หลังตำรวจแถลงมาตรการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ในพื้นที่กรุงเทพฯ หากกระทำผิดแล้วได้ใบสั่ง แต่ไม่ชำระค่าปรับ จะออกใบเตือน 1 ครั้ง หมายเรียก 2 ครั้ง ก่อนขอศาลออกหมายจับ อาจส่งผลถูกตำรวจจับกุมตัว และมีประวัติอาชญากรรม กระทบทำนิติกรรม สมัครงาน เดินทางไปต่างประเทศ จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

ตร.เอาจริง ใครไม่จ่ายค่าปรับใบสั่ง เจอหมายจับแน่ เผยสถิติสูงสุดค้างจ่าย 59 ใบ

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นายนิพนธ์ จันทเวช เลขาธิการสภาทนายความ ในฐานะโฆษกสภาทนายความฯ ได้แสดงความเห็นกรณีดังกล่าวว่า ในมุมของนักกฎหมาย การที่ตำรวจจะออกหมายเรียก หรือ ขอหมายจับนั้น เป็นอำนาจตามกฎหมายที่พนักงานสอบสวนสามารถกระทำได้ แต่การจะออกหมายจับในแต่ละครั้งนั้นทางพนักงานสอบสวนต้องออกหมายเรียกผู้ต้องหาก่อน หากไม่มาตามนัด ทางพนักงานสอบสวนต้องเขียนรายงานพฤติกรรม เหตุผลที่ต้องออกหมายจับให้กับทางศาล ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าเข้าเงื่อนไขทางกฎหมายหรือไม่

ความร้ายแรงแห่งพฤติการณ์ สำหรับตนคิดว่า ในปัจจุบันมีการออกใบสั่งทำผิดจราจรวันหนึ่งน่าจะมากกว่า 1 พันใบ ถ้ารวมๆ แล้วเดือนหนึ่งก็มากกว่าหมื่นฉบับ การที่ศาลจะออกหมายจับเป็นพันๆ นั้นคงเป็นไปได้ยาก ยกเว้นแต่บางกรณีอย่างที่เคยเป็นข่าวช่วงหนึ่งว่า มีผู้กระทำผิดรายเดียวมีใบสั่งมากกว่า 100 ใบ และไม่ยอมชำระค่าปรับ ซึ่งที่ศาลอาจจะใช้ดุลพินิจออกหมายจับน่าจะเป็นกลุ่มทำผิดซ้ำซากมากกว่า หรือความผิดรุนแรง เช่น ชนผู้อื่นบาดเจ็บแล้วหนี หรือขับรถประมาทจนทำให้มีผู้เสียชีวิต

การที่ตำรวจออกข่าวว่าจะดำเนินการดังกล่าว ตนมองว่าเป็นการป้องปรามไม่ให้คนทำผิดกฎจราจร ให้คนที่โดนใบสั่งไปชำระค่าปรับ เพื่อกลายเป็นภาษีมาพัฒนาประเทศต่อไป.