กลายเป็นประเด็นร้อนในวงการสื่อสารโทรคมนาคมอีกแล้ว หลังจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส ประกาศซื้อหุ้นบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ หรือ 3BB และเงินลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน JASIF เพื่อขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ ด้วยมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท โดยคาดว่าดีลจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 1 ของปี 2566 ถ้าได้รับการอนุมัติจาก กสทช.

ทำไม? เอไอเอสต้องซื้อกิจการ 3BB และจะส่งผลกระทบต่อตลาด และผู้ใช้บริการอย่างไร เรามาฟังการวิเคราะห์ ของผู้คร่ำหวอดในวงการด้านการโทรคมนาคม

วิเคราะห์ตลาดบรอดแบนด์ไทย

ปัจจุบัน ตลาดบรอดแบนด์ไทย เมื่อสิ้นปี 64  ผู้นำในตลาดอันดับ 1 คือ ทรู ออนไลน์ มีฐานลูกค้าอยู่ 4.6 .ล้านราย  อันดับ 2 คือ 3BB มีฐานลูกค้ารวม 3.65 ล้านราย และอันดับ 3 คือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที มีฐานลูกค้า 1.97 ล้านราย และอันดับ 4 คือ เอไอเอส มีฐานลูกค้ารวม 1.77 ล้านราย

ทั้งนี้หากการซื้อหุ้นของเอไอเอสสำเร็จตามแผนใน ไตรมาส 1 ของปี 66 ก็จะทำให้ เอไอเอส ที่เป็นเจ้าของ 3BB รายใหม่ ขึ้นมาเป็นเจ้าตลาดบรอดแบนด์ในไทยทันที ด้วยจำนวนฐานลูกค้า รวมของ 2 บริษัท คือเอไอเอส และ 3BB จำนวน 5.42 ล้านราย แซง ทรูออนไลน์ ที่มีฐานลูกค้าอยู่ 4.6 ล้านราย ทันที

ซื้อกิจการโทรคมนาคมเป็นเทรนด์

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม วิเคราะห์ว่า การควบรวม หรือการเข้าซื้อกิจการบริษัทโทรคมนาคมถือเป็นแนวโน้มที่เห็นได้ปกติ ไม่ใช่เรื่องแปลก ทั้งในและต่างประเทศ ในไทยที่ผ่านมา ก็กรณี ทรู และดีแทค ที่เป็นประเด็นอยู่ และก่อนหน้านี้ ทางเอไอเอส ก็เคยซื้อ บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ มาแล้ว ซึ่งมีความแข็งแกร่งด้านธุรกิจลูกค้าองค์กร ซึ่งการซื้อ 3บีบี ในครั้งนี้ ถือเป็นการเสริมแกร่ง ให้ธุรกิจบรอดแบนด์ ของไอไอเอส คือ เอไอเอส ไฟเบอร์ เพิ่มเติมขึ้นอีก จากเดิมที่จะแข็งแกร่งในการขยายโครงข่ายในพื้นที่ กทม. เท่านั้น ขณะที่ 3BB จะมีความเชี่ยวชาญในทั้งใน กทม. รวมถึงพื้นที่ต่างจังหวัด นอกเมืองต่างๆ ก็จะทำให้เอไอเอส มีความแข็งแกร่งในตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น โดยไม่ต้องไปลงทุนจำนวนมากในการขยายเครือข่าย ลดการลงทุนได้ และช่วยเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้เอไอเอสอย่างแน่นอน

“ผู้ประกอบการในปัจจุบันต้องมีการปรับตัว ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขัน เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการควบรวม หรือซื้อหุ้น ซื้อกิจการ จะเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต่อไป”

กสทช. ต้องพิจารณาดีลต้องใช้ระยะเวลา

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี บอกต่อว่า ดีลซื้อหุ้นครั้งนี้ เชื่อว่า ยังมีกระบวนการต่างๆ อีกมาก ทั้งการแจ้งขอความเห็นชอบต่อผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัทตามขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึง แจ้งและขออนุญาตจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับและออกใบอนุญาต ที่ต้องพิจารณากระบวนการตามกฎหมาย

