เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการนมและผลิตภัณฑ์หลายราย ได้เตรียมปรับขึ้นราคาขายสินค้าแล้ว หลังคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ได้เห็นชอบให้ขึ้นราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบปี 65 อีก กก. ละ 2.25 บาท จาก กก. 17.50 บาท มาเป็น 19.75 บาท ตามต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มขึ้น แต่รัฐจะจ่ายชดเชยให้ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบกก.ละ 0.75 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ส่งผลให้ผู้ประกอบการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรเพิ่มที่ กก.ละ 1.50 บาท

ทั้งนี้ ทางด้านผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมรายหนึ่ง ระบุว่าหากเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบ กก.ละ 2.25 บาท ผู้ประกอบการอาจต้องขึ้นราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์นมอีก 5 บาท เช่น นมสด ขนาด 200 ซีซี ขวดละ 13 บาท ก็อาจขึ้นเป็น 18 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินไปและผู้บริโภครับไม่ได้แน่นอน แต่ยังดีที่ภาครัฐยอมชดเชยให้กก. 0.75 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้ คาดว่าจะปรับขึ้นราคาสินค้าเกี่ยวกับนามเพียง 2 บาทเท่านั้น เช่น ขวดละ 13 บาท จะขึ้นเป็น 15 บาท

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นราคานมและผลิตภัณฑ์ ยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะต้องรอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำมติที่ประชุมมิลค์บอร์ด เสนอให้ ครม.เห็นชอบก่อน จากนั้นกระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน จึงจะพิจารณาเพราะ นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว เป็นสินค้าควบคุม หากจะปรับราคาต้องได้รับอนุญาตก่อน

ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้ กรมอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนของสินค้าหลายรายการ ที่ผู้ประกอบการทำเรื่องขอปรับขึ้นราคาเข้ามาทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมและผลิตภัณฑ์ อาหารกระป๋อง ฯลฯ ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ โดยหากสินค้าใด ผู้ประกอบการสามารถรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ก็ขอให้ช่วยตรึงราคาไว้ก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน แต่หากไม่สามารถรับภาระไหวแล้ว ก็จะอนุญาตให้ปรับขึ้นแต่จะขอให้ขึ้นราคาให้น้อยที่สุด เพราะถ้าไม่ให้ขึ้นเลย ผู้ประกอบการอาจไม่ผลิตสินค้า และเกิดปัญหาขาดแคลนตามมาได้

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้บริหารห้างค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมากลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์นม รวมไปถึงสินค้าที่ใช้นมเป็นวัตถุดิบมีการปรับขึ้นราคาไปแล้ว 10% แต่เป็นการปรับขึ้นในราคาขายส่ง เช่น จากเดิมส่งอยู่ที่ 89 บาทต่อแพ็ค ปรับเป็น 97 บาทต่อแพ็ค จากนั้นเมื่อร้านโชห่วยรับไปขายต่อก็จะยิ่งได้กำไรน้อยลง จนร้านโชห่วยเองต้องขายเกินกว่าราคาที่กำหนด รวมทั้งปรับราคาโดยตัดของแถมของ เช่น จากเดิมซื้อ 10 แถม 5 ก็ลดเหลือซื้อ 10 แถม 1 แทน ฉะนั้น หากหลังจากนี้มีการปรับขึ้นราคารับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรก็เชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นราคาสินค้าดังกล่าวอีกครั้งแน่นอน