เมื่อวันที่ 7 ก.ค. นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้เป็นประธานประชุมปฏิบัติการบรรณาธิการ (ร่าง) แนวทางการจัดทำหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องและการบรรณาธิการแนวทางและหลักเกณฑ์ในการจัดทำรายวิชาเลือกของสถานศึกษาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของสำนักงาน กศน. โดยกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ซึ่งการจัดทำแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง และการพัฒนาแนวทางและหลักเกณฑ์ในการจัดทำรายวิชาเลือกของสถานศึกษาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยให้สถานศึกษาสามารถจัดทำและพัฒนาหลักสูตรให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพราะหลักสูตรที่ดี จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง ซึ่งการปรับปรุงและจัดทำแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาของสถานศึกษาขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางให้สถานศึกษาในสังกัด นำมาใช้เป็นกรอบในการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรให้มีมาตรฐานเดียวกัน และช่วยให้ผู้เรียนหรือกลุ่มเป้าหมายสามารถนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆให้ดีขึ้นต่อไป
รองเลขาธิการ กศน. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของการจัดการศึกษา ที่สำนักงาน กศน.ต้องเดินหน้าปรับและพัฒนาควบคู่กันไป เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในอนาคต ให้สอดรับกับเนื้อหาสาระ ทันกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการเมือง เพราะหลักสูตรเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มีรายละเอียดที่บ่งชี้ว่า ผู้เรียนควรฝึกฝนให้มีทักษะการเรียนรู้อะไร จะพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะและความรู้ความสามารถในลักษณะใด รวมทั้งยังเป็นกรอบในการกำหนดแนวทางเนื้อหาสาระ กิจกรรมและประสบการณ์การเรียนรู้รวมทั้งการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่มีความสอดคล้องกับปรัชญาและค่านิยมของสังคม สภาพปัญหาและความต้องการของสังคมและผู้เรียน หลักสูตรจึงเป็นเสมือนกับหางเสือและคู่มือชีวิตที่จะคอยกำหนดทิศทางให้การเรียนการสอนเป็นไปตามความมุ่งหมายของการศึกษา และเป็นเครื่องชี้ถึงความเจริญของชาติ เพราะถ้ามีหลักสูตรที่เหมาะสม ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ คนในประเทศนั้นก็ย่อมมีความรู้และศักยภาพในการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่
ด้าน นางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผอ.กลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการสำรวจและพิจารณา ตรวจสอบหลักสูตรรายวิชาเลือกของสถานศึกษาฯและหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ หลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย หลักสูตรด้านการพัฒนาอาชีพ ด้านการพัฒนาทักษะชีวิต ด้านการพัฒนาสังคมและชุมชน พบว่ามีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรายวิชาเลือกที่พัฒนาโดยสถานศึกษา ที่มีมากกว่า 27,000 รายวิชา และรายวิชาส่วนใหญ่ไม่มีความสอดคล้อง ไม่เป็นไปตามโครงสร้างหลักสูตรที่กำหนดไว้ รวมทั้งหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นไม่เป็นไปในทิศทางและแนวทางเดียวกัน เราจึงได้ให้ความสำคัญกับพัฒนาแนวทางการจัดทำหลักสูตรการจัดการศึกษาต่อเนื่อง และการพัฒนาแนวทางและหลักเกณฑ์รายวิชาเลือกของสถานศึกษาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานและอาชีพที่สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งบริบทของพื้นที่ โดยเมื่อจัดทำแนวทางและหลักสูตรแล้วเสร็จ สำนักงาน กศน.จะจัดให้มีการอบรมเพื่อพัฒนาครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องตามแผนการพัฒนา โดยมุ่งหวังให้สถานศึกษา ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องสามารถนำความรู้ แนวทางการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว ไปพัฒนาหลักสูตรและวิธีการจัดการศึกษาที่หลากหลายได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและทันสมัยในทิศทางเดียวกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพต่อไป