สืบศักดิ์  สืบภักดี

“ผู้ประกอบการบรอดแบนด์มีจำนวนมากกว่าตลาดมือถือ ยังมีเอ็นที ทรู และบริษัทอื่นๆ แต่ถ้าสามารถควบรวมแล้วเป็นเบอร์หนี่งของตลาด จะทำให้เกิดความได้เปรียบในต้นทุนทำเกตเวย์ ลากสายหรือขยายโครงข่าย ยิ่งทำให้รายที่เข้มแข็งอยู่แล้ว เข้มแข็งมากขึ้น การมีฐานลูกฐานจำนวนมาก เป็นปัจจัยสำคัญของการทำธุรกิจบรอดแบนด์”

ด้าน นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน วิเคราะห์ว่า กรณีมีความคล้ายคลึงกับดีล ทรู-ดีแทค แต่ไม่เหมือนกันซัทีเดียว โดยกรณี ทรู-ดืแทค เป็นการควบรวม บริษัทผู้ประกอบการจะหายไปหนึ่ง แต่ กรณี เอไอเอส จะเป็นการซื้อหุ้น บริษัทยังคงอยู่

อย่างไรก็ตามกรณีนี้ทาง เอไอเอส และ 3BB มีส่วนที่ถือครองธุรกิจที่เหมือนกันอยู่ คือ อินเทอร์เน็ตบ้าน ก็ต้องดำเนินการตามประกาศ กสทช. ปี 2549 ด้วย แต่ กรณี ทรู ดีแทค เป็นการควบรวม บริษัทหายไปหนึ่ง ก็ต้องพิจารณาตามประกาศ กสทช. ปี 2561 ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากบอร์ด กสทช. ทั้งสองดีล จึงต้องแจ้ง ก.ล.ต. และยื่นคำขอมาทาง กสทช.ก่อน

ผู้บริโภคได้หรือเสียประโยชน์อย่างไร?

อย่างไรก็ตาม การเกิดดีลนี้ จะมีกระแสคล้ายกับ กรณีทรู-ดีแทค หรือไม่นั้น ทาง นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา มองว่า ประเด็นหลักต้องดูที่ส่วนแบ่งทางการตลาด เพราะตามหลักการแล้ว เมื่อรายเล็ก รวมกับรายเล็ก จะเพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับรายใหญ่ แต่รายใหญ่รวมกับรายใหญ่ หรือรายเล็ก อาจจะไม่ส่งผลดีต่อตลาด จึงต้องไปดูตัวเลขส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ให้บริการต่างๆ ก่อน

“เอไอเอส และ 3BB มีฐานลูกค้า และ ส่วนแบ่งทางการตลาดเท่าไร หากสูงกว่ารายอื่นๆ ในตลาด คือ ทั้งเอ็นที และทรู ไม่มาก ผลกระทบในตลาดจะก็ไม่มาก ไม่ส่งผลให้ครอบงำตลาด ในทางกลับกันหากสูงกว่ามาก ก็อาจจะเกิดผลกระทบ การแข่งขันอาจลดลง ผู้บริโภคอาจมีทางเลือกน้อยลงได้”  

นายประวิทย์ บอกต่อว่า ค่าบริการเน็ตบ้านจะต่างจากมือถือ มีอัตราการเติมมาหลายปี แต่ที่เปลี่ยนไป คือความเร็ว หรือ สปีด ซึ่งกรณีนี้อาจไม่ทำให้ค่าบริการแพงขึ้น แต่ ความเร็วที่ควรจะได้อาจจะช้าลง เช่น ราคาแพ็กเกจเท่านี้ ควรจะได้สปีดสูงเท่านี้ แต่ไม่ได้ เนื่องจากการแข่งขันเหลือน้อยราย

อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้าน ในการรวมกันครั้งนี้ ก็อาจจะทำให้ทั้งสองบริษัท สามารถมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น ในด้านการซื้อคอนเทนต์มาให้บริการกล่องรับสัญญาณทีวี จากที่ต้องแข่งขันกันเอง ก็มาร่วมมือกัน ทำให้ผู้บริโภคอาจได้ดูคอนเทนต์ใหม่ๆ จากการประมูลจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เพราะทั้งสองบริษัทไม่ต้องแข่งกันเอง

