สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ว่าในสัปดาห์นี้ เบอร์เกอร์คิงมากกว่า 150 สาขาทั่วญี่ปุ่น เริ่มจำหน่ายอาหารชุดที่มีชื่อว่า “เกือบเรียกได้ว่ามันฝรั่ง” หรือ “แทนมันฝรั่ง” โดยแทนที่เป็นการจำหน่ายเบอร์เกอร์ หรืออาหารอื่นคู่กับเฟรนช์ฟรายส์ตามปกติ ทางร้านเลือกเสิร์ฟอาหารคู่กับราเม็งกรอบแทน


ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ก่อนได้ข้อสรุปเป็นราเม็งทอดกรอบ เบอร์เกอร์คิงในญี่ปุ่นพิจารณาระหว่าง “ราเม็งต้ม” “ปลาหมึกต้ม” หรือ “พายแอปเปิ้ล” อย่างไรก็ตาม ลูกค้าประจำจำนวนหนึ่งแสดงความไม่พอใจออกมาอย่างชัดเจน ที่เบอร์เกอร์คิงเลือกใช้วิธีนี้ หลายคนกล่าวว่า อาจไปอุดหนุนแมคโดนัลด์แทน


ปัจจุบัน มันฝรั่งซึ่งใช้บริโภคในญี่ปุ่น มาจากการนำเข้าเกือบทั้งหมด และเป็นการสั่งซื้อจากสหรัฐเพียงประเทศเดียว อย่างไรก็ตาม ผลผลิตมันฝรั่งของสหรัฐ ลดลงนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานต่างชาติ และภัยแล้งในหลายรัฐ ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญของสหรัฐ

หนำซ้ำสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยิ่งเพิ่มความวิกฤติ ให้กับห่วงโซ่อุปทานโลก เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิต และส่งออกสินค้าเกษตรหลายประเภทเป็นรายใหญ่ลำดับต้น และการสู้รบส่งผลให้ต้นทุนทางการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น


อย่างไรก็ตาม แมคโดนัลด์ในญี่ปุ่นเคยประสบปัญหาแบบเดียวกับเบอร์เกอร์คิงมาก่อนแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา แมคโดนัลด์ทุกสาขาในญี่ปุ่น ต้องใช้วิธีปันส่วนเฟรนช์ฟรายส์ และนักเก็ตมันฝรั่ง เป็นเวลานานเกือบ 1 เดือน ส่วนเคเอฟซีในญี่ปุ่น ใช้วิธีระงับขายเฟรนช์ฟรายส์ชั่วคราว และจนถึงตอนนี้ เครือร้านอาหารทั้งสองบริษัทในญี่ปุ่น ยังคงจำกัดปริมาณการขายอาหารจากมันฝรั่งให้แก่ลูกค้า

ส่วนสถานการณ์ของไทยนั้น น.ส.ณัฐวณี ยมโชติ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยเศรษฐกิจพืชสวน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดกรณีมีข่าวว่า มันฝรั่งในหลายพื้นที่ทั่วโลกขาดแคลน และเกรงว่าจะมีผลกระทบในประเทศ ว่า “ขณะนี้เกษตรกรในบ้านเราปลูกมันฝรั่งอยู่ 2 พันธุ์ พันธุ์แรกคือ พันธุ์โรงงานมีผลผลิตเพียง 1.2 แสนตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีสูงถึง 1.8-2 แสนตัน ดังนั้นจึงมีการนำเข้าในส่วนที่เหลือ และเพิ่มมากขึ้น เช่นปี 2564 นำเข้าจำนวน 6.3 หมื่นตัน ปี 2565 นำเข้า 7.1 หมื่นตัน และปี 2566 นำเข้า 8 หมื่นตัน”


ทั้งนี้ การนำเข้ามันฝรั่งจะเป็นไปตามข้อผูกพันขององค์การการค้าโลก ( ดับเบิลยูทีโอ ) โดยมีคณะอนุกรรมการจัดการการผลิต และการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง เป็นผู้จัดสรรคโควตาให้กับบริษัทที่แจ้งความจำนงมา จากนั้นจะส่งเรื่องให้กรมการค้าระหว่างระเทศ เพื่อออกประกาศตามขั้นตอนต่อไป


“มันฝรั่งโรงงานในบ้านเราไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด จะมีบ้างเล็กน้อยก็เรื่องของอากาศที่เปลี่ยน แต่ช่วงนี้ที่กระทบคือการขนส่ง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากคณะอนุกรรมการ ฯ กำหนดให้มีการนำเข้าได้ในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. แต่เจอสถานการณ์โควิด-19 อาจมีการขนส่งล่าช้าได้ แต่ทางผู้ค้าต้องแก้ปัญหาเอง ส่วนพันธุ์บริโภค ที่เกษตรกรปลูกอยู่ในประเทศได้ผลผลิตปีละประมาณ 3,000 ตันต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ”.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES