตายตีละใบ จนครบจำนวน 7 ใบ นาน 6 นาทีเศษ ใส่กุญแจมือไพล่หลัง ใช้เข่าทับร่างกายเพื่อมิให้ดิ้นรนขัดขืน เพื่อบังคับให้บอกข้อมูลที่ซุกซ่อนยาเสพติด ซึ่งตรวจดูโทรศัพท์ผู้ตายแล้วเจอภาพยาเสพติดอีกจำนวนหนึ่ง และข่มขู่ว่า “กูจะเอามึงยันตาย หากไม่บอกความจริง” จนผู้ตายส่งเสียงร้อง และพลัดตกจากเก้าอี้และหมดสติดอยู่ที่พื้นห้อง จากนั้นจำเลยที่ 1 และพวกได้ช่วยกันปั๊มหัวใจ ตรวจดูชีพจรแต่พบว่าผู้ตายหมดสติแล้ว จากนั้นจึงพากันนำส่งโรงพยาบาลพริ้นซ์ปากน้ำโพ ซึ่งแพทย์ได้ช่วยเหลือจนสามารถกู้สัญญาณชีพกลับมาได้แต่ยังอยู่ในภาวะวิกฤติ

การที่จำเลย 1, 2, 3, 4, 5 และ 7 ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ตายย่อมเล็งเห็นผลว่าผู้ตายอาจขาดอากาศหายใจได้ ซึ่งการตายเป็นผลโดยตรงจากการถูกคลุมศีรษะด้วยถุงพลาสติกจนขาดอากาศหายใจ การกระทำของจำเลยทั้ง 6 คน จึงมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยใช้ถุงพลาสติก 7 ใบคลุมศีรษะทีละใบด้วยความโหดร้ายทรมาน

ส่วน ด.ต.ศุภากร จำเลยที่ 6 ฟังได้ว่า แม้จะมีส่วนร่วมกับการจับกุมตัว นายจิระพงษ์ หรือ มาวิน แต่เมื่อจำเลยที่ 1-5 และ 7 นำตัวมาสอบสวนขยายผลยาเสพติด จำเลยที่ 6 ได้เข้าไปยังห้องที่เกิดเหตุดังกล่าวแล้วเห็นว่าผู้ตายนอนหมดสติอยู่ที่พื้นห้องก็มีการตื่นตกใจและได้เดินออกจากห้องไปไม่กลับเข้ามาอีก จนกระทั่งได้ยินเสียงเรียกให้ช่วยนำผู้ตายส่งโรงพยาบาล จึงได้เข้ามาช่วยเหลือดังกล่าว

ศาลมีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-5, 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 157, 289 (5) (มีเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยเล็งเห็นผล โดยทรมานหรือโดยกระทำ ทารุณโหดร้าย), 308 วรรคสอง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 309 วรรคสอง พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทําความผิดของจำเลยที่ 1-5, 7 ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่ง หรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ฐานร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต หรือร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงและทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น และฐานร่วมกันฆ่าอื่นผู้โดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายเป็นการกระทำ อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1-5, 7 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น (โดยเป็นเจตนาเล็งผลตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง) โดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (5) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิต

การกระทําความผิดของจำเลยที่ 6 ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และฐานร่วมกับตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจ่ายอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต หรือร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง และทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจ ต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด แต่ความผิดบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กับพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 มีระวางโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 8 ปี

จำเลยทั้งเจ็ดรับข้อเท็จจริงบางส่วนและนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง หลังเกิดเหตุจําเลยทั้งเจ็ด พยายามช่วยเหลือผู้ตายโดยช่วยปั๊มหัวใจผู้ตาย และรีบนำตัวผู้ตายส่งโรงพยาบาล จนแพทย์ช่วยรักษาผู้ตายมีสัญญาณชีพและหัวใจกลับมาเต้นก่อนที่ผู้ตายจะถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา รู้สึกความผิดช่วยค่าปลงศพผู้ตายเป็นเงิน 30,000 บาท และวางเงินบรรเทาผลร้ายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองคนละ 300,000 บาท นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงลงโทษจำคุก จำเลยที่ 1-5, 7 ตลอดชีวิต คงจำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 5 ปี 4 เดือน ข้อหาและคำขออื่นให้ยก

ในส่วนคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตาย โดยกระทำทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดาและมารดา ผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 แต่เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดเป็นเจ้าพนักงาน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยที่พระราชบัญญัติความรับผิด ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 บัญญัติว่า หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย ในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ดังนั้น โดยผลของมาตรา 5 ดังกล่าว โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นบิดาและมารดาของผู้ตายซึ่งเป็นผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้กระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงเป็นผลให้โจทก์ร่วมทั้งสอง ผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยกคำร้องขอดังกล่าวมิได้เป็นการตัดสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมของโจทก์ร่วมทั้งสอง แต่โจทก์ร่วมทั้งสองต้องไปดำเนินการเรียกเอากับหน่วยงานของรัฐที่จำเลยทั้งเจ็ดสังกัดอยู่