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี วิเคราะห์ในเรื่องนี้ว่า ธุรกิจบรอดแบนด์ไม่ใช่มีแค่อินเทอร์เน็ตตามบ้าน จะมีบริการเสริมต่างๆ เช่น กล่องรับสัญญาณทีวี เช่น กล่อง เอไอเอสเพลย์ บ็อกซ์ คอนเทนต์ที่ซื้อจากต่างประเทศต้องแย่งกันซื้อ เมื่อซื้อหุ้นกันแล้ว คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ก็จะมีอำนาจต่อรองซื้อได้มากขึ้น ก็จะเป็นผลดีกับลูกค้าทั้งสองบริษัท ในฝั่งผู้ประกอบการก็จะมีต้นทุนลดลง แต่สิ่งเหลือก็คือเรื่องราคาค่าบริการ ซึ่งตอนนี้ยังเร็วไป ที่จะตอบว่าจะลดลงหรือไม่ แต่โดยหลักการผู้บริโภคก็ค้องคาดหวังไม่ให้ราคาสูง หรือลดลงได้ก็ดี แต่เรื่องโครงสร้างราคาคงต้องไปดูในอนาคตว่า ทางเอไอเอสมีแนวโน้มหรือนโยบายเรื่องราคาค่าบริการอย่างไร

ทั้งนี้ที่ผ่านมาทั้งสองบริษัททำโปรโมชั่นการตลาดที่ไม่ค่อยเหมือนกัน โดย 3BB จะเป็นผู้ประกอบการที่มักใช้วิธีดัมพ์ราคา ทำให้ราคาบรอดแบนด์ในประเทศไทยต่ำลงและได้สปิดความเร็วเพิ่ม เช่น สปีด 1 กิกะบิต ในราคาต่ำกว่า 1 พันบาท ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต้องลดราคาตามลงมา ทำให้ผู้ใช้บริการได้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ถูกลงเรื่อยๆ

ขณะที่เอไอเอสจะเน้นเรื่องคุณภาพ ที่ผ่านมาโปรโมชั่น จะไม่เน้นที่ดัมพ์ราคา จะเน้นนวัตกรรมและคุณภาพ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ที่น่าสนใจ คือ การผสมรวมกันแล้วโปรโมชั่นจะออกมาอย่างไร แต่คาดหวัง หรือมีความเป็นไปได้ว่า จะมีแพ็กเกจที่หลากหลายราคา เชื่อว่าทางเอไอเอส จะมีการให้ความสำคัญและไม่ทิ้งลูกค้าของทั้งสองบริษัท จะพยามเสนอแพ็กเกจ รักษาฐานลูกค้าทั้งสองเอาไว้ และจะมีแพ็กเกจที่ดึงดูลูกค้าใหม่ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มานำเสนอ แต่ก็เชื่อว่าผู้ให้บริการรายอื่นๆ อย่าทรู และเอ็นที ก็ต้องขยับตัวแข่งขันไม่ให้เสียลูกค้าเช่นกัน ไม่ว่าจะปรับราคาลง หรือเพิ่มความเร็วขึ้น

สุดท้าย นายสืบศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ดีลนี้ เอไอเอส ไม่ได้ซื้อ 3BB อย่างเดียว มีการซื้อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน JASIF ด้วย 19% ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงข่ายบรอดแบนด์ และเคเบิลใต้น้ำ ถือว่าเป็นการขยับให้ความสำคัญการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น เพื่อใช้บริการเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต และการให้บริการด้านเกตเวย์ เพื่อเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตไปสู่ระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นส่วนที่น่าจับตามองอย่างมาก เป็นการเสริมแกร่งให้โครงข่ายที่ให้บริการไปยังต่างประเทศไม่ติดขัดเป็นคอขวด และเสริมบริการให้กับลูกค้าที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามดีลนี้ เพิ่งประกาศเป็นข่าวออกมา ยังมีกระบวนการต้องดำเนินการอีกมาก คงต้องติดตามดูว่า จะสามารถทำได้อย่างฉลุย หรือว่า จะพบขวากหนามเหมือนเช่น กรณี ดีล ทรู-ดีแทค ที่ยังไม่รู้ว่าจะได้บทสรุปว่าอย่างไร?

จิราวัฒน์ จารุพันธ์