น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยถึงกรณี บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ประกาศซื้อหุ้น บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จํากัด (มหาชน) หรือ 3BB ว่า จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน เพราะการควบรวมธุรกิจทำให้ตลาดลดการแข่งขัน จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง เมื่อเหลือรายใหญ่เพียงเจ้าใหญ่ไม่กี่เจ้าต่อไปก็อาจมีผลต่อผู้บริโภคด้านราคาสินค้าและค่าบริการ

“อยากขอเสนอว่าในกรณีนี้ ขอให้เป็นอำนาจของ กสทช. ในการวินิจฉัยว่าการควบรวมครั้งนี้ ว่าทำได้หรือทำไม่ได้ โดย กสทช. ต้องให้คำตอบกับสังคมไทย ว่าหากกระบบตลาดในธุรกิจโทรคมนาคมที่กำลังเดินไปในแนวทางนี้ ที่มีการควบรวมธุรกิจนั้น ผลเสียที่ประเทศไทยจะได้รับคืออะไรและผู้บริโภคควรดำเนินการอย่างไร และหาก กสทช. อนุญาตให้มีการควบรวมได้ ทาง กสทช.จะรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้บริโภคอย่างไร หรือหาก กสทช. ไม่อนุญาตให้ควบรวม ที่อาจนำมาสู่การฟ้องร้องจากบริษัทเอกชน กสทช. ต้องการแรงสนับสนุนจากผู้บริโภคอย่างไร”

น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคจะเร่งจัดประชุมและหารือในอนุกรรม การด้านการสื่อสารฯ ต่อไปในประเด็นดังกล่าว แต่ทั้งนี้จุดยืนในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค คือการไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการหรือการซื้อหุ้นในธุรกิจใด ๆ ที่ทำให้เกิดการมีอำนาจเหนือตลาด ลดทางเลือกผู้บริโภค ลดการแข่งขันในตลาดที่เหลือ ผู้เล่นรายใหญ่น้อยราย ดังนั้น จึงเรียกร้องไปยังภาครัฐ ทั้ง กสทช. และรัฐบาล ให้ออกมาแก้ไขและหาทางออก เพื่อไม่ให้เกิดเป็นปัญหาใหญ่ในกิจการ โทรคมนาคมของประเทศ

ด้าน ภญ.ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า กสทช. ต้องกำกับให้มีผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่น้อยกว่า 3 ราย ปัญหาใหญ่คือ ประเด็นผู้บริโภคขาดอำนาจต่อรองไม่รู้ข้อมูล ดังนั้น กสทช.ควรใช้อำนาจบทบาทในการกำกับด้านคุณภาพและบริการที่เหมาะสมกับผู้บริโภคทั่วไป มิเช่นนั้นจะเท่ากับ กสทช.ละเลยและละเมิดสิทธิผู้บริโภคเสียเอง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไหนรวมกับผู้ประกอบการรายไหน เพื่ออะไร ผู้บริโภคจะรู้ทีหลังเสมอ เรื่องสำคัญคือ การรวมกันจะมีประโยชน์อย่างไรในการให้คุณภาพบริการที่ดีขึ้นหรือไม่ในราคาที่เหมาะสมกับการใช้งานของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มเรื่องนี้เป็นประเด็นที่เป็นปัญหามาโดยตลอด

“เอไอเอส กำลังจะซื้อ 3BB เป็นแนวทางการถือครองตลาดในส่วนเน็ตบ้าน ซึ่งเป็นกระแสสำคัญในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เพราะคนเกือบทุกกลุ่มต้องเวิร์กฟรอมโฮม เด็กก็ต้องเรียนจากบ้าน เท่ากับว่า ผู้ประกอบการ 2  กลุ่มใหญ่ เตรียมแบ่งตลาดเป็น 2 ส่วน คือบริการมือถือและบริการเน็ตบ้าน โดยไม่ต้องแข่งขันกันเรื่องราคา ผู้บริโภคขาดทางเลือกมากขึ้น เรื่องการกำหนดราคาแพ็กเกจที่เหมาะสม ซึ่ง กสทช. ควรมีบทบาทสำคัญ ในการบรรเทาปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้ ที่มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยกว่า 700 บาท สิ่งสำคัญต่อมา คือ บริการที่เหมาะสมกับผู้บริโภค แต่ละกลุ่มในราคาที่เหมาะสมด้วย ผู้บริโภคทั่วไปไม่ควรจ่ายค่าบริการมือถือเกิน 200 บาท/ เดือน และเน็ตบ้านไม่ควรเกิน 500 บาท/เดือน”