เมื่อวันที่ 5 ก.ค. พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังการหารือประเด็นความปลอดภัยโดยรอบโรงเรียน ร่วมกับ นายวสันต์ บุญหมื่นไวย์ ผอ.เขตพระนคร นางสุภาณี ธรรมาธิคม ผอ.โรงเรียนสตรีวิทยา พ.ต.อ.ธราดล เหมพัฒน์ รักษาราชการ ผกก.สน.ชนะสงคราม ผู้แทนสำนักการจราจรและขนส่ง และผู้เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมอลิซาเบธ โรงเรียนสตรีวิทยา เขตพระนคร ว่า กทม. ได้มีการหารือเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยของเด็กนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีการยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้กับนักเรียนใน 3 โรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนหอวัง และโรงเรียนบดินทรเดชา ซึ่งถูกคุกคาม ข่มขู่ ละเมิด จี้ชิงทรัพย์ รวมถึงทำร้ายร่างกาย

ซึ่ง กทม.ได้มีมาตรการสั่งการไปในที่ประชุมคณะผู้บริหาร กทม. เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ 1. ตรวจสอบสภาพการใช้งานของกล้อง CCTV หากตรวจพบว่ามีสภาพชำรุด ภาพไม่ชัดเจน ให้เปลี่ยนกล้องให้มีความคมชัด มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบทิศทางของมุมกล้อง 2. ตรวจสอบไฟฟ้าส่องสว่าง 3. จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจอำนวยความสะดวกรอบบริเวณโรงเรียนในช่วงเช้าและช่วงเลิกเรียน โดยประสานงานตรวจตราร่วมกับสถานีตำรวจท้องที่ในการตรวจจุดเสี่ยง ตู้เขียว และตู้แดง

4.ให้เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ภายในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการช่วยดูแลด้านความปลอดภัย หูเป็นตา แจ้งข่าว และช่วยดูแลนักเรียน โดยขอความร่วมมือจากสถานีตำรวจจัดส่งวิทยากรมาให้ความรู้ อบรมเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดในการป้องกันตนเอง ดูแลช่วยเหลือผู้อื่น และประสานขอความช่วยเหลือในเบื้องต้น 5. เน้นย้ำการทำงานร่วมกันของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงเรียน สำนักงานเขต สถานีตำรวจในพื้นที่ และเครือข่ายผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองสามารถที่จะช่วยดูแลสอดส่องนักเรียนในสังกัดโรงเรียนที่ลูกหลานเรียนอยู่ได้ โดยแจ้งผ่านกลุ่มไลน์ผู้ปกครองและอาจารย์ ทั้งนี้ เพราะการปราบปรามที่ดีที่สุดคือการป้องกัน

นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีภาคเอกชนได้ทำเสา SOS ขึ้นมา และติดตั้งบริเวณหน้าวิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เขตราชเทวี ซึ่งเป็นเสาแบบ SMART POLE มีกล้อง CCTV 3 ตัว สามารถส่งสัญญาณภาพไปทางสถานีตำรวจ ตู้จราจร/ป้อมตำรวจ หรือห้องอาจารย์ฝ่ายปกครองได้ มีปุ่มสำหรับกดขอความช่วยเหลือ

โดยจะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ และผู้กดปุ่มสามารถคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านระบบอินเตอร์คอมได้ทันที และในขณะเดียวกันสัญญาณขอความช่วยเหลือจะถูกส่งไปถึงตู้จราจร/ป้อมตำรวจ และห้องอาจารย์ฝ่ายปกครอง ตามที่ได้ตั้งค่าไว้ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที ทั้งนี้ ทางเอกชนอยากจะทำเสา SOS ให้กับโรงเรียน และจะยกให้กทม.ดูแล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยหารือระเบียบวิธีการต่าง ๆ และสำรวจจุดที่จะติดตั้ง

สำหรับบริเวณรอบโรงเรียนสตรีวิทยา มีจุดที่ควรติดตั้ง 2 จุด คือ หัวมุมถนนดินสอตัดถนนพระสุเมรุ (แยกสะพานวันชาติ) และบริเวณใกล้ ๆ ป้ายรถเมล์ถนนราชดำเนิน (ฝั่งเดียวกับโรงเรียนสตรีวิทยา)

ส่วนเรื่องการเฝ้าระวังการนำกัญชาเข้ามาในสถานศึกษา กทม. ได้มีการเน้นย้ำการป้องกันไม่ให้มีการผสมในอาหาร เครื่องดื่ม หรือนำเข้ามาในโรงเรียนสังกัด กทม. รวมถึงตรวจตราไม่ให้มีการจำหน่ายในพื้นที่ที่มีเด็กและเยาวชน ส่วนโรงเรียนสังกัดอื่นนั้น ก็คงมีแนวทางปฏิบัติแตกต่างกัน โดยอาจจะใช้วิธีเหมือนปกติที่โรงเรียนตรวจตราการนำสิ่งต้องห้ามเข้าโรงเรียน เช่น การขอตรวจกระเป๋า เป็นต้น

กรณีผู้ประกอบการถนนข้าวสารอยากขอเป็น HUB กัญชานั้น เนื่องจากถนนข้าวสารเป็นจุดผ่อนผันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การจะขายสินค้าจะต้องผ่านคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ระดับเขต ซึ่งสถานประกอบการ 48 แห่งในพื้นที่ถนนข้าวสาร จะมีสินค้าจำหน่ายเพียง 4 ประเภท ได้แก่ 1. อาหาร 2. เครื่องดื่ม 3. เสื้อผ้า 4. เครื่องประดับ (รวมถึงการต่อผม) และยังไม่มีใครมาขออนุญาตหรือเปลี่ยนแปลงสินค้าที่จำหน่าย แต่หากมีคณะกรรมการฯ จะไม่พิจารณาอนุญาต เพราะถือเป็นสินค้าควบคุมไม่ปลอดภัย และเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะกับเด็กที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี และกฎหมายก็ห้ามไม่ให้มีการเสพหรือสูบกัญชาในที่สาธารณะ

อีกทั้งถนนข้าวสารยังอยู่ใกล้โรงเรียน 4 แห่ง คือ โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนวัดบวรนิเวศ โรงเรียนพิมานวิทย์ โรงเรียนวัดชนะสงคราม และศาสนสถาน 3 แห่ง คือ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร และมัสยิดบ้านตึกดิน การจะพิจารณาอนุญาตจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ จะต้องใช้ความถี่ถ้วน ระมัดระวังไปถึงเยาวชนและประชาชน เราควรมุ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและอัตลักษณ์ของพื้นที่ด้วย.