สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ว่าประชาชนจากทั่วทุกสารทิศยังคงเดินทางมายังสถานีรถไฟยามาโตะ-ไซไดจิ ในเมืองนารา ที่อยู่ทางตะวันตกของญี่ปุ่น เพื่อร่วมแสดงความไว้อาลัยให้กับการจากไปของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมหลังถูกลอบยิงสังหาร ระหว่างลงพื้นที่บริเวณนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รวมอายุได้ 67 ปี

ชาวญี่ปุ่นร่วมวางดอกไม้ เพื่อแสดงความอาลัยต่ออดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่สถานีรถไฟยามาโตะ-ไซไดจิ ในเมืองนารา


นางนัตสึมิ นิวะ แม่บ้านวัย 50 ปี ซึ่งเดินทางมาร่วมวางช่อดอกไม้พร้อมกับบุตรชายวัย 10 ปี กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ส ว่าเธอและครอบครัวยังคงตกตะลึงกับเรื่องที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเผยด้วยว่า เธอและสามีตั้งชื่อบุตรชายว่า “มาซาคุนิ” แปลว่า “ประเทศที่สวยงาม” โดยได้รับแรงบันดาลใจจากอดีตผู้นำญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ริ่เริ่มแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกกันจนติดปากทั่วโลกว่า “อาเบะโนมิกส์”


ขณะที่นายทัตสึยะ ฟุตามิ ชาวเมืองนารา วัย 49 ปี กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความสูญเสียและความน่าเสียดายครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่า ตอนนี้สุขภาพของอาเบะดีขึ้นมากแล้ว หลังลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2563 เพื่อไปรักษาตัว หลายฝ่ายหวังว่า อาเบะจะกลับมาลงสนามการเมืองอย่างเต็มตัว และกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

สมาชิกพรรคแอลดีพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลญี่ปุ่น โค้งคำนับระหว่างที่รถยนต์นำโลงบรรจุศพของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ กลับจากเมืองนารา มายังบ้านในกรุงโตเกียว


ด้านสื่อท้องถิ่นของญี่ปุ่นรายงานว่า พิธีศพของอาเบะจะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 12 ก.ค. นี้ โดยจะมีเฉพาะครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดเท่านั้น และยังไม่มีแผนการเกี่ยวกับการเปิดให้สาธารณชนได้ร่วมแสดงความไว้อาลัย ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่มีความเห็นเพิ่มเติมอย่างเป็นทางการ


อนึ่ง สำนักตำรวจจังหวัดนารายืนยันว่า นายเทตสึยะ ยามากามิ วัย 41 ปี ลงมือเพียงลำพัง โดยใช้อาวุธปืนประดิษฐ์เอง มีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร และยังพบปืนทำเองอีกหลายกระบอกที่บ้านพักของผู้ต้องหา ซึ่งให้การในเบื้องต้น เกี่ยวกับความเชื่อว่า อดีตผู้นำญี่ปุ่นมีความเกี่ยวข้องกับ “องค์กรแห่งหนึ่ง” ซึ่งมารดาของยามากามิ มีความเชื่อถืออย่างมาก จนบริจาคเงินให้เป็นจำนวนมาก ทำให้ครอบครัวประสบปัญหาทางการเงินในที่สุด


ปัจจุบัน ยามากามิเป็นผู้ว่างงาน แต่เคยมีประวัติเป็นทหารเรือให้กับกองกำลังป้องกันตนเอง (เอสดีเอฟ) เป็นเวลา 3 ปี จนถึงปี 2548.

เครดิตภาพ : REUTERS