เมื่อวันที่ 10 ก.ค. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค. จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม”

…Long COVID ในออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียได้เผยแพร่ข้อมูล คาดประมาณว่า ขณะนี้ออสเตรเลียประสบปัญหาผู้ป่วย Long COVID สูงถึง 400,000 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะทุพพลภาพ กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และเรียกร้องให้รัฐบาลเตรียมแผนรับมือปัญหา Long COVID อย่างจริงจัง ทั้งเรื่องระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ดูแลรักษา ฟื้นฟูสภาพ รวมถึงระบบสนับสนุนทางสังคมและสวัสดิการต่างๆ

สถิติจาก Worldometer จะพบว่าปัจจุบันประเทศออสเตรเลีย มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมราว 8.45 ล้านคน และแต่ละวันขณะนี้มีผู้ติดเชื้อใหม่ราว 37,000 คน…ตัวเลขสถานการณ์ของไทยนั้น แม้ในระบบรายงานจะมีจำนวนติดเชื้อสะสมที่ 4.54 ล้านคน แต่เป็นตัวเลขที่รายงานเฉพาะ RT-PCR โดยไม่ได้รวมจำนวนคนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อจาก ATK เลย ดังนั้นหากรวม ATK ตั้งแต่ที่มีรายงานเมื่อ 31 กรกฎาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน ตัวเลขสะสมจะเกือบ 7 ล้านคน เฉพาะที่รายงาน ATK ในระบบ (ซึ่งในช่วงหลังที่ผ่านมา เราทราบจากข่าวกันชัดเจนว่า ตัวเลขที่รายงาน ATK นั้นน้อยกว่าความเป็นจริง)

จึงเป็นไปได้สูงว่า สถานการณ์ประเทศไทยนั้นมีจำนวนคนติดเชื้อไปแล้วอาจสูงเทียบเท่ากับออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ อาร์เจนตินา หรือญี่ปุ่น และ สิ่งที่ควรตระหนักคือ ปัญหา Long COVID ที่จะเกิดขึ้น และส่งผลบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อทั้งตัวผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศในระยะยาว

รัฐจึงควรขันนอตมาตรการควบคุมป้องกันโรค สร้างความตระหนักถึงสถานการณ์จริง ด้วยการนำเสนอข้อมูลจริงอย่างละเอียด เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้อันตรายและความเสี่ยงที่แท้จริงในสภาพสังคมปัจจุบัน ที่สถานการณ์การระบาดกระจายไปทั่ว และมีการติดเชื้อจริงในแต่ละวันสูงมาก

ที่เป็นห่วงคือ การนำเสนอข้อมูลที่ต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก รวมถึงการตัดสินใจนโยบายโดยอาศัยกราฟข้อมูลที่ไม่เป็นจริง ย่อมส่งผลกระทบมากมายตามมา ทั้งนี้กลไกสนับสนุนต่างๆ ทางการรักษาพยาบาล รวมถึงการเงินและบริการทางสังคมนั้นลดน้อยถอยลงกว่าช่วงก่อนๆ เพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณ หากมีปัญหาผู้ป่วย Long COVID จำนวนมากเกิดขึ้น ระบบที่จะรองรับ ติดตาม ดูแล รักษา ฟื้นฟูสภาพ ทั้งด้านสุขภาพและสังคม อาจไม่สามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจะตกอยู่ในสภาพเตี้ยอุ้มค่อม สู้ศึกทั้งหน้าและหลังไปพร้อมกัน โอกาสที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากที่จะเกิดขึ้น

“ดังนั้นการนำเสนอภาพจริง กระตุ้นเตือนให้เน้นการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด จึงจำเป็นอย่างยิ่ง…ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก…”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Thira Woratanarat